เรียนรู้เรื่องราวตำรวจญี่ปุ่นกันครับ

     มีเพียงไม่กี่ประเทศในเอเซีย ที่จะมีขีดความสามารถในการแข่งขันกับประเทศมหาอำนาจ ทางฝากฝั่งยุโรปและอเมริกา หนึ่งในนั้น คือ ญี่ปุ่น
     คนไทยเราได้รู้จักญี่ปุ่นมากขึ้น เมื่อไม่ต้องขอ VISA เพื่อเดินทางไปท่องเที่ยวในญี่ปุ่น และคนญี่ปุ่นก็ต้องรู้จักกับคนไทยมากขึ้นอีก เมื่อมีคนไทยเข้าไปทำผิดกฎหมายของญี่ปุ่นในหลายกรณี
     วันนี้ เราลองมาทำความรู้จักกับตำรวจญี่ปุ่นกันบ้างครับ

     อำนาจหน้าที่ของตำรวจญี่ปุ่น
     กฎหมายตำรวจ กำหนดให้ตำรวจมีหน้าที่ "ปกป้องชีวิต บุคคล และทรัพย์สิน ป้องกัน ปราบปราม และสืบสวนคดีอาชญากรรม จับกุมผู้ต้องสงสัย จัดการจราจรและรักษาความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยของประชาชน" ดูแล้วก็คงไม่แตกต่างกับตำรวจไทย แต่บทบาทของตำรวจญี่ปุ่น ยังต้องดำรงรักษาการติดต่ออย่างใกล้ชิดกับชุมชนท้องถิ่น เพื่อป้องกันอาชญากรรม จัดการกับของตกหายและได้คืน ให้คำแนะนำกับเด็กและเยาวชน ช่วยเหลือประชาชนเมื่อเกิดภัยพิบัติ (เราทราบกันดีว่าญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ประสบภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์สึนามิบ่อยมาก) ช่วยติดตามเด็กหาย และยังให้ความช่วยเหลือประชาชนในการแก้ไขปัญหาต่างๆ
     จะเห็นได้ว่าบทบาทของตำรวจญี่ปุ่นจึงมีกว้างขวางมากกว่าการบังคับใช้กฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้ความช่วยเหลือประชาชนในเกือบทุกด้านที่เป็นความเดือดร้อน ไม่เพียงแต่เป็นเรื่องอาชญากรรมเพียงอย่างเดียว จึงไม่น่าแปลกใจนะครับ ว่าตำรวจจึงได้รับความเชื่อมั่นและเคารพจากประชาชนคนญี่ปุ่นและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ที่ได้รับความช่วยเหลือจากตำรวจญี่ปุ่น

