รับน้องตำรวจใหม่ไทย กับการสรรหาและคัดเลือกตำรวจเยอรมัน

          รับน้องตำรวจใหม่ ฮิตเลอร์ โมฮ็อก !! : รับน้องตำรวจใหม่ไทย กับการสรรหาและคัดเลือกตำรวจเยอรมัน” (เกี่ยวกันอย่างไร? โปรดติดตามครับ)

     รับน้องตำรวจใหม่ของไทย


 
  ช่วงนี้ FB ของโรงพักและตำรวจหลายหน่วย มีกิจกรรมต้อนรับน้องๆ นักเรียนนายสิบ (นสต.) ที่จบการศึกษาและมารายงานตัวปฏิบัติหน้าที่เป็นครั้งแรก ด้วยวิธีการที่หลากหลายกันครับ
     มีทั้งแนวโหด มันส์ และมีฮาเล็กน้อย ที่ สภ.กะรน จง.ภูเก็ต เนื่องจากขณะที่กำลังจวกน้องๆ ให้ดันพื้น อยู่ที่ริมชายหาด มีแหม่มใส่บิกินี มาดันพื้นแข็งด้วย จนเป็นที่ฮือฮา ในโลก social media

โหดหนักขึ้นไปอีกกับการรับน้อง เช่น  สภ.คง โคราช สภ.ดำเนินสะดวก จว.ราชบุรี และ สภ.สัตหีบ  จว.ชลบุรี ที่มีกิจกรรมปรับพื้นฐาน ฝึกความอดทน ทั้งดันพื้น แบกโลก เกลือกกลิ้งตามพื้นถนน


     ที่มาแนว soft soft แบบเป็นทางการขึ้นหน่อย ก็มีของ สภ.บางตาเถร จว.สุพรรณบุรี สภ.ประชาสำราญ ของท่านผู้กำกับสมิง จัดการประชุมชี้นโยบาย และมอบข้อราชการให้แก่ข้าราชการตำรวจใหม่

ส่วนแนวสร้างขวัญและกำลังใจด้วยสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของท้องถิ่น ก็มีนะครับ เช่น สภ. ฮอด จว.เชียงใหม่ สภ.ภูพิงค์ จว.เชียงใหม่ สักการะครูบาศรีวิชัยเพื่อความเป็นสิริมงคล

ส่วนการรับน้องที่น่าสนใจสำหรับผม คือ สภ.เมืองสมุทรสงคราม ท่าน ผกก.ทวี เพื่อนผมเองครับ พ.ต.อ.ทวี พรมมาลี รับน้องโดยนำตำรวจใหม่ไปแนะนำในตลาดแม่กลอง และอบรม ปลูกฝังอุดมการณ์ให้ตำรวจใหม่  และ สภ.ฉิมพลี จว.ฉะเชิงเทรา ของพี่ยะครับ  พ.ต.อ.ชาติพรรณ์ ศรีอภิรมย์ รับน้องโดยนำสิบตำรวจตรี ตำรวจใหม่เยี่ยมพบปะชุมชน ในตำบลดอนฉิมพลี  ชมวิธีการกวน ซูรองานบุญของชาวมุสลิม และร่วมรับประทานซูรอ ในชุมชน

ทำไมผมจึงสนใจการรับน้องของหลายโรงพัก ดังกล่าวและโดยเฉพาะอย่างยิ่ง 2 โรงพักหลังครับ ?

