“พี่น้องตำรวจที่อยากเป็นสารวัตร ต้องเตรียมตัวอย่างไร”

            ได้รับโอกาสให้มาถ่ายทอดประสบการณ์ให้แก่ ผู้เข้ารับการอบรมหลักสูตรสารวัตร (สว.) รุ่นที่ 153-4 ที่วิทยาลัยการตำรวจ กองบัญชาการศึกษา ในหัวข้อ “การบริหารงานตำรวจระดับสารวัตร”

หลักสูตร สว.ทั้งสองรุ่นนี้ พิเศษกว่ารุ่นที่ผ่านมา เพราะนอกจากจะมีภาคีเครือข่ายจากส่วนราชการต่างๆ เช่น  สำนักรักษาความปลอดภัย สภาผู้แทนราษฎร กรมปศุสัตว์ กรมราชทัณฑ์ กรมป่าไม้ สำนักเลขานุการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สำนักงานเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ปปส.) เป็นต้น เข้ามาร่วมอบรมกับข้าราชการตำรวจเช่นเดียวกับหลักสูตรผู้กำกับการ (ผกก.) และหลักสูตรการบริหารงานตำรวจชั้นสูง (บตส.) แล้ว ยังมีข้าราชการตำรวจจากประเทศเพื่อนบ้านใน ASEAN มาร่วมอบรมด้วย คือ เมียนมาร์ และฟิลิปปินส์ สำหรับเพื่อนตำรวจจากเมียนมาร์ จบการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ (ไทย) เป็น นรต.รุ่น 68 ไม่มีปัญหาการเรียนเพราะฟังและพูดภาษาไทยได้ชัดเจนกว่าคนไทยบางคนอีกครับ แต่เพื่อนตำรวจจากฟิลิปปินส์ 2 คน เป็นตำรวจชายอยู่ในรุ่น สว.154  และตำรวจหญิงอยู่ในรุ่น สว.153 ต้องมีบัดดี้ช่วยในการแปล เพราะหลักสูตรเรายังสอนเป็นภาษาไทย ครับ
 

          สิ่งนี้แหละครับที่เป็นแนวทางสำหรับการบริหารงานตำรวจสมัยใหม่ เพราะการทำงานแก้ไขปัญหาต่างๆ ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นงานในหน้าที่ของตำรวจ หรือส่วนราชการอื่นๆ ไม่มีหน่วยงานใดจะเป็นพระเอกสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้เพียงลำพัง แต่เราจำเป็นต้องทำงานโดยมีเครือข่ายที่จะต้องประสานงาน ทำงานร่วมกัน จึงถือเป็นโอกาสดีสำหรับผู้เข้ารับการอบรมหลักสูตร สว.รุ่นที่ 153 และ 154 ที่ได้มีโอกาสทำความรู้จักกับเพื่อนภาคีเครือข่ายจากส่วนราชการต่างๆ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เราต้องร่วมงานกัน

          เนื้อหาทางวิชาการที่จะต้องบรรยายให้ผู้เข้ารับการอบรมฟังก็ส่วนหนึ่ง ซึ่งเมื่อบรรยายไปแล้ว มั่นใจได้ว่าจะอยู่ในความทรงจำของผู้เข้ารับการอบรมได้เพียงระดับหนึ่ง (ก็ระดับหนึ่ง จากหลายๆ ระดับแหละครับ 55) ผมจึงบอกกับผู้เข้ารับการอบรมทุกท่านว่า อยากให้ทุกท่านใช้เวลาระหว่างการอบรมหลักสูตร สว.ประมาณ 10 สัปดาห์ ซึ่งทุกท่านได้ตัดขาดจากภาระงานในหน้าที่ มาทบทวนสิ่งที่ตัวเองได้ทำงานมาอย่างยาวนาน ท่านได้ทำสิ่งใดไป พึงพอใจกับงานที่ทำไปหรือไม่ ได้ทำงานที่ถนัดหรือไม่ ยังมีสิ่งใดที่ยังทำได้ไม่ดี  และวางแผนกับการทำงานในช่วงเวลาการรับราชการที่ยังเหลืออยู่ จะดีหรือไม่ครับ ?

          เริ่มต้นเนื้อหาด้วยการเล่าให้ผู้เข้ารับการอบรมฟังว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้เคยให้หน่วยงานภายนอกทำวิจัย ตามโครงการศึกษาแนวทางการพัฒนาระบบการบริหารทรัพยากรบุคคล ส่วนหนึ่งของการเก็บรวมรวมข้อมูลจากการแจกแบบสอบถามข้าราชการตำรวจทั่วประเทศ คณะผู้วิจัยได้ตั้งคำถามซึ่งผมขอนำมาเล่าให้ฟัง 2 คำถาม คือ  คำถามแรก ปัจจัยที่ทำให้ผู้ตอบแบบสำรวจปฏิบัติงานอย่างมีความสุข เกิดความมุ่งมั่นในการทำงาน มากที่สุด คืออะไร ผลการตอบคำถามในข้อนี้ ข้าราชการตำรวจทั้งชั้นประทวนและชั้นสัญญาบัตร ให้คำตอบที่สอดคล้องกัน ตามลำดับ คือ ๑) ค่าตอบแทน สวัสดิการ และ ๒) ผู้นำ

          คำถามที่สอง ปัจจัยที่ทำให้ผู้ตอบแบบสำรวจปฏิบัติงานด้วยความยากลำบาก หรือเกิดความทุกข์ ฯ มากที่สุด คืออะไร ผลการตอบคำถามในข้อนี้ เช่นเดียวกันครับ ทั้งตำรวจชั้นสัญญาบัตรและชั้นประทวน ตอบคล้ายกัน อันดับ 1 คือ ผู้นำ แต่ลำดับ 2 แตกต่างกันเล็กน้อย โดยชั้นประทวนตอบว่า ค่าตอบแทนและสวัสดิการ ส่วนชั้นสัญญาบัตรตอบว่า การแต่งตั้งโยกย้ายและการเติบโต

