วันที่สี่ (ตอนที่ 2) 25th JASPOC ทำความรู้จักกับตำรวจฟิลิปปินส์และสิงคโปร์



     7 October 2015 The 4th day of the 25th Joint ASEAN Senior Police Officers Course (JASPOC) part 2
     Presentations of Philippine police and Singapore police
     ใครอยากรู้ว่าตำรวจฟิลิปปินส์ ตำรวจสิงคโปร์ เป็นอย่างไร โปรดกด “Continue Reading...” ครับ

     ก่อนเล่าถึงตำรวจสองประเทศ เจ้าภาพอินโดจัดบรรยายเรื่องป้องกันปราบปรามการฟอกเงิน (Anti-money laundering)  เป็นการคั่นรายการโดย Fithriadi Muslim ตำแหน่ง Deputy Director of Legal Affairs PPATK บรรยายถึงประวัติความเป็นมาของระบบการป้องกันปราบปรามการฟอกเงินในอินโดนีเซีย ตั้งแต่ปี 1989 ซึ่งเริ่มเห็นความสำคัญของการต่อต้านการฟอกเงิน จนกระทั่งการตั้งหน่วยงานขึ้นมารับผิดชอบโดยเฉพาะ ปัจจุบันเป็นหน่วยงานที่ขึ้นตรงกับประธานาธิบดี มีมาตรการต่างๆ ที่ดำเนินการ เช่น การตรวจสอบการเปิดบัญชีธนาคาร การวิเคราะห์ข้อมูลทางการเงิน เป็นต้น โดยคณะกรรมการฟอกเงินนี้จะมีหน้าที่หลักในการบริหารจัดการข้อมูล การติดตามตรวจสอบและวิเคราะห์ มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารกับหน่วยงานอื่นๆ เช่น ศุลกากร รวมทั้งการประสานงานระหว่างประเทศ

     ตำรวจฟิลิปปินส์
     การนำเสนอรายงานประเทศฟิลิปปินส์ นำเสนอโดย Psupt. Roberto R. Odiver, Jr. ซึ่งพวกเราเรียกเขาว่ามิสเตอร์ปาเกียว เนื่องจากเป็นคนชาติเดียวกับนักมวยชื่อดังและหน้าก็คล้ายกันอีกด้วย power point หน้าแรกของเค้าที่เรียกเสียงฮาทั้งห้อง ก็คือรูปแมนนี่ ปาเกียว นักมวยชื่อดังอันกลายเป็นสัญลักษณ์ของประเทศ 

     ฟิลิปปินส์ มีภาษาหลัก 2 ภาษา คือภาษาตากาล็อก และภาษาอังกฤษ และเอกลักษณ์ของคนฟิลิปปินส์อีกประการหนึ่งในความเห็นของผมคือพูดเร็วมาก จนผมจับใจความได้น้อยมากเมื่อเทียบกับคนชาติอื่น
     ปัจจุบันฟิลิปปินส์ มีประชากรประมาณ 100 ล้านคน พื้นที่ประกอบไปด้วยเกาะจำนวน 7,107 เกาะ มีพื้นที่เกาะหลัก 3 แห่ง คือ Luzon, Visayasและ Mindanao
     ตำรวจแห่งชาติฟิลิปปินส์ (The Philippine National Police - PNP) สถาปนาขึ้นตาม Republic Act (RA) 6975 และแก้ไขเพิ่มเติมโดยRAs 8551 และ 9708 ตำรวจแห่งชาติฟิลิปปินส์ อยู่ภายใต้กระทรวงมหาดไทยและรัฐบาลท้องถิ่น (Department of the Interior and Local Government) และบริหารงานโดยตรงและควบคุมโดยคณะกรรมการตำรวจแห่งชาติ (National Police Commission)
     คดีอาญาที่สำคัญในฟิลิปปินส์ ได้แก่ การก่อการร้ายจากกลุ่มอาบูซายาบ ยาเสพติด การจับตัวประกันเรียกค่าไถ่ อาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ และการค้ามนุษย์


     ตำรวจสิงคโปร์
     ตัวแทนตำรวจสิงคโปร์ ที่นำเสนอ คือ Superintendent Abdul Rani Abdul Sani ตำรวจสิงคโปร์เชื้อชาติมาเลย์ ซึ่งผมไม่ค่อยเจอคนสิงคโปร์เชื้อชาติมาเลย์บ่อยนัก อาจเป็นเพราะเป็นคนส่วนน้อยเมื่อเทียบกับคนจีน