การปฐมนิเทศ หรือการแนะนำบุคลากรใหม่ขององค์กร ที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า orientation เป็นสิ่งที่คนที่เข้ามาทำงานในองค์กร จะจดจำยันเกษียณครับ นึกถึงตัวเองที่ยังจำภาพวันแรกที่ไปรายงานตัวกับท่าน พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เมื่อเดือน ก.พ.2534 ได้อย่างดี เพราะฉะนั้นการปฐมนิเทศน้องใหม่ จึงเป็นเรื่องสำคัญครับ ผู้นำตำรวจหลายท่านให้ความสนใจ และลงมารับน้องใหม่ด้วยตนเอง แต่ก็น่าเสียดาย ที่หลายท่านก็ไม่ให้ความสำคัญ ท่านนึกดูนะครับ เมื่อเราเปลี่ยนสถานะจากนาย มาเป็นสิบตำรวจตรี มาปฏิบัติหน้าที่วันแรก หากไม่มีใครสนใจ แนะนำสิ่งที่ต้องปฏิบัติ ความประทับใจครั้งแรกต่อองค์กร  หรือ first impression หรือทัศนคติที่ดีต่อองค์กรจะเกิดขึ้นได้อย่างไรครับ
     การรับน้องใหม่ด้วยการจวกหรือซ่อม อาจเป็นวิธีการหนึ่งที่ทำให้น้องๆ ตำรวจใหม่ มีความ “...อดทนต่อความเจ็บใจ ไม่หวั่นไหวต่อความยากลำบาก...หรือหล่อให้เกิดความรักความสามัคคีด้วยกัน ตามอุดมคติตำรวจในข้อดังกล่าว  แต่ที่ผมสนใจวิธีการของ สภ.เมืองสมุทรสงคราม และ สภ.ฉิมพลี ด้วยการพาน้องใหม่ไปพบปะชาวบ้านและชุมชน น่าจะทำให้ตำรวจใหม่เข้าถึงอุดมคติตำรวจในข้อแรกที่ว่า เคารพเอื้อเฟื้อต่อหน้าที่ กรุณาปราณีต่อประชาชน...ได้ดีด้วยเช่นกันครับ
     สังคมในอดีตหรือความชุกชุมของโจรผู้ร้ายที่ต้องการตำรวจที่เข้มแข็งดุดันในการต่อสู้ปราบปราม คุณสมบัติในด้านความแข็งแกร่งอดทน ความสามัคคีอาจเป็นสิ่งจำเป็นลำดับแรก แต่สังคมที่ตำรวจต้องทำงานใกล้ชิดกับประชาชนมากขึ้นในยุคข้อมูลข่าวสาร การพบปะกับประชาชนก็เป็นเรื่องจำเป็นเช่นเดียวกัน
    
     แล้วการรับน้องตำรวจใหม่ไปเกี่ยวอะไรกับฮิตเลอร์? ตามที่ผมตั้งชื่อเรื่องหล่ะครับ

ฮิตเลอร์กับการปฏิรูปตำรวจเยอรมนี

เกี่ยวซิครับ เพราะเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2558 ผมได้รับมอบหมายให้เป็นตัวแทนสำนักงานกำลังพล  พร้อมด้วย พล.ต.ต.นิทัศน์ ลิ้มศิริพันธ์ รอง ผบช.สกพ. และ พ.ต.อ.วิบูลย์ สีสุข รอง ผบก.ทพ. ในขณะนั้น และเป็น รรท.ผบก.อต. เจ้านายคนใหม่ของผมในขณะนี้ครับ  ร่วมเป็นคณะให้การต้อนรับตำรวจเยอรมัน คือ Mr. Wolfgang Sommer ตำแหน่งผู้บัญชาการศึกษา สำนักงานตำรวจเมืองแบมเบิร์ก สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และ Mr. Gerd Enkling ซึ่งเดินทางมาพร้อมด้วย Mr. Karl Peter Schoenfisch ผู้อำนวยการมูลนิธิฮันส์ไซเดล
     มูลนิธิฮันส์ไซเดล เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ที่เคยให้ทุนนำคณะนายตำรวจไทยไปร่วมประชุมและดูงานตำรวจในเยอรมันนี ในช่วงก่อนหน้านี้ มีท่าน พล.ต.อ.วรพงษ์ ชิวปรีชา อดีต รอง ผบ.ตร. และเจ้านายผม พล.ต.ท.ดร.ปิยะ อุทาโย ผบช.สง.ก.ตร. ในขณะที่เป็น รอง ผบช.สกพ. ก็ได้เดินทางไปดูงานที่เยอรมนี ด้วยครับ
     วัตถุประสงค์ของคณะตำรวจเยอรมันในการเดินทางมาประเทศไทยครั้งนี้ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์เกี่ยวกับการทำงานตำรวจและการสรรหาคัดเลือกบุคลากรตำรวจ ตำรวจเยอรมนี เล่าเรื่องให้พวกเราฟังเป็นภาษาเยอรมัน โดยมีล่ามสาวสวยช่วยแปลให้เราฟังว่า
     สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี แบ่งการปกครองออกเป็น 16 รัฐ (16 federal states) แต่ละรัฐรับผิดชอบงานตำรวจของตนเอง มีตำรวจส่วนกลางของประเทศ แต่มีอำนาจจำกัดมาก ครับ  เฉพาะในรัฐบาวาเรียน (Bavarian) ของคณะตำรวจที่มาครั้งนี้ มีเจ้าหน้าที่ตำรวจประมาณ 34,000 นาย เป็นเจ้าหน้าที่หญิงประมาณ 20 % เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบประมาณ 27,000 นาย นอกจากนั้นเป็นเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานสืบสวน และมีเจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายบริหาร (administrative) รวมกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายอำนวยการ รวมประมาณ 7,000 นาย