     ประวัติศาสตร์ความเป็นมา
     ประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงของตำรวจญี่ปุ่น คล้ายกับตำรวจในประเทศอื่นๆ รวมทั้งตำรวจไทย แหม! หลายท่านคงคิดว่าผมช่างกล้าเอาตำรวจไทย ไปเทียบกับตำรวจญี่ปุ่น แต่ผมก็ยังกล้าที่จะบอกต่อไปว่า ตำรวจไทย ก้าวหน้ากว่าตำรวจญี่ปุ่นจริงครับ (แต่เป็นตำรวจไทยในอดีตนะครับ)
     ตำรวจญี่ปุ่น ในรูปแบบองค์กรสมัยใหม่ เกิดขึ้นในปี ค.ศ.1872 (พ.ศ.2415) เมื่อรัฐบาลญี่ปุ่นได้ส่ง Toshiyoshi KAWAJI ซึ่งได้ยศ/ตำแหน่งของตำรวจที่เรียกว่า Superintendent General (เป็นตำแหน่งเทียบเท่า รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เพราะเป็นเบอร์ 2) ไปศึกษาระบบตำรวจในยุโรป เมื่อได้กลับญี่ปุ่นในปีถัดมา จึงได้ก่อตั้งตำรวจนครบาลโตเกียว อยู่ภายใต้กระทรวงมหาดไทย ในปี ค.ศ.1874 (พ.ศ.2417) เหมือนกับที่เซอร์โรเบิร์ต พีล (Sir Robert Peel) ก่อตั้งตำรวจตำรวจนครบาลลอนดอน ในอังกฤษ ซึ่งถือเป็นองค์กรตำรวจสมัยใหม่แห่งแรกในญี่ปุ่น
     เพราะฉะนัั้น ผมจึงกล้าบอกว่าตำรวจไทยทันสมัยกว่าญี่ปุ่นครับ เพราะองค์กรตำรวจสมัยใหม่ของไทย เกิดขึ้นก่อนตำรวจญี่ปุ่น ตั้งแต่เมื่อ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ จัดตั้งกองกำลังตำรวจสมัยใหม่ของสยามประเทศ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2403 เกิดก่อนญี่ปุ่น ตั้ง 14 ปี และตำรวจไทยยังได้รับการพัฒนาอย่างมากในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 (แต่ปัจจุบันตำรวจไทย ก้าวหน้ากว่าตำรวจญี่ปุ่นหรือไม่ คงไม่ต้องบอกนะครับ)
     หากย้อนความเป็นมาของการรักษาความสงบเรียบร้อยในญี่ปุ่น กลับไปให้นานกว่านี้ เพื่อให้เข้าใจว่าทำไมคนญี่ปุ่นจึงมีวินัยและสามารถนำพาประเทศให้ก้าวหน้าจนสามารถเป็นมหาอำนาจได้ทันเทียมฝรั่งตะวันตก
     ความเป็นเอกลักษณ์ของญี่ปุ่น ประการหนึ่ง คือ เป็นประเทศที่ประชากรมีความเป็นหนึ่งเดียวกัน (homogeneous country) ประชากรมากกว่า 99 % เป็นคนญี่ปุ่น มีคนต่างเชื้อชาติน้อยมาก ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมมาจากจีน เช่น ระบบการเขียน ศาสนาพุทธ ค่านิยมในสังคม


     ในอดีตผู้ที่มีบทบาทในการปกครองและควบคุมคนในสังคม คือ โชกุน (shoguns) ปกครองในลักษณะแบบทหาร ประมาณปี ค.ศ.1542(พ.ศ.2085 เทียบได้ประมาณสมัยอยุธาครับ) มีหลักฐานว่าญี่ปุ่นเริ่มมีการติดต่อกับชาติตะวันตก เมื่อเรือของโปรตุเกส ได้เดินทางมายังจีนและญี่ปุ่น ในช่วงศตวรรษต่อมา มีการค้าขายกับโปรตุเกส เนเธอร์แลนด์ อังกฤษ สเปน พร้อมกับการเผยแพร่คริสต์ศาสนาลัทธิต่างๆ ช่วงเวลาดังกล่าว โชกุน เกรงกลัวอิทธิพลจากผู้บุกรุกเหล่านี้ื ในช่วงปี ค.ศ.1600 จึงบังคับให้คนต่างชาติออกไปจากญี่ปุ่นและจำกัดการติดต่อกับชาติตะวันตกอย่างเข้มงวดเป็นเวลากว่า 200 ปี ในช่วงเวลาที่แยกตัวออกจากวัฒนธรรมอื่น ครอบครัวโชกุน แห่ง Tokugawas หรือที่เรียกว่ายุคเอะโดะ เป็นผู้มีอำนาจปกครองที่แท้จริง (พระจักรพรรดิ์ ประทับอยู่เมืองเกียวโต มีอำนาจน้อยมาก) โชกุนโทะกุงะวะ เกรงอิทธิพลของชาติตะวันตกจึงได้ปิดประเทศเป็นเวลานาน ดังนั้น ในขณะที่ประเทศอื่นๆ กำลังเข้าสู่ช่วงเวลาแห่งการสำรวจ การประดิษฐ์ และการติดต่อแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ ญี่ปุ่นกลับกำลังเข้าสู่ช่วงเวลาแห่งความหยุดนิ่งทางวัฒนธรรม และการอยู่กับตัวเอง ช่วงเวลาแห่งการแยกตัวออกจากประเทศอื่นๆ ทำให้วัฒนธรรมของญี่ปุ่น ซึ่งก่อนหน้านั้นก็ได้รับอิทธิพลอย่างมากมาจากจีน มีความเข้มแข็ง และก็ยังคงความเป็นเอกลักษณ์ไว้ได้ แม้วัฒนธรรมจากภายนอกจะเริ่มเข้ามาสู่สังคมญี่ปุ่นในภายหลัง