     สิงคโปร์มีพื้นที่ 716.1 ตารางกิโลเมตร (ประมาณครึ่งหนึ่งของพื้นที่กรุงเทพ) ประชากร 5,469,700 คน (ประมาณครึ่งหนึ่งของประชากรในกรุงเทพ ตามทะเบียนราษฎร์) รายได้ต่อหัวประชากร (Per Capita GDP) 69,050 เหรียญสิงคโปร์ อยากทราบว่าประชากรในประเทศที่รวยที่สุดในอาเซียน มีรายได้เท่าไร ลองเอา 25 คูณเข้าไป ได้ประมาณ 1,726,250 บาท/ปี หรือเป็นรายเดือนก็ประมาณ “143,854” บาท แค่นั้นเอง!!! ครับ
     ตั้งแต่ปี 2006 สิงคโปร์มีอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรอย่างต่อเนื่อง ประชากรสิงคโปร์ เป็นคนจีน ประมาณ 74.2 % คนมาเลย์ 13.3 % คนอินเดีย 9.1 % อื่นๆ 3.3 % ประชากรสิงคโปร์ที่มีอายุเกินกว่า 65 ปี 👱🏻มีประมาณถึง 17.1 % ที่พักอาศัยของคนสิงคโปร์ แบ่งเป็นสองประเภท คือ บ้านพักการเคหะ (Public Housing) และบ้านพักส่วนตัว (Private Housing)
     กองกำลังตำรวจสิงคโปร์ (Singapore Police Force) อยู่ภายใต้กระทรวงมหาดไทย (Ministry of Home Affairs) ซึ่งมีหน่วยงานอื่นๆ อยู่ในกระทรวงมหาดไทย ได้แก่ กรมความมั่นคงภายใน (Internal Security Dept.) กองกำลังป้องกันตนเองฝ่ายพลเรือน (Singapore Civil Defence Force) หน่วยงานเรือนจำ (Singapore Prison Service) ตรวจคนเข้าเมืองและด่านผ่านแดน (Immigration & Checkpoints Authority) หน่วยยาเสพติดกลาง (Central Narcotics Bureau) สถาบันฝึกอบรม (Home team Academy) องค์การควบคุมคาสิโน (Casino Regulatory Authority) และ Singapore Corporation of Rehabilitative Enterprises)
     ภารกิจหลักของกองกำลังตำรวจสิงคโปร์ คือ การป้องกัน (Prevent) การป้องปราม (deter) และการสืบสวนจับกุมอาชญากรรม (detect)

     ความหมายภารกิจของตำรวจสิงคโปร์เรื่องการป้องกัน อาจจะต่างกับของตำรวจไทยเล็กน้อย การป้องกันอาชญากรรมของตำรวจไทย เราจะรวมถึงการตรวจตราโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจและอาจรวมถึงงานด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน งานชุมชนและมวลชนสัมพันธ์ด้วย แต่การป้องกันของตำรวจสิงคโปร์ เค้ามีความหมายลึกไปมากกว่านั้น คือ เป็นการป้องกันที่สาเหตุของการเกิดอาชญากรรม เช่น การจัดสภาพแวดล้อมเพื่อไม่เสี่ยงต่อการเกิดเหตุ การให้ความรู้แก่ประชาชนเพื่อป้องกันตนเอง การร่วมมือกับสถานประกอบการธุรกิจ เพื่อป้องกันตนเองจากอาชญากรรม เป็นต้น ส่วนการใช้กำลังออกตรวจตราป้องกันเหตุ คือกการป้องปราม (deter) ในความหมายของตำรวจสิงคโปร์ครับ
     สิงคโปร์ กำหนดวิสัยทัศน์ไว้ คือ ทำให้สิงคโปร์เป็นสถานที่ที่ปลอดภัยที่สุดในโลก !
     อัตราส่วนตำรวจต่อประชากร ของสิงคโปร์ คือ 1: 601 หรือตำรวจ 166 คน ต่อประชากรแสนคน ซึ่งเป็นอัตราส่วนตำรวจที่ต้องรับผิดชอบมากกว่าฮ่องกง โตเกียว เมืองนิวยอร์ค และลอนดอน รวมทั้งไทยแลนด์ ที่เราบอกว่าเราขาดแคลนเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่อัตราส่วนตำรวจ ต่อประชากรของตำรวจไทย คือ ประมาณ 1 ต่อ 300 คน (รวมตำรวจทุกประเภท)

     จำนวนตำรวจในสิงคโปร์ รวม 15,284 นาย แบ่งออกเป็น 4 ประเภท ดังนี้
          1. เจ้าหน้าที่ตำรวจ (police officers) 7,376 นาย
          2. เจ้าหน้าที่ตำรวจอาวุโส (Senior Officers) 1,726 นาย
          3. พลเรือน (Civilian) 1,559 นาย
          4. เจ้าหน้าที่บริการแห่งชาติ (Full-time National Service Officers) 4,623 นาย ประเภทสุดท้ายนี้แหละครับ เป็นกำลังพลภาคบังคับ ซึ่งชายสิงคโปร์ทุกนายเมื่ออายุครบ 18 ปี จะต้องเข้ารับการฝึกอบรมและไปปฏิบัติหน้าที่ในกองทัพ หรือเป็นตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่พลเรือน รับราชการประมาณ 2 ปี
นอกจากนี้ยังมีกำลังพลส่วนเสริมอีก คือ
          1. พลตำรวจพิเศษอาสาสมัคร (Volunteer Special Constables 748 นาย
          2. กำลังพลสำรอง (Police National Servicemen (Reservist) 26,210 นาย