การเปลี่ยนแปลงของตำรวจเยอรมนี เกิดขึ้นเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคม และเมื่อย้อนกลับไปยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 สมัยฮิตเลอร์ ยังมีอำนาจ ตำรวจถูกใช้เป็นเครื่องมือในการควบคุมสังคม เป็นตำรวจที่ปฏิบัติงานสนองต่ออำนาจทางการเมือง ตำรวจเยอรมันในอดีตเป็นที่เกลียดชังของประชาชนมาก การปฏิรูปตำรวจในหลังสมัยฮิตเลอร์ มีการยกเลิกหน่วยตำรวจลับ (Secret Police) ที่เป็นเครื่องมือของฝ่ายการเมือง ถ่ายกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจในระบบเดิมออกไปและรับบุคคลเข้าเป็นตำรวจใหม่จำนวนมาก
     ในยุคต่อมาปี 1968 มีการประท้วงของนักศึกษา มีการใช้กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจจำนวนมาก ตำรวจถูกวิพากษ์วิจารณ์จากสังคม ทุกคนอยากต่อต้านตำรวจ ทำร้ายตำรวจเนื่องจากประชาชนมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อตำรวจ ในขณะเดียวกันตำรวจก็ทำร้ายทุบตีประชาชนเช่นกัน
     ปัญหาใหม่ของตำรวจเยอรมนี คือ ผู้อพยพเข้าเมือง ซึ่งมีจำนวนมากขึ้น ทำให้มีชนส่วนน้อยเพิ่มมากขึ้น การปฏิบัติงานของตำรวจในช่วงเวลาดังกล่าว ส่งผลให้ประชาชนไม่เชื่อถือเจ้าหน้าที่รัฐ ประชาชนต้องการสิทธิในการพูด การมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเรื่องต่างๆ ปัญหาดังกล่าวรวมทั้งกระแสโลกาภิวัตน์ ทำให้ตำรวจต้องปรับตัวต่อสิ่งท้ายทายใหม่ การปรับตัวได้แก่ การมีตัวแทนพูดคุยกับกลุ่มต่างๆ ตลอดเวลา มีการติดต่อสื่อสารกับประชาชน เปิดเผยข้อมูลว่าตำรวจกำลังทำอะไรให้ประชาชนรับทราบ การปฏิบัติงานอย่างโปร่งใส เน้นการป้องกันอาชญากรรม และต้องมีการปรับเปลี่ยนการให้การศึกษาจากรูปแบบกึ่งทหาร (paramilitary to civil police education)
     การฝึกอบรมของตำรวจเยอรมนี มีลักษณะความเป็นทหารน้อยลง การปฏิบัติงานของตำรวจได้เพิ่มความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่ตำรวจแต่ละคนให้มีความรับผิดชอบมากขึ้น เพราะตำรวจระดับปฏิบัติการเป็นผู้ที่ติดต่อกับประชาชนโดยตรง และจะต้องเป็นผู้ที่แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ความรับผิดชอบดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ ต้องพัฒนาทักษะความสามารถของเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับปฏิบัติการ เช่น ทักษะการติดต่อสื่อสารกับประชาชน
     สังคมคาดหวังอะไรจากตำรวจ ตำรวจเป็นอาชีพที่สังคมและประชาชนมีความคาดหวังมาก และยังมีความคาดหวังจากฝ่ายการเมืองอีกด้วย สิ่งที่ประชาชนคาดหวังจากตำรวจ เช่น ตำรวจต้องมีความยุติธรรม มีความเป็นกลาง ปกป้องคนกลุ่มน้อยของสังคม คนอ่อนแอ ตำรวจต้องพูดคุยกับประชาชน ปกป้องประชาชนที่ถูกละเมิดสิทธิ ตำรวจต้องเข้าไปช่วยในสถานการณ์ที่ลำบาก การทำหน้าที่ไม่ใช่ดำเนินคดีอย่างเดียว แต่ทำอย่างไรไม่ให้เหตุเกิด