     ทำไมญีปุ่นจึงมีอาชญากรรมต่ำ
     ประวัติศาสตร์และวิวัฒนการของสังคมญี่ปุ่น ย่อมส่งผลต่อสภาพอาชญากรรมในปัจจุบัน  จากรายงานประจำปีของตำรวจญี่ปุ่น ฉบับปี ค.ศ.2016 ระบุว่าในปี ค.ศ.2015 ได้รับแจ้งคดีฆ่า เพียง 933 คดี ในสภาพสังคมญี่ปุ่น คนญี่ปุ่นมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของค่านิยมแบบดั้งเดิม มีความจงรักภักดีและสอดคล้องกันในกลุ่มคน ค่านิยมดังกล่าวมีส่วนช่วยไม่ให้เกิดปัญหาอาชญากรรมที่รุนแรง นอกจากนี้ ปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้อาชญากรรมในญี่ปุ่นต่ำ ได้แก่
     -อัตราการว่างงานที่ต่ำ
     -ในพื้นที่เมือง ไม่มีชุมชนแออัด
     -โครงสร้างครอบครัวที่เข้มแข็ง
     -กฎหมายควบคุมอาวุธปืนที่เข้มงวด 
 
     อีกประการหนึ่งที่เราได้ยินกันมามาก คือ ญี่ปุ่น จะปลูกฝังเรื่องระเบียบวินัย ความรับผิดชอบต่อสังคม ให้แก่เด็กตั้งแต่อยู่ในโรงเรียน มิใช่มารณรงค์กันให้ปฏิบัติเมื่อโตขึ้นมา (แบบในประเทศอะไรก็ไม่รู้ครับ) โรงเรียนในประเทศไทยบางโรงเรียน จึงไปรูปแบบการเรียนมาญี่ปุ่นมาใช้ในเรื่องฝึกฝนให้เด็กมีระเบียบวินัย มีความรับผิดชอบตั้งแต่เด็ก

