การทำงานของตำรวจยุคดิจิทัล ด้วยเทคโนโลยียุคใหม่


การทำงานของตำรวจยุคดิจิทัล ด้วยเทคโนโลยียุคใหม่

ช่วงเวลาก่อนสงกรานต์ 10-11 เม.ย.62 มีโอกาสไปร่วมประชุมและชมนิทรรศการในงาน APAC POLICETECH Conference & Exhibition ที่เขตปุตราจายา เสลังงอร์ มาเลเซีย โดยได้รับมอบหมายจาก พล.ต.ท.ปิยะ อุทาโย ผู้ช่วย ผบ.ตร.ในฐาน CIO ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ  เป็นงานประชุมที่จัดโดยภาคเอกชนร่วมกับตำรวจแห่งชาติมาเลเซีย โดยมีองค์กรที่เป็นแม่งานหลัก คือ KOP MANTAP BERHAD
                น่าสนใจว่า KOP MANTAP BERHAD มีสถานะเป็นบริษัทภายใต้กฎหมายบริษัท 1965 (the Companies Act, 1965) ซึ่งแขนหนึ่งของการไปลงทุน (investment arm) ของสหกรณ์ตำรวจมาเลเซีย (The Royal Malaysia Police Cooperative Berhad) หรือเรียกย่อว่า KPD (Koperasi Polis Diraja Malaysia Berhad) บริษัท KOP MANTAP จะเน้นการเติบโต้ของรายได้ของสหกรณ์ตำรวจมาเลเซีย (http://www.kopmantap.com/wp-content/uploads/2019/02/Company-Profile-Kopmantap-2018.pdf)





                การจัดงานครั้งนี้ KOP MANTAP เป็นแม่งานหลักโดยมีบริษัทเอกชนที่มีบริษัทแม่อยู่ต่างประเทศ และมีสาขาอยู่ในมาเลเซียหรือภูมิภาคเอเซีย มาร่วมเป็นสปอนเซอร์และนำเทคโนโลยีต่างๆ มาจัดแสดง วัตถุประสงค์ในการจัดงานนี้อย่างเป็นทางการ ก็คือ การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการนำเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้ประโยชน์ในงานตำรวจ ทั้งนี้ เทคโนโลยีจะเป็นประโยชน์ในการรับมือกับอาชญากรรมแบบใหม่ อาชญากรรมองค์กรข้ามชาติ การก่อการร้าย อาชญากรรมไซเบอร์ จำเป็นต้องมีการสร้างเครือข่ายทำงานร่วมกัน การแลกเปลี่ยนข้อมูลสารสนเทศที่จะต้องมีการปรับปรุง นอกจากนี้ เป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ส่วนวัตถุประสงค์แฝง น่าจะเป็นเพื่อการส่งเสริมการขายหรือการโฆษณาขายสินค้าด้านเทคโนโลยีให้กับหน่วยงานตำรวจนั่นเองครับ ไม่เป็นไรครับ เค้าก็มีเจตนาดีที่ต้องเสนอสิ่งที่ดีให้กับหน่วยงานตำรวจ เราก็ได้รับโอกาสที่ดีในการเรียนรู้ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกัน 


ลองสรุปๆ บทเรียนที่ได้จากการประชุมและชมนิทรรศการในครั้งนี้ดูนะ ครับ (ปล. ออกตัวว่าไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี หลายเรื่องก็เป็นเรื่องทางเทคนิค จึงอาจไม่สามารถอธิบายได้ชัดเจนนักครับ) 