การพัฒนาเจ้าหน้าที่ตำรวจ จะทำอย่างไรให้การฝึกอบรมตอบสนองความคาดหวังดังกล่าวได้
     ตำรวจของรัฐบาวาเรียน เยอรมนี จึงมีการเปลี่ยนแปลงการศึกษาอบรมจากลักษณะกึ่งทหาร (paramilitary) เป็นลักษณะการให้การศึกษาแบบตำรวจ (civil police education) โดยการฝึกอบรมจะมีจุดมุ่งหมายให้เจ้าหน้าที่ตำรวจมีสมรรถนะที่สำคัญ 3 ด้าน  คือ
     1.ความสามารถในการปฏิบัติงาน (Field competence) ได้แก่ ความรู้ด้านกฎหมาย สมรรถนะนี้เป็นสมรรถนะพื้นที่ของตำรวจทั่วไป
     2.ความสามารถในการปฏิบัติเมื่อเผชิญสถานการณ์ (Acting-competence) ได้แก่ การฝึกในเชิงการปฏิบัติหน้าที่ (Practical Training)
     ตรงนี้น่าสนใจมากครับ เป็นการฝึกให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถปฏิบัติงานเมื่อเผชิญกับสถานการณ์ต่างๆ เป็นการพัฒนาทักษะด้านต่างๆ ที่ผมเห็นว่าตำรวจไทย เรายังไม่มีการสอนในเรื่องนี้ เช่น ทักษะการติดต่อสื่อสาร (communication skills) ชาวบ้านไม่สนใจว่าจะทำผิดกฎหมายมาตราอะไร แต่จะรับรู้ทันทีว่าตำรวจทำรุนแรง ไม่สุภาพ ตำรวจจำเป็นต้องมีทักษะการสื่อสาร การรับมือกับความเครียด รับมือกับความขัดแย้ง การเผชิญหน้ากับสื่อมวลชน เป็นต้น  การฝึกในลักษณะนี้ ตำรวจเยอรมนี จะมีการประเมินการปฏิบัติตลอดเวลา

3. บุคลิกลักษณะ สมรรถนะส่วนบุคคลและการเข้ากับสังคม (Social and Personal Competence)เป็นการพัฒนาบุคลิกภาคส่วนบุคคล (Personality Development)

การเปลี่ยนแปลงการพัฒนาบุคลากรของตำรวจบาวาเรียน ทำให้เป็นตำรวจที่ได้รับความไว้วางใจมาก ความไว้วางใจต้องทำและสร้างใหม่ทุกวัน ตำรวจทุกคนเป็นตัวแทนของหน่วยงาน ทุกๆ คน

การปฏิบัติงานของตำรวจบางครั้ง แม้ว่าเราทำถูกต้องตามกฎหมาย ก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นการปฏิบัติที่เหมาะสมถูกต้อง คุณ Sommer ยกตัวอย่างภาพหญิงสาวคนหนึ่งถูกจับมาที่สถานีตำรวจ และมีร่องรอยฟกช้ำที่ใบหน้าหลายแห่ง ข้อเท็จจริงคือ หญิงคนนี้เมายาเสพติด และทำร้ายตนเองบนสถานีตำรวจ เหตุการณ์นี้ไม่ใช่การกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็เป็นภาพที่ไม่ดีต่อหน่วยงานตำรวจ และหญิงคนดังกล่าวก็อยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ จึงต้องมีการวิเคราะห์ประเมินเพื่อแก้ไขต่อไป

การทำงานของตำรวจ เราอยู่กับภาพ ดังนั้น จึงต้องเผยแพร่ภาพในเชิงบวกของตำรวจออกไปให้มากที่สุด โดยอาศัยสื่อต่างๆ รวมทั้ง Social media

กระบวนการสรรหาและคัดเลือกตำรวจเยอรมัน
     Mr. Gerd Enkling ได้บรรยายถึงการสรรหาและคัดเลือกบุคลากรของตำรวจในรัฐบาวาเรียน ให้พวกเราฟังว่าในแต่ละปี ตำรวจบาวาเรียน ต้องการตำรวจใหม่ เป็นเจ้าหน้าที่สายตรวจ ประมาณ 1,000 – 1,200 นาย การที่จะได้ตำรวจใหม่ในจำนวนดังกล่าวที่มีคุณภาพดี ก็จะต้องทำให้เด็กและเยาวชนเยอรมนี สนใจอาชีพตำรวจให้มากที่สุด เพราะเมื่อคนจำนวนมากสนใจ ก็จะทำให้มีคนดีๆ เก่งๆ มาสมัครจำนวนมาก หากคนสนใจน้อย สมัครน้อย เราก็จะมีตัวเลือกได้น้อยนั่นเอง
     เมื่อรัฐบาวาเรียน ต้องการตำรวจใหม่ 1,000-1,200 นาย เป้าหมายของเขา คือ ต้องการให้มีคนสมัคร เพื่อคัดเลือกในอัตราส่วน 7 ต่อ 1 ดังนั้น จึงต้องการให้มีคนสมัครประมาณ 6,000- 7,000 คน การที่จะทำให้คนดี มีความรู้ความสามารถ มาสมัครในจำนวนมากๆ ก็จะต้องทำให้มีเด็กและเยาวชนที่เก่งๆ สนใจในอาชีพตำรวจให้มากที่สุด อย่างน้อยก็ประมาณ 50,000 คน
     การสรรหาบุคคลที่จะมาเป็นตำรวจ คุณ Enkling บอกว่าต้อง “สร้างการตลาดกับอาชีพตำรวจ การทำการตลาดกับอาชีพตำรวจ ก็คือ ทำอย่างไรให้อาชีพตำรวจเป็นที่นิยมของเด็กในเยอรมัน เยาวชนหรือคนที่จบการศึกษาใหม่ๆ ต้องการเลือกอาชีพที่มีหน้ามีตาในสังคม ดังนั้น ต้องสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับอาชีพตำรวจ เพื่อดึงดูดให้คนดีๆ อยากมาเป็นตำรวจ นอกเหนือจากการทำให้เห็นว่าสิ่งที่จะได้จากอาชีพตำรวจ เช่น เงินเดือน สวัสดิการ ความมั่นคงในอาชีพ เป็นต้น