     โครงสร้างตำรวจญี่ปุ่นในปัจจุบัน
     องค์กรตำรวจญี่ปุ่นมีการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง เมื่อหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เราทราบกันดีว่าญี่ปุ่น ถูกระเบิดปรมาณูถล่มและพ่ายแพ้สงคราม สหรัฐอเมริกาในฐานะผู้ชนะสงคราม ได้เข้ามามีบทบาทและผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบการบริหารงานตำรวจของญี่ปุ่น กฎหมายตำรวจฉบับเก่า ที่ใช้ในช่วงปี ค.ศ.1948 กำหนดให้มีระบบคณะกรรมการความปลอดภัยสาธารณะ (The Public Safety Commission) การปฏิรูปตำรวจในช่วงเวลานั้น ต้องการให้เกิดการบริหารงานในแบบประชาธิปไตย และต้องการกระจายอำนาจตำรวจออกไปสู่ท้องถิ่น จึงจัดโครงสร้างแบ่งออกเป็นตำรวจแห่งชาติ และตำรวจท้องถิ่น (municipal police) ระบบดังกล่าวทำให้เกิดกองกำลังตำรวจท้องถิ่น (Municipal Police Forces) ในแต่ละท้องถิ่น เป็นกองกำลังย่อยๆ  จำนวนมาก ควบคู่กับตำรวจในชนบทซึ่งเป็นตำรวจส่วนกลาง (National Rural Police) ระบบดังกล่าวได้ก่อให้เกิดปัญหาหลายประการ ได้แก่ ความไม่มีประสิทธิภาพในการปฏิบัติของกองกำลังตำรวจ ความไม่มีประสิทธิภาพจากแบ่งหน่วยงานตำรวจออกเป็นหน่วยย่อยตามพื้นที่ภูมิศาสตร์ และความไม่ชัดเจนในความรับผิดชอบระหว่างกองกำลังตำรวจท้องถิ่น กับความรับผิดชอบของรัฐบาลกลางในส่วนของการรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน
     ต่อมาจึงมีการแก้ไขกฎหมายตำรวจ ในปี ค.ศ.1954 (พ.ศ.2497) ซึ่งเป็นการจัดรูปแบบองค์กรตำรวจญี่ปุ่นในปัจจุบัน โดยพยายามรักษาข้อดีของกฎหมายตำรวจฉบับดังกล่าว ซึ่งทำให้งานตำรวจสอดคล้องกับการปกครองแบบประชาธิปไตย ขณะเดียวกันก็จำเป็นต้องแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น
     ปัจจุบันระบบตำรวจของญี่ปุ่น มีลักษณะเป็นแบบผสม (Integrated systems) เป็นการผสมผสานระหว่างแบบรวมศูนย์อำนาจ (Centralized systems) กับแบบกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น (Decentralized systems) เนื่องจากการจัดโครงสร้างองค์กรและระบบการบริหารงาน มีการคานอำนาจ และใช้อำนาจร่วมกันระหว่างอำนาจของรัฐบาล กับอำนาจของท้องถิ่น รวมทั้งมีคณะกรรมการที่เป็นหลักประกันความเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรตำรวจ
     1) คณะกรรมการความปลอดภัยสาธารณะแห่งชาติ - NPSC
     ญี่ปุ่นมีหน่วยงานตำรวจระดับชาติ เรียกว่า National Police Agency (NPA) ผมขอเรียกว่า “สำนักงานตำรวจแห่งชาติญี่ปุ่น” แล้วกันนะครับ นอกจากมี สำนักงานตำรวจแห่งชาติญี่ปุ่น แล้ว ยังมี คณะกรรมการความปลอดภัยสาธารณะแห่งชาติ (The National Public Safety Commission-NPSC) ซึ่งจัดตั้งขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ภายใต้กระบวนการปฏิรูปตำรวจ การจัดตั้งคณะกรรมการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อความเป็นกลางทางการเมืองและการบริหารงานภายในของตำรวจ โดยการทำให้การบริหารงานตำรวจต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการดังกล่าว
     คณะกรรมการ NPSC เป็นผู้กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติญี่ปุ่น ในขณะที่คณะกรรมการฯ อยู่ภายใต้อำนาจของนายกรัฐมนตรี แต่นายกรัฐมนตรี ก็ไม่มีอำนาจในการสั่งการหรือควบคุมคณะกรรมการโดยตรง ลักษณะเช่นนี้ทำให้คณะกรรมการฯ มีความเป็นอิสระและมีความเป็นกลางทางการเมือง
คณะกรรมการฯ (NPSC) จะเป็นผู้กำหนดนโยบายพื้นฐานและกฎระเบียบต่างๆ รวมทั้งบริหารงานตำรวจร่วมกันในเรื่องระดับชาติ กำหนดมาตรฐานการฝึกอบรม การติดต่อสื่อสาร นโยบายด้านอาชญากรรม เป็นต้น
     องค์ประกอบคณะกรรมการฯ ประกอบด้วยประธาน 1 คน และคณะกรรมการ 5 คน เนื่องจากคณะรัฐมนตรีเป็นผู้รับผิดชอบความปลอดภัยสาธารณะ ประธานจึงเป็นรัฐมนตรี  กรรมการมีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี ได้รับการแต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรี โดยความเห็นชอบของรัฐสภา กรรมการจะต้องไม่เป็นบุคคลที่เคยเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือพนักงานอัยการ ก่อนหน้านี้เป็นเวลา 5 ปี และเพื่อให้เกิดความเป็นกลางทางการเมือง กรรมการจะต้องไม่อยู่ในพรรคการเมืองเดียวกันเกินกว่า 2 คน คณะกรรมการจะมีการประชุมกันสัปดาห์ละ 1 ครั้ง และหากมีความจำเป็นก็อาจมีการเรียกประชุมเพิ่มเติมได้
     นอกจากนี้ยังมีคณะกรรมการระดับจังหวัด เรียกกว่า คณะกรรมการความปลอดภัยสาธารณะจังหวัด (Prefectural Public Safety Commission-PPSC) ซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 3 หรือ 5 คน