          สรุปได้ว่า ทั้งข้าราชการตำรวจชั้นประทวน และสัญญาบัตร ล้วนแต่ต้องการผู้นำที่ดี และผู้นำที่ไม่ดี จะทำให้การทำงานของแต่ละคน อยู่ในความยากลำบาก มากเสียกว่าการที่ไม่ได้รับค่าตอบแทนที่ดีเสียอีก ใช่หรือไม่ครับ? เพราะฉะนั้น เมื่อลูกน้องเราต้องการผู้นำที่ดี เราก็ต้องการผู้นำที่ดี แต่สิ่งที่พวกเราจะทำได้ คงไม่ใช่การไปเปลี่ยนแปลงผู้นำของเรา ที่เราคิดว่าไม่ดี สิ่งที่ผู้เข้ารับการอบรมจะทำได้ คือ ทำตัวเองให้เป็นผู้นำที่ดี และถ้านึกไม่ออกว่าจะเป็นผู้นำที่ดีอย่างไร ก็ให้ดูเจ้านายของแต่ละคน ท่านคิดว่าท่านไม่ชอบสิ่งไหนที่ผู้บังคับบัญชาทำต่อท่าน ท่านก็อย่าไปทำอย่างนั้นกับลูกน้อง ท่านคิดว่าชอบสิ่งไหนที่ผู้บังคับบัญชาท่านใดทำให้ท่าน ท่านก็ทำสิ่งนั้นกับลูกน้อง ผมว่าน่าจะแค่นี้นะครับ

          สำหรับหลักการในการบริหารงานตำรวจระดับสารวัตร พวกเราก็ล่ำเรียนทฤษฎีวิชาการบริหารงาน มามากมาย แต่ผมได้ลองทบทวนประสบการณ์แล้วสรุปหลักการให้น้องๆ พี่ๆ หลักสูตร สารวัตร ไว้ 5 ข้อครับ (55 ข้อสอบก็อยู่ใน 5 ข้อนี้แหละครับ)

          1. การบริหารข้อมูลข่าวสาร

          หลักการบริหารงานที่สำคัญของผู้บริหารทุกระดับ เท่าที่เห็นมาในทุกตำรา ประการแรกคือผู้บริหารต้องรอบรู้ข้อมูลข่าวสารรอบองค์กร ที่เกี่ยวข้องหรือกระทบกับองค์กร สำหรับงานในหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ของรัฐจากส่วนราชการอื่นๆ มีจุดร่วมประการหนึ่ง คือเมื่อเราเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐเช่นเดียวกัน เราจึงมีลูกค้าผู้รับบริการเช่นเดียวกัน คือ ประชาชน

          ตัวอย่างของข้อมูลข่าวสารประการแรก คือ ลูกค้าของเรามีหน้าตาเป็นอย่างไร ผมหมายถึงคุณลักษณะนะครับ พี่น้องตำรวจที่ทำงานในโรงพัก เคยวิเคราะห์กลุ่มลูกค้าที่อยู่ในท้องที่หรือไม่ ? ว่ามีลักษณะเป็นอย่างไร? ในช่วง 3-4 ปี ที่ผ่านมา มีความเปลี่ยนแปลงอย่างไร หรือไม่ ?

          ข้อมูลจากนักประชากรศาสตร์ที่วิเคราะห์และทำนายแนวโน้มด้านประชากรของไทย ปรากฏตัวเลขใน 2556 อายุเฉลี่ยประชากรไทย  เพศชาย 71.1 ปี และหญิง 78.1 ปี (ทำไม!! ผู้หญิงอายุยืนว่าผู้ชายถึง 7 ปี!!! ใครทราบช่วยบอกด้วยครับ) และอย่างที่ทราบกันว่าในโลกยุคปัจจุบันที่มีความเจริญก้าวหน้าทางการแพทย์ และค่านิยมทางสังคมที่ต้องการมีลูกน้อยๆ ส่งผลให้อัตราการเสียชีวิตน้อยลง และอัตราการเกิดก็น้อยลงไปด้วย สังคมไทย ก็กำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ปี พ.ศ.2563 มีการทำนายกันว่าพวกเราจะเป็น สว. มิใช่สารวัตรครับ  แต่เป็นสังคมผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์ (Aged Society) คือ ประชากรที่อายุมากกว่า 60 ปี จะมีจำนวนเกินกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด

          การเป็นสังคม สว. เกี่ยวอะไรกับตำรวจ หล่ะครับ ?? ก็เพราะหน้าที่ของพวกเราคือการป้องกันปราบปรามอาชญากรรม บุคคลประเภทหนึ่งที่ตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรมได้ง่าย ก็คือ ผู้สูงวัย ตัวอย่างในประเทศใกล้บ้านเราอย่างสิงคโปร์ ซึ่งกำลังเข้าสู่สังคม สว. เช่นเดียวกัน หนุ่มสาวออกไปทำงานนอกบ้านในเวลากลางวัน มีผู้สูงวัยพักอาศัยอยู่ในอาคารสูงที่เป็นแฟลตเพียงลำพัง และมักตกเป็นเหยื่อของอาชญากรในช่วงเวลากลางวัน จนตำรวจสิงคโปร์ต้องร่วมกับอาสาสมัคร จัดโครงการเข้าไปตรวจเยี่ยมแหล่งที่พักอาศัยที่มีคนสูงวัยพักอาศัยในเวลากลางวันให้มากขึ้น