ผมฟังถึงตรงนี้ กลับมาคิดถึงภาพลักษณ์และความต้องการเป็นตำรวจของเด็กและเยาวชนไทย ในสังคมไทยยุคนี้ ผมไม่แน่ใจว่าอาชีพตำรวจ ยังเป็นอาชีพที่มีหน้ามีตาสังคมหรือไม่ เป็นอาชีพที่เด็กและเยาวชนยังอยากเป็นหรือไม่  แม้ว่าในช่วงวันเด็กแต่ละปี เมื่อมีการทำ Poll ครั้งใด ตำรวจ ก็ยังเป็นอาชีพที่เด็กและเยาวชนต้องมาเป็นในลำดับต้นอยู่ ก็ตาม แต่สำหรับภาพพจน์ ภาพลักษณ์ในสังคมโดยรวม ตำรวจยังเป็นที่นับหน้าถือตาหรือไม่? เพื่อนๆ ที่ไม่ได้เป็นตำรวจอาจช่วยผมตอบคำถามนี้หน่อยนะครับ
     เมื่อตำรวจเปิดสอบครั้งใด ผู้คนก็แห่แหนมาสมัครเรือนหมื่น เรือนแสน ทั้งที่รับสมัครแค่หลักร้อย หลักพันตำแหน่ง เท่านั้น ดูสัดส่วนแล้ว ตำรวจเยอรมันเทียบกับเราไม่ได้แน่นอนครับ จึงมีพี่น้องตำรวจเราหลายคน บอกว่า ไหนว่าเกลียดตำรวจกันนัก แต่เปิดสอบที่ไร มาสมัครเป็นแสน...
     แต่... แต่... ผมกลับมีคำถามต่อไปว่า จำนวนคนที่มาสมัครเป็นหมื่นเป็นแสนดังกล่าว เป็นคนที่สนใจ ตั้งใจจริงต่ออาชีพตำรวจจริงหรือไม่? เป็นคนที่ตั้งใจมาเป็นตำรวจเพื่อรับใช้ประชาชนหรือเป็นคนที่ตั้งใจมาแสวงหาผลประโยชน์? เป็นคนที่มีคุณภาพ คุณลักษณะเหมาะสมกับอาชีพตำรวจหรือไม่?  คงเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องหาคำตอบนะครับ
     กลับมาดูที่กระบวนการคัดเลือกของตำรวจบาวาเรียนกันต่อครับ ผมว่าเป็นกระบวนการที่ตรงใจผมมาก แต่ตำรวจไทยหลายคน คงคิดว่าตำรวจไทยเราทำอย่างนั้นไม่ได้ ด้วยเหตุผล บราๆๆๆๆ...แต่ถ้าเราไม่คิดจะปรับปรุงเปลี่ยนแปลง ผมก็คิดว่าคุณภาพตำรวจไทย ก็คงไม่สามารถเปลี่ยนได้เช่นกันครับ
     การสรรหาตำรวจเยอรมัน
     กระบวนการสรรหาของเขาเริ่มตั้งแต่ การตั้งคำถามว่า อาชีพตำรวจเป็นอาชีพที่รู้จักกันดีในหมู่เยาวชนแล้วหรือยัง? มีการโฆษณาหรือเผยแพร่ข้อมูลหรือไม่?  เป็นอาชีพที่มีชื่อเสียงดีหรือไม่? ภาพลักษณ์ตำรวจเป็นอย่างไร? ความเชื่อมั่นมีหรือไม่ เป็นอาชีพที่น่าสนใจขนาดไหน? ค่าตอบแทน ความมั่นคงในอาชีพเป็นอย่างไร? พูดกันง่ายๆ จะทำอย่างไรให้เด็กและเยาวชนเห็นความดีของอาชีพตำรวจและสิ่งที่จะได้รับจากอาชีพตำรวจ
     ตำรวจบาวาเรียน สร้างภาพลักษณ์และทำให้เด็กและเยาวชนมีความรู้สึกดีกับอาชีพตำรวจด้วยการรุกเข้าไปในกลุ่มเด็กและเยาวชน โดยการจัดนิทรรศการให้ข้อมูลเกี่ยวกับงานอาชีพตำรวจ (Job and Information Exhibition) เหมือนจัดงาน event ในบ้านเรานะครับ การเข้าไปในนำเสนอในโรงเรียนระดับประถม มัธยม ติดต่อสื่อสารกับนักเรียนในโรงเรียน ให้นักเรียนนักศึกษามาฝึกงานในหน่วยงานตำรวจ การเผยแพร่ข่าวสารในอินเตอร์เน็ต เป็นต้น