     2) สำนักงานตำรวจแห่งชาติญี่ปุ่น
     สำนักงานตำรวจแห่งชาติญี่ปุ่น มีผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (Commissioner General)  อยู่ภายใต้การกำกับดูแลเชิงบริหารของคณะกรรมการ NPSC ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จะเป็นผู้บริหารการปฏิบัติของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่งตั้งและถอดถอนเจ้าหน้าที่ตำรวจ กำกับดูแลและควบคุมตำรวจจังหวัดภายในอำนาจหน้าที่ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
     หน่วยงานที่ควบคุมพื้นที่ของญี่ปุ่น มีลักษณะคล้ายกับตำรวจไทย คือมี
          (1) กองบัญชาการตำรวจภาค (Regional Police Bureaus-RPB) เป็นหน่วยงานที่อยู่ภายใต้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (NPA) มีจำนวน 7 ภาค ไม่รวม กรมตำรวจนครบาลโตเกียว (Tokyo Metropolitan Police Department) และกองบัญชาการตำรวจจังหวัดฮอกไกโด (Hokkaido Prefectural Police Headquarter)
ในแต่ละกองบัญชาการ จะมีผู้อำนวยการ (Director General) เป็นหัวหน้า แต่ละกองบัญชาการตำรวจภาค จะทำหน้าที่ควบคุม กำกับดูแลเท่าที่จำเป็น และให้การสนับสนุนตำรวจจังหวัดภายในพื้นที่รับผิดชอบ ภายใต้อำนาจหน้าที่และคำสั่งของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
         ตำรวจนครบาลโตเกียว มีสถานะที่ใหญ่กว่าตำรวจภาค เนื่องจากเมื่อเปรียบเทียบปริมาณงานและภารกิจแล้ว ตำรวจนครบาลโตเกียวมีกำลังพล ถึง 43,272 นาย และที่สำคัญคือ ตำแหน่งหัวหน้าตำรวจนครบาลโตเกียว มีระดับตำแหน่งที่สูงกว่าหัวหน้าตำรวจในระดับภาค หัวหน้าตำรวจนครบาลโตเกียว มีระดับตำแหน่ง Superintendent General ซึ่งเป็นตำรวจเบอร์สอง รองจาก ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (น่าจะหมายความว่า ถ้าลุกจากตำแหน่งหัวหน้าตำรวจนครบาลโตเกียว คือเป็น ผบ.ตร.ญี่ปุ่น ครับ)
          (2) ตำรวจจังหวัด (Prefectural Police) ตามกฎหมายตำรวจ กำหนดให้ในแต่ละหน่วยการปกครองจังหวัด (prefectural government) มีหน่วยงานตำรวจของตนเอง เพื่อปฏิบัติหน้าที่ภายในพื้นที่รับผิดชอบ องค์กรตำรวจของจังหวัดมีลักษณะกับโครงสร้างตำรวจแห่งชาติ คือ มีคณะกรรมการความปลอดภัยสาธารณะจังหวัด (The Prefectural Public Safety Commission-PPSC) และกองบัญชาการตำรวจจังหวัด (prefectural police headquarters) ปัจจุบันมี 47 จังหวัด (ไทยมี 76 จังหวัด)
          (3) สถานีตำรวจ (Police Station) มีจำนวน 1,174 สถานี (ตำรวจไทย 1,482 สถานี) กรมตำรวจนครบาลโตเกียว (MPD) และตำรวจจังหวัด (PPH) แบ่งพื้นที่รับผิดชอบออกเป็นเขต (district) แต่ละเขตอยู่ในความรับผิดชอบของสถานีตำรวจ ซึ่งมีหัวหน้าสถานีตำรวจ (station chief) เป็นหัวหน้า ในฐานะหน่วยปฏิบัติการในพื้นที่ สถานีตำรวจจะปฏิบัติหน้าที่ติดต่อใกล้ชิดกับชุมชนท้องถิ่น
          (4) ป้อมตำรวจ (Police Box) ที่เรียกว่า KOBAN และ CHUZAISHO ถือเป็นกลไกสำคัญในการรักษาความปลอดภัยในพื้นที่ต่างๆ  เป็นหน่วยที่อยู่ภายใต้สถานีตำรวจ และตั้งอยู่ในพื้นที่แขวง (sub-district) ของสถานีตำรวจ ทั้ง Koban และ Chuzaisho เป็นจุดสำคัญที่สุดของกิจกรรมตำรวจชุมชนและให้บริการในฐานะเป็น “ศูนย์ความปลอดภัยของชุมชน” (Community Safety Center) สำหรับประชาชนที่พักอาศัยในท้องถิ่น เป็นผู้แสดงบทบาทนำในการรักษาความปลอดภัยของชุมชนท้องถิ่นผ่านการเชื่อมโยงกับประชาชนและหน่วยการปกครองท้องถิ่น ตัวเลขในปี ค.ศ.2012 มี KOBAN จำนวน 6,240 แห่ง และมี SHUZAISHO จำนวน 4,714 แห่ง