          นอกจากนี้ ขณะที่ลูกค้าของพวกเราเป็นผู้สูงวัย พวกเราเหล่าตำรวจไทย ก็กลายเป็นองค์กรของผู้สูงวัยเช่นเดียวกัน ปัจจุบันอายุเฉลี่ยของข้าราชการตำรวจหน่วยปฏิบัติ สูงถึง 45 ปี ก็เพราะเมื่อสังคมกลายเป็นสังคมผู้สูงวัย ทำให้เราขาดแคลนแรงงานวัยหนุ่ม คนที่สอบเข้าเป็นตำรวจใหม่ อายุเฉลี่ยก็มากขึ้น นักเรียนนายสิบที่จบการศึกษามาบรรจุเป็นตำรวจใหม่ มิใช่เด็กหนุ่มอายุ 19-20 ปี อีกต่อไป ปัญหานี้ ย่อมทำให้กระทบต่อการปฏิบัติงานของตำรวจ ซึ่งมิใช่อาชีพที่นั่งทำงานใน office แต่ต้องออกตรวจตราตามพื้นที่ เข้าเวรเขายาม วิ่งไล่คนร้าย ครับ

          ตัวอย่างข้อมูลข่าวสารอีกประการหนึ่ง คือ อาชญากรรม พี่ๆ น้องๆ ตำรวจในโรงพัก ผมว่าแต่ละท่านคงจะมีการวิเคราะห์ถึงลักษณะอาชญากรรมในพื้นที่รับผิดชอบของท่านอยู่ในเป็นประจำแล้ว เพื่อเตรียมรับมือกับอาชญากรรมที่อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบไป  สำหรับอาชญากรรมในภาพรวมของไทย มีลักษณะคล้ายคลึงกับประเทศอื่นๆ ที่มีสัดส่วนคดีเกี่ยวกับทรัพย์เกิดขึ้นมากที่สุด และหากเป็นสังคมที่เศรษฐกิจเจริญเติบโต นอกจากจะมีคดีลัก วิ่ง ชิง ปล้น ที่สร้างความเดือดร้อนกับชาวบ้านโดยทั่วไปแล้ว ยังมีคดียักยอกฉ้อโกง คดีฉ้อโกงบัตรเครดิต แกงค์สกิ่มมิ่ง (แอบคัดลอกข้อมูลบัตร ATM) ที่เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย ไทยแลนด์เป็นประเทศหนึ่งในอาเซียนที่มีการใช้รถจักรยานยนต์กันมาก น้องๆ ประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม และกัมพูชา ทำให้เรามีปัญหารถจักรยานยนต์หายจำนวนมาก แต่สำหรับสิงคโปร์ ซึ่งแม้จะมีอาชญากรรมต่ำมาก แต่ก็มีคดีอาชญากรรมที่มีลักษณะเฉพาะ ได้แก่ รถจักรยานหาย คดีลักทรัพย์ในอพาร์ทเมนต์ ที่พักอาศัยอาคารสูง เป็นต้น

          อาชญากรรมในประเทศไทย มีแนวโน้มที่ต้องให้ความสำคัญคือ ผู้กระทำผิดที่เป็นเด็กและเยาวชน มีอายุเฉลี่ยน้อยลง นั่นก็คือ ลูกๆ หลานๆ ของเรามีการกระทำผิดตั้งแต่อายุยังน้อย และยังมีความเชื่อมโยงกับปัญหายาเสพติดอีกด้วย พี่น้องตำรวจและภาคีเครือข่าย รวมทั้งพ่อแม่ผู้ปกครองคงต้องช่วยกันดูแลนะครับ

          นอกจากอาชญากรรมทั่วไปแล้ว การก่อการร้ายกำลังเป็นปัญหาที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตตามปกติของคนในสังคม ช่วงนี้ เราได้ข่าวการก่อเหตุในต่างประเทศหลายเหตุการณ์ คนไทยอาจเห็นว่ายังเป็นปัญหาที่อยู่ไกลตัวเรา แต่ผมขอยก 2 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไว้เป็นบทเรียน เหตุการณ์แรกเหตุระเบิด 3 ครั้ง บริเวณซอยปรีดีพนมยงค์ พื้นที่ สน.คลองตัน เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2554 และหลังจากนั้นอีก 4 ปี เกิดเหตุระเบิดที่ศาลพระพรหม สี่แยกราชประสงค์ เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2558 ทั้งสองเหตุการณ์ตำรวจไทย สามารถจับกุมคนร้ายที่ลอบวางระเบิดได้ แต่ประเด็นอยู่ที่ทั้งสองเหตุการณ์ ผู้ก่อเหตุเป็นชาวต่างชาติ ที่เข้ามาเช่าที่พักอาศัยในกรุงเทพฯ เป็นเวลานานพอสมควร นำสิ่งของ วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ประกอบระเบิดมายังที่พักและเดินทางเข้า-ออก เป็นเวลานานพอสมควร ทั้งสองเหตุการณ์ชี้ให้เห็นว่ากรุงเทพฯ ประเทศไทย อาจมิได้ห่างไกลกับปัญหาการก่อการร้ายอีกต่อไป ในขณะที่ประเทศอื่นๆ กำลังเป็นเป้าในการโจมตี เราได้มีการเตรียมความพร้อม ระมัดระวังพื้นที่ของเราอย่างไรบ้างครับ?