การรับสมัครตำรวจเยอรมัน
     เงื่อนไขการรับสมัครบุคคลเพื่อรับการคัดเลือกเป็นตำรวจบาวาเรียน มีการกำหนดคุณสมบัติคล้ายบ้านเรา เช่น ต้องเป็นพลเมืองของเยอรมนี สูง 165 ซม. ขึ้นไป อายุระหว่าง 17-25 ปี มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ไม่ประวัติทำผิดกฎหมาย ไม่มีปัญหาทางด้านการเงิน การศึกษาอย่างน้อยระดับมัธยมศึกษา
     ตำรวจเยอรมัน ไม่ได้เน้นที่คุณวุฒิการศึกษา ไม่ต้องการคนจบปริญญาตรีเช่นเดียวกับตำรวจไทย และในอีกหลายประเทศ แต่เน้นการคัดเลือกคนที่มีคุณสมบัติ บุคลิกภาพ เหมาะสมมากกว่า ครับ
     ขั้นตอนการคัดเลือกมีหลายขั้นตอน ได้แก่
      - ผู้สมัครจะต้องเข้าพบกับที่ปรึกษาด้านการสรรหา (recruitment consultant) เป็นขั้นตอนสำคัญ ที่จะมีตำรวจเยอรมัน ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้ผู้สมัครเข้าพบ เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับงานในหน้าที่ตำรวจแก่ผู้สมัคร รวมทั้งข้อมูลเกี่ยวกับการสมัคร การทดสอบ ในขณะเดียวกันที่ปรึกษาก็จะเป็นผู้ที่ประเมินผู้สมัครในเบื้องต้นด้วย

      - การยื่นใบสมัคร
      - การตรวจสอบและยืนยันการรับสมัคร
      - การสอบข้อเขียนและการตรวจร่างกาย
      - ประกาศผลการทดสอบ ผ่านหรือไม่ผ่าน
      - การให้การปรึกษาในขั้นสุดท้าย
     การทดสอบเน้นเป็นการทดสอบ QE ประกอบด้วย
      - การทดสอบด้านภาษา เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจมีความจำเป็นต้องใช้ภาษาในการสื่อสารกับประชาชน มีการทดสอบในด้านการเขียนสะกดคำ ไวยากรณ์ การพูด
      - การทดสอบความสามารถพื้นฐาน เช่น การคิดเชิงตรรกะ การทดสอบความจำ
      - การทำงานเป็นกลุ่ม เป็นการทดสอบการแสดงบทบาทของผู้สมัครขณะทำงานร่วมกัน
      - ทดสอบด้านกีฬา เช่น sit-up กระโดดข้ามรั้ว วิ่งกลับไปกลับมา วิ่งทางไกล ว่ายน้ำ 100 เมตร เป็นต้น การทดสอบทางร่างกายนี้ ใช้หลักวิทยาศาสตร์การกีฬา เพื่อหาสมรรถนะที่เหมาะสม ไม่ใช่เอาความอึดอย่างเดียวนะครับ ศักยภาพบางอย่างอาจมาพัฒนาภายหลังได้ เช่น ความสัมพันธ์ของร่างกาย (coordination) ความคล่องแคล้วในการเคลื่อนไหว  แต่ศักยภาพบางอย่างฝึกได้ยาก เช่น ความอดทนของร่างกาย ซึ่งสามารถทดสอบได้ด้วยการวิ่ง 12 นาที คนที่ไม่ผ่าน แสดงว่าพัฒนาภายหลังยากมาก อาจจะต้องตกไปครับ

หลังจากการสอบข้อเขียนและทดสอบร่างกายแล้ว ก็จะเป็นการสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้าง (Structured interview) เป็นการดูเรื่องความสามารถในการเข้ากับสังคม แรงจูงใจ (motivation) ในการเข้ามาเป็นตำรวจ เป็นต้น และการตรวจร่างกาย