     ญี่ปุ่นแต่งตั้ง ผบ.ตร. และหัวหน้าตำรวจจังหวัด กันอย่างไร ?
     ดังที่กล่าวมาแล้วว่าระบบตำรวจญี่ปุ่น มีลักษณะผสมผสานระหว่าง ระบบรวมอำนาจ กับกระจายอำนาจ ดังนั้น อำนาจการแต่งตั้ง ผบ.ตร. และหัวหน้าตำรวจ จึงไม่ได้อยู่กับรัฐบาลเพียงฝ่ายเดียว แต่เป็นการใช้อำนาจร่วมกันระหว่างฝ่ายต่างๆ คือ
          1) ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติญี่ปุ่น (NPA’s Commissioner General) ได้รับการแต่งตั้งหรือถอดถอนโดยคณะกรรมการความปลอดภัยสาธารณะแห่งชาติ หรือ NPSC โดยได้รับการอนุมัติจากนายกรัฐมนตรี ดังนั้น อำนาจในการแต่งตั้ง ผบ.ตร. จึงเป็นการใช้อำนาจร่วมกันของนายกรัฐมนตรี และ NPSC (ประธานคือ รมต.ที่ได้รับมอบหมาย สมาชิกอีก 5 คน แต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา)
          2) ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลลอนดอน (Superintendent General of MPD) ได้รับการแต่งตั้งโดยคณะกรรมการความปลอดภัยสาธารณะแห่งชาติ หรือ NPSC โดยความเห็นชอบจากคณะกรรมการความปลอดภัยสาธารณะโตเกียว และอนุมัติโดยนายกรัฐมนตรี ดังนั้น อำนาจแต่งตั้ง ผบช.น.โตเกียว จึงมีการถ่วงดุลกันระหว่างนายกรัฐมนตรี คณะกรรมการระดับชาติ และระดับท้องถิ่น (ผบช.น.โตเกียว เป็นยากกว่าเป็น ผบ.ตร.ญี่ปุ่น อีกนะครับ
          3) หัวหน้าตำรวจจังหวัด (Chief of Prefectural Police) ได้รับการแต่งตั้งโดยคณะกรรมการความปลอดภัยสาธารณะแห่งชาติ หรือ NPSC โดยความเห็นชอบจากคณะกรรมการความปลอดภัยระดับจังหวัด (PPSC) ที่เกี่ยวข้อง
          จึงกล่าวได้ว่า การแต่งตั้งผู้บริหารองค์กรในระดับจังหวัดและระดับชาติ เป็นการใช้อำนาจร่วมกันระหว่างอำนาจรัฐบาลกลาง กับคณะกรรมการระดับต่างๆ เพื่อเป็นหลักประกันความเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้บังคับใช้กฎหมาย