          การบริหารข้อมูลข่าวสาร เป็นคุณสมบัติของนักบริหารงานตำรวจประการแรก ที่ผู้บริหารจำเป็นต้องรอบรู้ในข้อมูลข่าวสารที่อยู่รายล้อมองค์กร หน่วยงานของตน โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องและกระทบต่อการบริหารงาน

          2.การบริหารภารกิจ

          การปฏิบัติงานของทุกองค์กร มีลักษณะภารกิจที่ต้องรับผิดชอบแตกต่างกันออกไป ในฐานะผู้บริหาร จำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจภารกิจของตนเอง ผู้บริหารจำเป็นต้องเข้าใจถึงงานที่ตนเองต้องปฏิบัติ ว่ามีลักษณะอย่างไร ตนเองและผู้ใต้บังคับบัญชาจะต้องปฏิบัติงานภายใต้สภาพแวดล้อมอย่างไร  อันจะทำให้การบริหารงานเป็นไปอย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพ

          สำหรับภารกิจของตำรวจ ที่จะต้องปฏิบัติ มีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างจากงานในอาชีพอื่นๆ ประการแรก คือ ตำรวจเป็นเจ้าพนักงานในกระบวนการยุติธรรม และเป็นหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมที่จะต้องปฏิบัติงานตลอด 24 ชั่วโมง ครับ

          การที่สถานีตำรวจ ต้องเปิดทำการและให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง ก็ไม่ได้หมายความว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจทุกคนจะเป็น Superman ที่ตื่นทำงานตลอด 24 ชั่วโมงนะครับ แต่การต้องเปิดทำการ 24 ชั่วโมง ทำให้เราจะต้องใช้กำลังพลมากขึ้น หรือกล่าวอีกแง่หนึ่งคือ กำลังตำรวจที่มีอยู่ 210,000 นายเศษ ไม่ได้ออกตรวจตราปฏิบัติงานพร้อมกัน 210,000 นาย เราต้องแบ่งชุด แบ่งผลัดกันออกปฏิบัติหน้าที่และพักผ่อน เอาตัวเลขกลมๆ ถ้าต้องมีเจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติงาน 24 ชั่วโมง อย่างน้อยที่สุดต้องจัดเป็น 3 ชุด ให้ทำงานชุดละ 8 ชั่วโมง พัก 16 ชั่วโมง แล้วกลับมาทำงานใหม่ ดังนั้น ณ เวลาหนึ่ง เราจะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจตราและทำหน้าที่ด้านต่างๆ เพียง 1 ใน 3 คือประมาณ 70,000 นาย เท่านั้นเองครับ (เป็นตัวเลขเฉลี่ยคร่าวๆ ให้เห็นภาพเท่านั้นนะครับ จริงๆ ในแต่ละห้วงเวลา แต่ละพื้นที่ อาจมีการจัดเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานแตกต่างกันออกไปครับ)

          ลักษณะของภารกิจของตำรวจอีกประการหนึ่งคือ ในขณะที่องค์กรอื่นๆ การใช้วิจารณญาณในการตัดสินใจปฏิบัติงาน อาจอยู่ที่ผู้ปฏิบัติงานส่วนบนหรือผู้บริหารระดับสูง แต่สำหรับงานตำรวจซึ่งเป็นงานบังคับใช้กฎหมาย การจับกุมผู้กระทำผิด การใช้วิจารณญาณเพื่อปฏิบัติงานของตำรวจ (Police Discretion) กลับอยู่ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจระดับล่าง เช่น เจ้าหน้าที่ตำรวจสายตรวจ เจ้าหน้าที่ตำรวจจราจร ที่ปฏิบัติงานอยู่ในท้องถนน จะเป็นผู้ที่ต้องประสบเหตุ ติดต่อสัมผัสกับประชาชนโดยตรง เป็นผู้ใช้วิจารณญาณว่า เหตุการณ์ที่ตัวเองเจอ เป็นการกระทำผิดอาญาหรือไม่? ใช้วิจารณญาณว่าตนเองมีอำนาจจับกุมหรือไม่ ใช้วิจารณญาณว่าจะใช้วิธีการใดเพื่อจับกุมผู้กระทำผิด? ใช้กำลังได้แค่ไหนจึงพอสมควรแก่เหตุ? เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติมีเวลาในการใช้วิจารณญาณแค่เสี้ยววินาที เท่านั้น!!! และที่สำคัญมากกว่านั้น การใช้วิจารณญาณตัดสินใจของเจ้าหน้าที่ระดับล่างสุด เป็นการตัดสินใจที่จะกระทบต่อภาพลักษณ์ขององค์กรมากที่สุด ดังที่เราจะเห็นตามข่าวในสื่อมวลชนเป็นประจำ เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับล่าง ได้ปฏิบัติงานแล้วมีความผิดพลาด ทำให้กระทบต่อภาพลักษณ์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นอย่างมาก

          การพัฒนาให้เจ้าหน้าที่ตำรวจระดับล่าง ได้มีทักษะ ความสามารถในการตัดสินใจ การใช้วิจารณญาณที่ถูกต้อง สามารถติดต่อสื่อสารกับประชาชนที่ตนเองต้องประสบเหตุอย่างเหมาะสม จึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างมาก พวกเราจบการศึกษาจากสถาบันการฝึกอบรมของตำรวจ ไม่ว่าหลักสูตรใด เราจะมุ่งเน้นที่การฝึกด้านยุทธวิธี การใช้กำลังเข้าตรวจค้น จับกุม ส่วนเรื่องข้อกฎหมายเราก็ได้ร่ำเรียนกันในด้านตัวบทกฎหมาย จำเป็นหรือยังครับ ที่จะต้องปรับเปลี่ยนวิธีการฝึกอบรม ให้ลูกน้องเรา ได้รู้ถึงวิธีการขั้นตอนในการใช้วิจารณญาณ การตัดสินใจ การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า การใช้กริยาวาจาคำพูดในการติดต่อสื่อสารกับประชาชนให้เหมาะสม สอดคล้องกับข้อกฎหมายต่างๆ