เมื่อผ่านทุกขั้นตอนแล้ว จึงเข้ารับการฝึกอบรมต่อไป

เห็นมั๊ยครับ การรับตำรวจใหม่ กับฮิตเลอร์เกี่ยวข้องกันก็เพราะ จากบทเรียนของตำรวจเยอรมันในอดีต ยุคฮิตเลอร์ ตำรวจเป็นที่เกลียดชังจากประชาชน เพราะฮิตเลอร์ใช้ตำรวจเป็นเครื่องมือทางการเมือง และกระทำต่อผู้ต่อต้าน ตำรวจเยอรมัน ได้ปฏิรูปเปลี่ยนแปลงตำรวจให้กลับมาเป็นที่ยอมรับของสังคม และประชาชนเชื่อมั่นศรัทธา ด้วยการสร้างตำรวจพันธุ์ใหม่ ที่ลดลักษณะความเป็นทหารลงไป ปรับระบบการสรรหาและคัดเลือกตำรวจ เพื่อให้ได้ตำรวจที่มีลักษณะที่เหมาะสมกับความคาดหวังของประชาชน เพิ่มอำนาจให้แก่ตำรวจระดับปฏิบัติงานในการแก้ไขปัญหา เน้นการพัฒนาสมรรถนะการทำงานที่เหมาะสมกับงานตำรวจ เช่น ทักษะการติดต่อสื่อสาร การแก้ไขปัญหาจัดการความขัดแย้งของประชาชน ความอดทนต่อสภาวะกดดั้น (Stress tolerance) ความมั่นคงทางอารมณ์ (Emotional stability) สมรรถนะในทางวิชาชีพ (Professional competence)

เกี่ยวกันก็เพราะเราลองกลับมาถึงคิดระบบการสรรหา คัดเลือก และฝึกอบรม รวมทั้งการนิเทศหรือรับน้องตำรวจใหม่ของบ้านเราครับ เราน่าจะต้องกลับมาคิดหรือไม่ว่า สิ่งที่ตำรวจสายตรวจในบ้านเราจะต้องเผชิญอยู่ทุกวันคืออะไร นอกเหนือจากความตรากตรำในการทำหน้าที่ของตำรวจไทย ที่พี่น้องตำรวจทุกเข้าใจและพูดกันอยู่เสมอ แต่อีกมุมหนึ่ง ผมว่าสิ่งที่ตำรวจสายตรวจ หรือจราจร หรือสายสืบในโรงพัก ต้องเจออยู่ทุกวัน และเป็นความคาดหวังของประชาชน ที่ต้องการให้เราแก้ไขปัญหา ...เน้นที่ประชาชนต้องการนะครับ ไม่ใช่เจ้านายต้องการ...คืออะไร
     ชาวบ้านต้องการว่า เมื่อข้างบ้านเปิดเพลงเสียงดัง ผัวเมียทะเลาะกัน คนเมาอาละวาด  สายตรวจจะไปแก้ไขปัญหาให้เขาได้ทันที ตำรวจจะไปพูดคุยกับชาวบ้านในชุมชนอย่างไร แก้ไขปัญหาให้ชาวบ้านได้อย่างไร รถซิ่งเสียดัง และสารพันปัญหาชาวบ้านอีกมากมาย ปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันทุกวัน
     เหตุคดีอุกฉกรรจ์อาจจะเป็นเหตุที่กระทบต่อความรู้สึกหวาดกลัวภัยของประชาชน แต่เหตุอุกฉกรรจ์ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยครั้งเมื่อเปรียบเทียบกับเหตุขี้หมู่ราขี้หมาแห้ง นะครับ และเหตุอุกฉกรรจ์ที่เกิด ผมว่าชาวบ้านก็ไม่ได้ตำหนิตำรวจเท่าไร เพราะก็จะมีผู้หลักผู้ใหญ่ให้ความสำคัญและลงไปช่วยดูในเหตุดังกล่าวจำนวนมาก แต่เหตุเล็กน้อยๆ ที่ตำรวจชั้นผู้น้อยต้องเผชิญเนี่ยแหละครับ ที่ชาวบ้านคาดหวังให้ตำรวจไปแก้ไขปัญหาให้จำนวนมาก หากลูกน้องเราไปพูดไม่ดีกับชาวบ้าน ไปปฏิบัติอย่างไม่เหมาะสม จะเป็นสาเหตุที่ประชาชนจำนวนมากตำหนิติเตียนและด่าตำรวจ มากกว่านะครับ

เพราะฉะนั้น ผมก็เลยสนใจการรับน้องของ สภ.เมืองสมุทรสงคราม และ สภ.ฉิมพลี ที่ให้น้องใหม่ไปรู้จักชาวบ้าน เข้าไปพูดคุยกับชาวบ้าน ครับ