     งบประมาณ
     กลไกที่ทำให้ตำรวจต้องรับผิดชอบ ปฏิบัติงานตอบสนองความต้องการของท้องถิ่น อีกประการหนึ่ง คือ ระบบงบประมาณ ตำรวจญี่ปุ่นกับตำรวจอังกฤษ มีความคล้ายกันในประเด็นที่ตำรวจในท้องถิ่น ได้รับจัดสรรงบประมาณจาก 2 แหล่ง คือ รัฐบาลกลาง และรัฐบาลท้องถิ่น  ตำรวจจังหวัดได้รับงบประมาณ 2 แหล่ง คือ
     1) งบประมาณจากรัฐบาลแห่งชาติ ได้แก่ เงินเดือนและค่าตอบแทน ของข้าราชการตำรวจที่ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ Assistant Commissioners ขึ้นไป (ระดับยศ/ตำแหน่งตำรวจญี่ปุ่น มีทั้งหมด 11 ชั้นยศ เร่ิมตั้งแต่ Police Officer ซึ่งเทียบเท่าชั้นประทวนของตำรวจไทย) ซึ่งอาจเทียบได้ประมาณ รองผู้บังคับการ ของตำรวจไทย) ค่าใช้จ่ายการฝึกอบรมในโรงเรียน รวมทั้งการบำรุงรักษาและจัดการสิ่งอำนวยความสะดวกในการฝึกอบรม ค่าใช้จ่ายสำหรับการบำรุงรักษาและการจัดการการติดต่อสื่อสาร ค่าโทรศัพท์ การจัดซื้ออุปกรณ์ ยานพาหนะ เรือ เฮลิคอปเตอร์
    2) งบประมาณจากจังหวัด ได้แก่ เงินเดือนและค่าตอบแทนของข้าราชการตำรวจที่ดำรงตำแหน่ง Superintendent ลงมา รวมทั้งค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่จัดให้กำลังพล เช่น เครื่องแบบ ค่าใช้จ่ายสำหรับการป้องกันอาชญากรร การสืบสวนคดีอาญา ค่าใช้จ่ายสำหรับตำรวจจราจร และสิ่ิงอำนวยความสะดวกให้แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจ
    ระบบงบประมาณและอำนาจการแต่งตั้งหัวหน้าตำรวจ ในลักษณะดังกล่าว จึงทำให้ระบบตำรวจของญี่ปุ่น เป็นระบบผสมระหว่างการรวมอำนาจจากส่วนกลาง กับการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น
     กำลังพล
     ปี ค.ศ.2015 สำนักงานตำรวจแห่งชาติญี่ปุ่น มีกำลังพลรวม 294,700 นาย โดยประชากรญี่ปุ่น มีจำนวน 127.3 ล้านคน มากกว่าประเทศไทย 2 เท่า (อัตราตำรวจต่อประชากร 1: 432) มีพื้นที่รับผิดชอบ  377,930 ตารางกิโลเมตร พื้นที่เล็กกว่าประเทศไทย ซึ่งมีพื้นที่ 513,120 ตร.กม. แต่ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่เป็นเกาะ ประมาณ 3,000 เกาะ
     จากจำนวนกำลังพลทั้งหมด เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ปฏิบัติงานในส่วนกลางของสำนักงานตำรวจแห่งชาติญี่ปุ่น เพียงแค่ 7,700 นาย ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ตำรวจ 2,100 นาย ราชองครักษ์ 900 นาย และเจ้าหน้าที่ฝ่ายอำนวยการ 4,800 นาย
     เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจในตำรวจจังหวัด 287,000 นาย ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ตำรวจ 258,600 นาย เจ้าหน้าที่ฝ่ายอำนวยการ 28,300 นาย
     ตำรวจญี่ปุ่น มีตำรวจหญิง ประมาณ 21,000 นาย และตำรวจหญิงที่เป็นฝ่ายอำนวยการ 12500 นาย

     การผลิตและฝึกอบรมตำรวจ
     การเข้าเป็นตำรวจญี่ปุ่น ต้องมีคุณวุฒิการศึกษาอย่างน้อยระดับมัธยมศึกษา เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ได้รับการคัดเลือกเป็นตำรวจในจังหวัด จะเข้ารับการฝึกอบรมในโรงเรียนตำรวจจังหวัด ซึ่งรับผิดชอบการฝึกอบรมตำรวจใหม่ในระดับพื้นฐาน
          -ผู้ที่มีวุฒิมัธยมปลาย จะใช้เวลาฝึกอบรมรวม 21 เดือน แบ่งเป็น
                1.หลักสูตรฝึกอบรมก่อนปฏิบัติหน้าที่ 10 เดือน
                2.ออกไปฝึกอบรมระหว่างปฏิบัติหน้าที่ 3 เดือน เป็นการออกไปฝึกปฏิบัติงานจริง
                3.หลักสูตรฝึกอบรมก่อนปฏิบัติหน้าที่แบบก้าวหน้า 3 เดือน หลังจากฝึกการปฏิบัติงานจริงแล้ว กลับมาฝึกอบรมในโรงเรียนอีกครั้งหนึ่ง
                4.การปฏิบัติหน้าที่จริง 5 เดือน