          ลักษณะของภารกิจอีกประการหนึ่ง คือ ความเสี่ยงอันตราย แน่นอนครับ ความเสี่ยงของอาชีพตำรวจที่มากที่สุดคือการต้องเจอกับอาชญากร เสี่ยงในชีวิตและร่างกายในการปะทะต่อสู้กับผู้กระทำผิด แต่จริงๆ แล้ว ตำรวจยังมีความเสี่ยงด้านอื่นๆ ซึ่งหากคำนวณด้วยตัวเลขแล้ว อาชีพตำรวจมีความเสี่ยงสูงกว่าข้าราชการพลเรือนสามัญทั่วไป 20-30 เท่าตัวครับ สงสัยหล่ะซิครับว่าตัวเลขนี่เอามาจากไหน มีงานวิจัยที่เก็บข้อมูลและคำนวณตัวเลขดังกล่าวจากอัตราการเสียชีวิต บาดเจ็บและเจ็บป่วยจากการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ ไปเปรียบเทียบกับข้าราชการพลเรือนอื่น ความเสี่ยงของอาชีพตำรวจ จึงมีทั้งการต่อสู้ปะทะกับคนร้าย อุบัติเหตุจากการที่ต้องปฏิบัติงานนอกที่ทำการ การทำงานในเวลากลางคืน ความเสี่ยงจากการเจ็บป่วยที่ต้องสูดดมควันพิษ เจ็บป่วยจากการพักผ่อนไม่เป็นเวลา เป็นต้น

          ความเข้าใจต่อลักษณะภารกิจและงานของตนเอง ย่อมจะทำให้สามารถบริหารและมอบหมายงานให้ผู้ใต้บังคับบัญชาได้อย่างเหมาะสม และเข้าใจถึงข้อจำกัดในการปฏิบัติงานในแต่ละด้าน

          3.การบริหารทรัพยากรบุคคล

          “คน” อาจเป็นเรื่องสำคัญที่สุดสำหรับการบริหารงานในทุกระดับ หากเราได้คนดีมีความสามารถมาร่วมงาน ความสำเร็จของงานย่อมเป็นไปโดยง่าย แต่สำหรับการบริหารงานตำรวจในระดับต้น เรามีข้อจำกัดในการสรรหาคนเข้ามาเป็นลูกน้อง ซึ่งมีความเป็นไปได้น้อยมากครับ ดังนั้น สิ่งที่เราทำได้สำหรับการบริหารคน คือ การใช้คนที่มีอยู่ให้เหมาะกับงานแต่ละด้าน และการดูแลคนที่มีอยู่ ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี เพื่อให้สามารถทำงานให้เราได้อย่างเต็มที่ครับ

          ผู้เข้ารับการอบรมในแต่ละหลักสูตรของวิทยาลัยการตำรวจ มักจะประกอบไปด้วยคน 3 generation ซึ่งแต่ละ gen ก็มีคุณลักษณะที่แตกต่างกันอันเนื่องมาจากเกิดและเติบโตมาในสภาพแวดล้อมทางสังคมและเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน ผมต้องย้ำนะครับ คนที่เกิดต่างกันในแต่ละยุค ไม่มีใครผิดใครถูก ไม่มีใครล้าสมัยทันสมัยมากกว่าใคร แต่การเกิดต่างยุคกัน ทำให้เรามีวิถีชีวิตหรือวิธีคิดต่างกันเท่านั้น

          คนยุค Baby Boomer คือ คนที่เกิดระหว่าง พ.ศ. 2490 – 2507 มีสัดส่วนน้อยที่สุด ในแต่ละหลักสูตรจะมีประมาณ 10 % เป็นรุ่นที่สูงวัยนิดหนึ่งครับ แต่ละท่านที่อยู่ในวัยนี้ลองนึกดูครับว่าท่านเกิดแล้ว ท่านพบเจออะไร กล่าวกันว่าเป็นรุ่นก่อร่างสร้างตัว ซึ่งบ้านเมืองกำลังพัฒนาหลังจากเสร็จสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 เริ่มมีความเจริญของฝรั่งเข้ามาในประเทศเรา เริ่มมีทีวีดู แต่ยังเป็นทีวีขาวดำ สภาพแวดล้อมทำให้อุปนิสัยของคนยุคนี้ คือ จงรักภักดีต่อองค์กร ไม่เปลี่ยนงานง่าย เป็นคนที่อดทนสู้งาน ครับ

          คนยุค Generation X คือ คนที่เกิดระหว่าง พ.ศ. 2508 -  2524 มีสัดส่วนค่อนข้างมากในหมู่ผู้เข้ารับการอบรม คนที่เกิดมาในช่วงนี้ บ้านเมืองเรากำลังพัฒนาอย่างมาก หากใครเกิดทันยุคนี้ คงพอจำได้ว่าเป็นช่วงที่ประเทศไทยเร่งรัดการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สร้างถนนหนทางในพื้นที่ต่างๆ มากมาย คนที่เกิดในยุคนี้ จึงเกิดมาพร้อมกับความสะดวกสบายในลักษณะ “น้ำไหล/ไฟสว่าง/ทางดี” คนยุค gen X จึงมีลักษณะของผู้รักอิสระ มีหัวก้าวหน้า พร้อมเปลี่ยนงานถ้าไม่พอใจ