          ระบบตำแหน่งของตำรวจสิงคโปร์ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ
-กลุ่มเจ้าหน้าที่ตำรวจ (Police Officer Ranks)
         1. Senior Station
         2. Inspector 2
         3. Senior Station
         4. Inspector
         5. Station Inspector
         6. Senior Staff Sergeant
         7. Staff Sergeant
         8. Sergeant
         9. Corporal
       10. Constable
-กลุ่มเจ้าหน้าที่ตำรวจอาวุโส (Senior Officer Ranks)
        1. Commissioner
        2. Deputy Commissioner
        3. Senior Assistant Commissioner
        4. Assistant Commissioner
        5. Deputy Assistant Commissioner
        6. Superintendent 1A
        7. Superintendent 1
        8. Deputy Superintendent 2
        9. Deputy Superintendent 1
      10. Assistant Superintendent 2
      11. Assistant Superintendent 1
      12. Inspector 2
      13. Inspector
     สถานภาพอาชญากรรมในสิงคโปร์ ในปี 2014 มีคดีรับแจ้ง 32,196 คดี โดยภาพรวมของอาชญากรรมเพิ่มขึ้น 7.4 % เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2013 สัดส่วนอัตราคดีอาญา 582 คดีต่อประชากร 100,000 คน
     สิงคโปร์เป็นประเทศอันดับที่ 2 ในด้านความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัย และในด้านกระบวนการยุติธรรมที่มีประสิทธิภาพ และเป็นลำดับที่ 3 ในด้านความเชื่อมั่นของการให้บริการของตำรวจ ใน World Economic Forum Global Competitiveness Report 2013-2014

     ผมลองไปค้นรายงานฉบับนี้ของปี 2014-2015 ด้านความเชื่อมั่นของการให้บริการของตำรวจ สิงคโปร์ตกลงไปอยู่ลำดับที่ 4 อันดับ 1.ฟินแลนด์ 2. นิวซีแลนด์ 3. กาตาร์ และชิลี (คะแนนเท่ากัน) 4.สวิสเซอร์แลนด์ ฮ่องกง UAE และสิงคโปร์ มีคะแนนเท่ากัน...
     อยากทราบหรือป่าวครับ ว่าไทยแลนด์ อยู่อันดับเท่าไรในรายงานฉบับนี้ ... ถึงไม่อยากรู้แต่ผมอยากจะบอกว่า ไทยแลนด์เราอยู่อับดับ 133 จากทั้งหมด 144 ประเทศ ครับ แม่เจ้า!!! ในอาเซียนชนะแค่กัมพูชา กับเมียนมาร์ ครับ ประเทศในอาเซียนที่รองจากสิงคโปร์ คือ มาเลเซีย อันดับ 35 ครับ
🎯ยุทธศาสตร์ที่กองกำลังตำรวจสิงคโปร์ กำหนดไว้ มี 6 ด้าน ได้แก่
           1.ยกระดับการวางแผนและการพัฒนาขีดความสามารถ
           2.ยกระดับขีดความสามารถในการปฏิบัติการ ได้แก่ การป้องกันปราบปรามอาชญากรรมองค์กร ต่อต้านการฟอกเงิน การเปลี่ยนเครื่องมือให้ทันสมัย
           3.สร้างความเชื่อมั่นและหุ้นส่วน เช่น ระบบการตำรวจชุมชน การให้บริการในท้องถิ่น เป็นต้น
           4.ใช้ทรัพยากรให้เหมาะสมและปรับปรุงกระบวนการให้มีประสิทธิภาพ
           5.ยกระดับเทคโนโลยี เช่น การกระจายกล้อง CCTV ในพื้นที่สาธารณะ กล้องติดตัวเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในรถยนต์ กล้องบังคับใช้กฎจราจร โครงสร้างพื้นที่และการสนับสนุน เช่น ในสถานีตำรวจ การรายงานทางออนไลน์ เป็นต้น
           6.สร้างความเข้มแข็งการพัฒนาองค์กรและการบริหารจัดการ

     😭ผมฟังข้อมูลของตำรวจสิงคโปร์ และเคยไปสัมมนาเรื่อง Community Policing ที่นั่นมาแล้ว รู้สึกใจแป้วเล็กน้อย 😧โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อลองมาเช็คอันดับของความเชื่อมั่นต่อการบริการตำรวจของไทย ในรายงานของ World Economic Forum ก็เลยขอจบตอนนี้ไว้แค่นี้ก่อน ขอไปทำใจก่อนครับ คราวหน้าค่อยมาทำความรู้จักกับ SAENAPOL และการนำเสนอรายงานของไทยแลนด์และเวียดนาม ครับ😰

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เรียนรู้เรื่องราวตำรวจญี่ปุ่นกันครับ

การทำงานของตำรวจยุคดิจิทัล ด้วยเทคโนโลยียุคใหม่

ตำรวจเยอรมัน