           -ผู้ที่มีวุฒิปริญญาตรี ใช้เวลาการฝึกอบรม 15 เดือน แบ่งเป็น
                1.หลักสูตรฝึกอบรมก่อนปฏิบัติหน้าที่ 6 เดือน
                2.ออกไปฝึกอบรมระหว่างปฏิบัติหน้าที่ 3 เดือน เป็นการออกไปฝึกปฏิบัติงานจริง
                3.หลักสูตรฝึกอบรมก่อนปฏิบัติหน้าที่แบบก้าวหน้า 2 เดือน หลังจากฝึกการปฏิบัติงานจริงแล้ว กลับมาฝึกอบรมในโรงเรียนอีกครั้งหนึ่ง
                4.การปฏิบัติหน้าที่จริง 4 เดือน
     เมื่อสำหรับการฝึกอบรมและออกไปปฏิบัติหน้าที่แล้ว ผู้ที่ได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็น Sergeant และ Inspector (อาจเทียบกับยศ ดาบตำรวจ - รองสารวัตร ของไทย) จะได้รับการฝึกอบรมความรู้และทักษะในการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งใหม่ ที่โรงเรียนตำรวจภาค (Regional Police School)
     เมื่อได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็น Chief Inspector จะเข้ารับการอบรมในโรงเรียนตำรวจแห่งชาติ (National Police Academy) เพื่อพัฒนาความรู้และทักษะในด้านภาวะผู้นำและการบริหาร

     บทบาทการช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม
     บทบาทของตำรวจญี่ปุ่นที่แตกต่างจากตำรวจไทย ประการหนึ่ง คือ การช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม ตำรวจญี่ปุ่นพยายามยกระดับการช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรมในรูปแบบต่างๆ นอกเหนือจากการติดตามจับกุมผู้กระทำผิดกฎหมายมาลงโทษแล้ว การช่วยเหลือเหยื่อ ก็เป็นสิ่งจำเป็น มาตรการช่วยเหลือที่ตำรวจญี่ปุ่นดำเนินการ ได้แก่
     - การช่วยเหลือเยียวยาให้แก่เหยื่อหรือครอบครัว โดยรัฐบาลเป็นผู้จ่ายเงินชดเชยให้
     - ให้ข้อมูลข่าวสาร โดยจัดทำแผ่นพับเพื่ออธิบายขั้นตอน กระบวนการของการสืบสวนสอบสวน และมาตรการช่วยเหลือเหยื่อ
     - ลดภาระให้แก่เหยื่อ ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อและครอบครัว เป็นผู้ที่ได้รับความเสียหายทั้งทางร่างกาย จิตใจและทรัพย์สิน มาแล้ว ไม่ควรที่บุคคลเหล่านั้นจะต้องมาตกเป็นเหยื่ออีกครั้ง เจ้าหน้าที่ตำรวจจะได้รับการฝึกอบรมให้ดูแลเหยื่อ มีการจัดสิ่งอำนวยความสะดวก สถานที่ที่เหมาะสมสำหรับเหยื่อ
     - จัดการให้คำปรึกษาแก่เหยื่อ
     - ให้ความปลอดภัยแก่เหยื่อ
     - ประสานความร่วมมือกับองค์กรภาคเอกชน ในการให้ความช่วยเหลือเหยื่อ

เรื่องราวตำรวจญี่ปุ่น ยังไม่จบนะครับ
คราวหน้ามาดูระบบงานที่มีชื่อเสียงของตำรวจญี่ปุ่น คือ งานตำรวจชุมชน ในรูปของ KOBAN และ CHUZAISHO กันโดยเฉพาะครับ

ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
-Police of Japan 2015 และ 2016 จาก https://www.npa.go.jp/english/index.htm
-การสัมมานาเรื่อง Community Policing Strategies evolving from the Koban System of Japan and the Neighbourhood Police Centre System of Singapore ณ สิงคโปร์ ระหว่างวันท่ 1-7 ธันวาคม 2556
-Harry R. Dammer and Jay S. Albanese. Comparative Criminal Justice Systems. CA, US.: Wadsworth, 2014.

ความคิดเห็น

  1. ขอรบกวนสอบถามครับ
    กรณีชาวญี่ปุ่นต้องการขอหนังสือรับรองความประพฤติ เพื่อใช้ประกอบการขออนุญาตเข้ามาในราชอาณาจักร เขาต้องไปขอที่หน่วยงานใดครับ

    ตอบลบ

แสดงความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การทำงานของตำรวจยุคดิจิทัล ด้วยเทคโนโลยียุคใหม่

ตำรวจเยอรมัน