สุดท้าย โมฮ็อก เกี่ยวอะไรกับตำรวจใหม่ครับ
     เราได้ยินคำว่าผมทรง โมฮ็อกกันมานาน แต่เคยสงสัยหรือไม่ว่า โมฮ็อกคือใครครับ ก่อนอื่นผมต้องขอบคุณเพื่อน OSK 106 สงกรานต์ วิบุลผลประเสริฐ ที่เข้ามาเมนต์รูปภาพผมใน FB ของ อต. เพราะเห็นภาพตำรวจใหม่ของ กองบังคับการตำรวจสันติบาล 3 กำลังยืนเข้าแถวเคารพธงชาติ และตำรวจใหม่ ตัดผมทรงโมฮ็อก เพื่อนสงกรานต์ให้ความรู้ผมว่าทรงโมฮ็อก เป็นทรงผมของนักรบชนเผ่า Mohawk ซึ่งเป็นชนเผ่าหนึ่งในห้าของการรวมตัวของ 5 ชนเผ่าที่เรียกว่า The Five Nations of Iroquois ชนเผ่าดังกล่าวได้แก่ Mohawk, Onondaga, Oneida, Cayuga, Seneca และเพิ่มเติมเป็นชาติที่ 6 ในเวลาต่อมา คือ Tuscarora

ชนเผ่าเหล่านี้ อาศัยอยู่ในทวีปอเมริกา แบบที่เราเห็นในหนังอินเดียนแดง นะครับ อยู่อาศัยในพื้นที่ก่อนที่พวกผิวเขาจะอพยพมาจากทวีปยุโรปแล้วมาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ประเทศสหรัฐอเมริกาในปัจจุบัน  เพื่อนสงกรานต์ ฝากให้ช่วยบอกน้องๆ ตำรวจใหม่ซึ่งตัดผมทรงโมฮ็อกว่า อย่าทำตัวให้เสื่อมเกียรติก็แล้วกัน
 
     สิ่งที่ผมอยากเห็นความเปลี่ยนแปลงของตำรวจไทย (ไม่รู้ว่าจะเรียกว่าเป็นการปฏิรูปแบบที่หลายคนเค้าอยากปฏิรูปหรือไม่เปล่าก็ไม่แน่ใจครับ) ก็คือ การเปลี่ยนแปลงการสรรหาและรับสมัครตำรวจ รวมทั้งแนวทางการพัฒนาตำรวจแบบตำรวจเยอรมนี ซึ่งเน้นทำให้ตำรวจสามารถทำงานติดต่อกับประชาชนได้อย่างเหมาะสม ทำได้ตามความคาดหวังของประชาชนและสังคม   และตำรวจที่ไม่ทำตัวให้เสื่อมเกียรติครับ

ปล.ขอขอบคุณภาพจาก FB ฝ่ายอำนวยการ กองอัตรากำลัง และคณะนายตำรวจจากเยอรมนี Mr. Wolfgang Sommer ผู้บัญชาการศึกษา สำนักงานตำรวจเมืองแบมเบิร์ก สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และคณะ / 

ความคิดเห็น

  1. จากนักบริหารนักปกครอง มาเป็นนักเขียน และนักประพันธ์เรื่องราวต่างๆ ให้ผู้อื่นได้รับรู้ นับเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ สร้างคุณูปการอย่างหนึ่ง ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา เรียนรู้ และเข้าใจในเรื่องราวต่างๆ ที่ผ่านมา...
    เป็นกำลังใจให้นะครับ พยายามต่อไปครับ เขียนบล็อกได้ดีมากครับ

    ตอบลบ
  2. จากนักบริหารนักปกครอง มาเป็นนักเขียน และนักประพันธ์เรื่องราวต่างๆ ให้ผู้อื่นได้รับรู้ นับเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ สร้างคุณูปการอย่างหนึ่ง ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา เรียนรู้ และเข้าใจในเรื่องราวต่างๆ ที่ผ่านมา...
    เป็นกำลังใจให้นะครับ พยายามต่อไปครับ เขียนบล็อกได้ดีมากครับ

    ตอบลบ
  3. ตำรวจต้องเข้าใจประชาชน
    เพื่อไปสู่การยึดมั่นในผลประโยชน์ของส่วนรวม
    แต่อย่าเด็ดขาดที่จะไป "กลมกลืน" กับประชาชน
    ถ้าไม่เข้าใจ
    ก็ขอให้ทำความเข้าใจกับพรหมวิหาร ๔ ในข้อ "อุเบกขา" ดู

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ขอบคุณสำหรับความคิดเห็นครับ โดยเฉพาะอย่างย่ิง "อย่าเด็ดขาดที่จะไปกลมกลืนกับประชาชน" เห็นด้วยเพราะตำรวจเป็นผู้บังคับใช้กฎหมายที่ต้องมีความเป็นกลาง ครับ

      ลบ

แสดงความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เรียนรู้เรื่องราวตำรวจญี่ปุ่นกันครับ

การทำงานของตำรวจยุคดิจิทัล ด้วยเทคโนโลยียุคใหม่

ตำรวจเยอรมัน