          คนยุค Generation Y คือผู้ที่เกิดตั้งแต่ พ.ศ. 2525 เป็นต้นมา เป็นคนที่เกิดมาในยุคโลกาภิวัตน์ มีความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เทคโนโลยีที่ทันสมัย ทั้งเครื่องคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต ทำให้ลักษณะการใช้ชีวิตของคนยุคนี้ เป็นคนที่รับรู้เร็วมาก เพราะเติบโตมาพร้อมกับการรับรู้และตอบสนองจากเทคโนโลยีที่รวดเร็ว ทำให้ มีอารมณ์ร่วมตามสังคมได้ง่าย รักอิสระสูง ชอบมีความคิดส่วนตัว ไม่ชอบการบังคับ ในด้านการบริหารงานบุคคล กล่าวกันว่าคนยุค Gen Y เป็นคนที่ทำงานแล้วต้องการเห็นผลโดยเร็ว ต้องการการตอบแทน สิทธิสวัสดิการที่แตกต่างจากคนยุคก่อนนี้ การมอบหมายงาน การบริหารงานบุคคลสำหรับคนยุค Y จึงต้องเหมาะสมสอดคล้องกับความต้องการของคนยุคนี้ เช่น การมอบหมายงานต้องมีความชัดเจน การสนองตอบต่อผลงานที่คนยุค gen Y ทำ ควรต้องเห็นผลรวดเร็ว การตอบแทนผลงาน หรือสวัสดิการ ควรสอดคล้องกับความต้องการของคนยุคใหม่ เป็นต้น

          เมื่อเปรียบเทียบองค์กรตำรวจ กับภาคธุรกิจเอกชน ในภาคเอกชน อาจมีปัญหากับคนยุค Gen Y มากกว่า เนื่องจากองค์กรที่ไม่สามารถปรับตัวกับความต้องการของคนยุค Gen Y ได้ ทำให้มีอัตราการเข้า-ออกจากงานสูง ส่งผลต่อการสรรหาคนทดแทนและงบประมาณในด้านการฝึกอบรมอบรมพนักงาน อย่างไรก็ตาม สำหรับการบริหารงานของตำรวจ เราก็ควรคำนึงถึงความแตกต่างของคนต่างยุค ที่จำเป็นต้องมอบหมายงานและบริหารงานบุคคลให้เหมาะสม กับลักษณะของคนที่ต่างกัน

          เมื่อมอบหมายงานคนต่างยุคให้เหมาะสมแล้ว ประการต่อมาคือการดูแลคนของเรา ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีด้วย การดูแลลูกน้องไม่จำเป็นต้องดูแลด้วยทรัพย์สินเงินทองเพียงอย่างเดียวนะครับ  หลักการที่สำนักงาน ก.พ. ได้วางไว้เกี่ยวกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของบุคคลที่ควรต้องสมดุล มี 4 ประการ  ได้แก่

                    1. การพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านการทำงาน ได้แก่ วัสดุอุปกรณ์ สภาพแวดล้อมของที่ทำงานที่สะอาด เป็นระเบียบเรียบร้อย หากพัฒนาได้ย่อมส่งผลต่อคุณภาพชีวิตได้เช่นกัน หากท่านได้รับการแต่งตั้งโยกย้ายไปหน่วยงานหนึ่ง ที่มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย มีวัสดุอุปกรณ์สำหรับการทำงานเพียงพออย่างเหมาะสม ท่านคิดว่าท่านเองจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นหรือไม่ครับ?

                    2. การพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านส่วนตัว อาจเป็นคุณภาพชีวิตที่ตำรวจมีปัญหามากที่สุด สิ่งบ่งชี้อย่างหนึ่งคือ อัตราการฆ่าตัวตายของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่สูงกว่าประชาชนคนทั่วไปถึง 3 เท่าตัวครับ!!! การดูแลคุณภาพชีวิตด้านส่วนตัวของผู้ใต้บังคับบัญชา ด้วยคำสั่ง 1212 อาจเป็นยาขมหม้อใหญ่ของตำรวจ แต่ผมอยากให้เอาส่วนดีของคำสั่งนี้มาปรับใช้ คือ ผู้บังคับบัญชาควรจะต้องให้ความสนใจใส่ใจผู้ใต้บังคับบัญชา แน่นอนครับ เรามีลูกน้องจำนวนมากที่อาจดูแลไม่ทั่วถึง แต่โลกปัจจุบันที่มีเทคโนโลยีสารสนเทศ Social Media เราจะประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเหล่านี้มาช่วยเราได้อย่างไร สัญญาณสิ่งบอกเหตุสำหรับลูกน้องบางคนที่มีปัญหา ไม่ว่าปัญหาครอบครัว ปัญหาการงาน เมื่อเรารู้ ก็อยู่ที่เราจะให้ความสนใจแค่ไหน

                    3. พัฒนาคุณภาพชีวิตด้านสังคม แม้ว่าอาชีพตำรวจ จะเป็นอาชีพที่ต้องให้บริการประชาชน แต่การทำงานโดยปกติประจำวัน ก็อาจทำให้เราหลงลืมสิ่งที่เรียกว่า Service Mind หรือเราอาจลืมความเสียสละต่อสังคมไปบ้าง ในฐานะผู้บริหารจำเป็นจะต้องเสริมสร้างการพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านสังคมของลูกน้อง ให้มีจิตใจที่เสียสละต่อส่วนร่วม รวมทั้งการเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับประชาชนในสังคม

                    4. การพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านเศรษฐกิจ อีกปัญหาสำคัญที่เชื่อมโยงไปสู่ปัญหาอื่นๆ คือเรื่องปากท้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าราชการตำรวจชั้นผู้น้อย ภายใต้ข้อจำกัดที่รัฐบาลก็ยังไม่สามารถเพิ่มเงินเดือนค่าตอบแทนให้แก่ข้าราชการตำรวจได้อย่างเพียงพอ การแก้ปัญหาด้วยตัวเราเองก่อนเป็นลำดับแรก จึงต้องรู้จักการวางแผนการเงินส่วนบุคคล  วิชานี้ เราไม่เคยเรียนกันมาก่อนเลยตั้งแต่จบการศึกษาและเข้ารับราชการตำรวจ รวมทั้งผมด้วย แต่ส่วนตัวผมได้เรียนรู้เรื่องนี้จากการเป็นผู้จัดหลักสูตรสำหรับข้าราชการตำรวจที่จะ “เกษียณอายุราชการ”!!! ทำไมเราไม่สอนตำรวจเราให้รู้จักวางแผนการเงินส่วนบุคคล ตั้งแต่เริ่มรับราชการหล่ะครับ มันจำเป็นมากกว่าการไปสอนกันตอนที่จะเกษียณอายุราชการนะครับ แม้เงินเดือนค่าตอบแทนจะน้อยนิด แต่ถ้ารู้จักบริหาร รู้จักการออม รู้จักการนำเงินไปลงทุนอย่างเหมาะสม ทำให้ได้ดอกผลที่เหมาะสม ผมว่าเราจะลดปัญหาด้านการเงินให้แก่ข้าราชการตำรวจได้บ้างนะครับ

          การบริหารทรัพยากรบุคคล ในหน้าที่ของผู้บริหารงานตำรวจระดับต้น ผมจึงเน้นแค่การมอบหมายงานให้เหมาะสมกับคนแต่ละยุค และขอให้ช่วยๆ กันพัฒนาคุณภาพชีวิตของลูกน้องเราในแต่ละด้านเท่านั้นก็พอแล้วครับ

          4. การบริหารงบประมาณและวัสดุอุปกรณ์ เช่นเดียวกับการบริหารทรัพยากรบุคคล ผู้บริหารระดับต้น มักจะมีข้อจำกัดที่ไม่ได้เป็นผู้บริหารงบประมาณ หรือการจัดหาวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ด้วยตนเองมากนัก แต่ผมก็ได้นำเสนอให้ว่าที่ผู้บริหารระดับต้นได้เห็นภาพข้อจำกัดด้านงบประมาณของประเทศและงบประมาณของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้เข้าใจตรงกันว่าเรามีปัญหาการขาดแคลนงบประมาณเพียงไร

          ในปีงบประมาณ พ.ศ.2558 ประเทศไทยมีงบประมาณรายจ่ายประมาณ 2.5 ล้านล้านบาท จัดสรรให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติใช้จ่าย 90,000 ล้านบาทเศษ คิดเป็นร้อยละ 3.5 และงบประมาณที่ตำรวจได้รับจัดสรรดังกล่าว เราต้องจ่ายเป็นเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง เงินเพิ่มพิเศษต่างๆ ถึงร้อยละ 75 เท่ากับเราจะเหลืองบประมาณสำหรับเป็นค่าน้ำมัน ค่ากระดาษ ค่าซ่อมแซม ปรับปรุงอาคารที่ทำการ เบี้ยเลี้ยงและค่าใช้จ่ายสำหรับการทำงานอื่นๆ เพียงร้อยละ 25  เท่านั้นเองครับ

          แต่อย่างไรก็ตาม ในฐานะผู้บริหารระดับต้น สารวัตรแต่ละท่าน ย่อมจะต้องมีโอกาสได้บริหารหรือต้องใช้จ่ายเงินไม่ว่าจะเป็นเงินงบประมาณ หรือเงินนอกงบประมาณอื่นๆ ใด ไม่มากก็น้อย จึงให้หลักการเกี่ยวกับการบริหารงบประมาณและวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ไว้ว่า เรามักจะมีงบประมาณอันจำกัดอยู่เสมอ ในขณะที่เราก็มีรายการที่จะต้องใช้จ่ายเงิน เกินกว่างบประมาณอยู่เสมอ หน้าที่ของผู้บริหารจึงจำเป็นต้องจัดลำดับความสำคัญของภารกิจที่จำเป็นต้องใช้จ่ายงบประมาณ และใช้งบที่มีอยู่อย่างจำกัดตามลำดับความเร่งด่วน และหลักการอีกประการหนึ่ง คือการใช้จ่ายเงินงบประมาณด้วยความเป็นธรรม การจัดสรรประโยชน์ให้แก่ผู้ใต้บังคับบัญชา เป็นหน้าที่ของผู้บังคับชาที่ต้องมีความเป็นธรรม

          5. การบริหารความรู้สึกของประชาชน

          การบริหารงานตำรวจในยุคใหม่ ซึ่งได้รับอิทธิพลจากแนวคิดการจัดการภาครัฐแนวใหม่ (New Public Management) ทำให้นักบริหารงานตำรวจยุคใหม่ จำเป็นต้องคำนึงถึงประชาชนผู้รับบริการเป็นสำคัญ การกำหนดเป้าหมายและวิธีการประเมินผลการปฏิบัติด้วยวิธีการแบบดั้งเดิม เช่น จำนวนคดีที่เกิด จำนวนคดีที่จับกุมได้ ไม่ใช่สิ่งที่ประชาชนในพื้นที่จะรับรู้และพอใจกับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่ประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบ จะพอใจกับการทำงานของตำรวจต่อเมื่อ เขารู้ว่าตนเองได้รับความปลอดภัย ไม่หวาดกลัวภัยอาชญากรรม เขารู้สึกพึงพอใจกับการบริการของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เข้าไปติดต่อด้วย เขารู้สึกเชื่อมั่นต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่  ดังนั้นในปัจจุบัน การวัดผลการปฏิบัติงานของตำรวจ จึงถูกวัดด้วยสิ่งต่างๆ ดังนี้

          -ความหวาดกลัวภัยอาชญากรรม (fear of crime) เป็นความรู้สึกของประชาชน เกี่ยวกับความไม่ปลอดภัย ความไม่มั่นคงในชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของตนเอง หรือบุคคลในครอบครัว หวาดกลัวว่าตนเองจะตกเป็นเหยื่ออาชญากรรม  ความรู้สึกดังกล่าวเกิดขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องมีอาชญากรรมเกิดจริงๆ สิ่งบ่งชี้ถึงความหวาดกลัวภัยอาชญากรรม เช่น เกิดความรู้สึกหวาดกลัวเมื่อต้องเดินกลับบ้านหรือเดินในซอยโดยลำพัง เป็นต้น ปัจจัยที่ทำให้เกิดความหวาดกลัวภัยอาชญากรรมของประชาชน คือ สภาพแวดล้อม สถานที่ บุคคล ที่ทำให้เรากลัว


          -ความพึงพอใจ (satisfy) เป็นความรู้สึกที่ประชาชน พอใจจากการให้บริการสาธารณะ ความพึงพอใจ เกิดจากคุณภาพการให้บริการและการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ เช่น พูดจาดี ให้บริการได้รวดเร็ว เป็นระบบ ระเบียบ สะอาดเรียบร้อย เป็นต้น 

          -ความเชื่อมั่นของประชาชน (trust) เป็นความเชื่อว่าจะสามารถป้องกันเหตุอาชญากรรมได้ เชื่อว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจะทำให้ประชาชนมีความปลอดภัย หรือสามารถช่วยเหลือประชาชนหรือจับกุมคนร้ายได้เมื่อเกิดเหตุ สิ่งที่ทำให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่น เช่น ความสำเร็จจากการกระทำในอดีต (เหตุผลหนึ่งที่จำเป็นต้องมีการแถลงข่าวเมื่อจับคนร้ายได้ คือการสร้างความเชื่อมั่น)  ภาพลักษณ์ความเป็นมืออาชีพ (เห็นหรือยังครับ ว่าทำไมผู้บังคับบัญชาจึงกำชับว่า เมื่อไปตรวจที่เกิดเหตุ ให้สวมถุงมือ แต่งเครื่องแบบให้เรียบร้อย สวมหมวก เพราะหากภาพปรากฏออกไปทางสื่อมวลชน จะแสดงให้เห็นถึงความเป็นมืออาชีพ) ความซื่อตรง ซื่อสัตย์สุจริต กระทำตามที่พูดไว้ และการดูแลเอาใจใส่

          การทำงานตำรวจในปัจจุบัน ท่านเหน็ดเหนื่อยจากการตรวจตราป้องกันเหตุเท่าใด เหน็ดเหนื่อยจากการสืบสวนติดตามคนร้ายมากเพียงใด แต่ถ้าท่านไม่สามารถบริหารความรู้สึกของประชาชนได้ สิ่งที่ท่านทุ่มเท ความเหนื่อยยาก จะไม่ได้ทำให้ท่านได้ใจจากประชาชนแต่อย่างใด การบริหารงานตำรวจยุคใหม่ จึงจำเป็นต้องบริหารจัดการกับความรู้สึกของประชาชนในด้านต่างๆ ดังกล่าวด้วยครับ
 
          ในท้ายที่สุด พี่ๆ น้องๆ หลักสูตรสารวัตร จะบริหารงานให้ประสบความสำเร็จ จำเป็นจะต้องทำงานประสานร่วมมือกับคนที่อยู่รอบตัวท่าน ทั้งผู้ใต้บังคับบัญชา ผู้บังคับบัญชา เพื่อนร่วมงานหน่วยข้างเคียง เพื่อนๆ จากส่วนราชการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง องค์กรภาคธุรกิจเอกชน ชุมชนและประชาชนโดยทั่วไป ดังที่ได้กล่าวไปแล้วในตอนต้นว่า การบริหารงานตำรวจในยุคใหม่ ไม่มีใครเป็นพระเอกที่สามารถแก้ไขปัญหาได้ทุกเรื่องด้วยตัวเอง เราจำเป็นต้องทำงานร่วมกับคนอื่นๆ รอบตัวเรา ขอให้ทุกท่านประสบความสำเร็จในการบริหารงานและได้เป็นสารวัตรทุกคนครับ
-------------------------------------


ปล. หลังจากเผยแพร่บทความนี้ไปแล้ว พี่หน่อง พ.ต.อ.ปิยะวัฒน์ บุญยืนอนนต์ ได้ให้คอมเมนต์เกี่ยวกับเรื่องผู้นำที่ผมได้เขียนไว้ เหมือนกับข้อความที่ได้เคยเจอในพิพิธภัณฑ์ฝิ่นที่จว.เชียงราย ว่า

"สิ่งใดที่ท่านพึงชัง อย่ากระทำกับเพื่อนมนุษย์
นี่คือกฎเพียงข้อเดียว นอกนั้นเป็นเพียงส่วนขยาย"
 
พระคัมภีร์ของศาสนายิว
จากบท ทัลมุด ชับบาธ 31 เอ

จึงขอนุญาตนำข้อความดังกล่าวมาเพิ่มเติมไว้ในบทความนี้ด้วยครับ
 
 
 

 

ความคิดเห็น

  1. หลังจากเผยแพร่บทความนี้ พี่หน่อง พ.ต.อ.ปิยะวัฒน์ บุญยืนอนนต์ ได้ให้คอมเมนต์เกี่ยวก้ับเรื่องผู้นำที่ผมได้เขียนไว้ เหมือนกับข้อความที่ได้เคยเจอในพิพิธภัณฑ์ฝิ่นที่จว.เชียงราย ว่า

    "สิ่งใดที่ท่านพึงชัง อย่ากระทำกับเพื่อนมนุษย์
    นี่คือกฎเพียงข้อเดียว นอกนั้นเป็นเพียงส่วนขยาย"

    พระคัมภีร์ของศาสนายิว
    จากบท ทัลมุด ชับบาธ 31 เอ
    จึงขอนุญาตนำข้อความดังกล่าวมาเพิ่มเติมไว้ในบทความนี้ด้วยครับ

    ตอบลบ

แสดงความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เรียนรู้เรื่องราวตำรวจญี่ปุ่นกันครับ

การทำงานของตำรวจยุคดิจิทัล ด้วยเทคโนโลยียุคใหม่

ตำรวจเยอรมัน