            การส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมในงานบังคับใช้กฎหมาย
บทบาทสำคัญประการหนึ่ง ขององค์การตำรวจสากล (INTERPOL) คือการส่งเสริมให้เกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรม (Innovation) เพื่อนำมาใช้การบังคับใช้กฎหมาย การทำให้งานตำรวจเกิดการเปลี่ยนแปลงมิใช่เพียงการคิดค้นอุปกรณ์เทคโนโลยีใหม่มาใช้กับงานตำรวจเท่านั้น  “นวัตกรรมกับงานตำรวจ” มิใช่แค่นำอุปกรณ์เทคโนโลยีหรือคอมพิวเตอร์มาใช้เท่านั้น แต่ครอบคลุมไปมากกว่านั้น ได้แก่
o   การมีความคิดที่มุ่งการมองไปข้างหน้า (forward looking mind set)
o   ไม่ใช่เพียงเรื่องของเทคโนโลยีเท่านั้น (not only about technology)
o   ความสามารถในการสร้างสรรค์ที่ได้รับการยกระดับ (enhanced creativity)
o   ไม่ทำงานแบบไม่แลกเปลี่ยนข้อมูลกันอีกต่อไป (no longer work in silos)
                องค์การตำรวจสากล (INTERPOL) ได้มาจัดตั้งศูนย์รวมในระดับโลกขององค์การตำรวจเพื่อนวัตกรรม (INTERPOL Global Complex for Innovation) โดยมีศูนย์นวัตกรรม (Innovation center) ทำหน้าที่สนับสนุน ส่งเสริมให้เกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรมสำหรับงานบังคับใช้กฎหมายขององค์กรตำรวจในประเทศต่างๆ นวัตกรรมที่มุ่งเน้นให้เกิดขึ้น แบ่งเป็น 2 ลักษณะควบคู่กัน คือ นวัตกรรมด้านยุทธศาสตร์ (Strategic Innovation) และนวัตกรรมที่นำไปประยุกต์ใช้ (Applied Innovation) โดยมีการปฏิบัติงานแบ่งเป็น 4 ห้องปฏิบัติการ ดังนี้
                1. ห้องปฏิบัติการที่เน้นการมองไปข้างหน้าและอนาคต (Futures and Foresight Lab) เพื่อคาดการณ์ล่วงหน้าถึงสถานการณ์ ปัญหาอาชญากรรมในอนาคต การเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์โลกที่จะกระทบต่อความปลอดภัย อาชญากรรม เป็นต้น
                2. ห้องปฏิบัติการงานตำรวจที่ปรับตัว (Adaptive Policing Lab) เพื่อสร้างสรรค์ หาแนวทางการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมที่เหมาะสมกับความต้องการที่มีความแตกต่างกันระหว่างประเทศ หรือภูมิภาคต่างๆ
ตัวอย่างของการทำงานของตำรวจที่ต้องปรับตัวในยุคใหม่ เช่น การใช้อากาศยานไร้คนขับ (drone) ในยุคปัจจุบันที่ส่งผลต่อการปฏิบัติของตำรวจ โดรนสามารถเป็นได้ทั้งเครื่องมือที่ช่วยเจ้าหน้าที่ตำรวจ เช่น ใช้ตรวจตรา ตรวจการณ์ในที่เกิดเหตุ เฝ้าระวังความปลอดภัย เป็นต้น โดรน ก็เป็นภัยคุกคามความปลอดภัยที่เจ้าหน้าที่ตำรวจก็จะต้องมีมาตรการการต่อต้านโดรน และการจัดการเมื่อเกิดเหตุ โดรน ยังเป็นพยานหลักฐานเมื่อเกิดเหตุ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องรู้จักวิธีการเก็บรวบรวมและพิสูจน์พยานหลักฐานจากโดรนอีกด้วย
                3. ห้องปฏิบัติการด้านเทคโนโลยีใหม่และพื้นที่ไซเบอร์ (Cyberspace and New Technology Lab) เจ้าหน้าที่ตำรวจในยุคดิจิทัล จำเป็นต้องรับมือกับอาชญากรรมทางไซเบอร์ ซึ่งมีการอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) ที่ต้องมีเครื่องมือวิเคราะห์ การจัดการกับเว็บไซต์มืด (Dark net) หรือเว็บใต้ดิน (Deep web) ซึ่งเป็นช่องทางที่ใช้กระทำผิด เช่น จำหน่ายสินค้าผิดกฎหมาย สร้างเครือข่ายการก่อการร้าย ใช้ความรุนแรง เป็นต้น
                4. ห้องปฏิบัติการทางนิติวิทยาศาสตร์ (Digital Forensics Lab) เพื่อสร้างสรรค์แนวทางการจัดการกับพยานหลักฐานทางดิจิทัล
                องค์การตำรวจสากล (INTERPOL) มิได้มีบทบาทจำกัดเฉพาะเรื่องการแลกเปลี่ยนข้อมูลสารสนเทศ การประสานความร่วมมือจัดการกับคนร้ายเพียงอย่างเดียว แต่พยายามมีบทบาทในการสนับสนุนด้านการสร้างสรรค์นวัตกรรมสำหรับการบังคับใช้กฎหมายอีกด้วย (นำเสนอโดย Michael Ang, Deputy Director of Innovation Center, INTERPOL Global Complex for Innovation)

            การเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลใหม่ของตำรวจสิงคโปร์
                สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี รวมทั้งการนำเทคโนโลยีมาใช้ในงานตำรวจ โดยมีพัฒนการอย่างต่อเนื่อง ตำรวจสิงคโปร์ไปไกลกว่าแค่การใช้ระบบเทคโนโลยีจัดเก็บข้อมูลข่าวสาร ติดตั้งกล้อง CCTV หรือใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีด้านต่างๆ เพียงเท่านั้น แต่เป็นการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีต่างๆ ที่มีอยู่อย่างเชื่อมโยงกัน (Adoption of Cutting Edge Technology) ได้แก่
1.       เครือข่ายที่ครอบคลุมของเครื่องมือตรวจจับอัจริยะ (Comprehensive Network of smart sensor) เราทราบกันว่าสิงคโปร์มีระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) ติดตั้งอยู่ทั่วทุกพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณที่พักอาศัยอาคารสูง ช่องทางเข้าออก ย่านธุรกิจ อย่างไรก็ตาม กองกำลังตำรวจสิงคโปร์ ยังพัฒนาการให้สามารถเชื่อมต่อข้อมูลภาพจากแหล่งต่างๆ เข้าด้วยกัน ทั้งของตำรวจ หน่วยงานภาครัฐและเอกชน และพัฒนาซอฟ์ทแวร์ให้สามารถวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อให้สามารถตรวจจับอาชญากรและเหตุการณ์อาชญากรรมได้
2.       การใช้อากาศไร้คนขับ หรือโดรน (Drones) และหุ่นยนต์เลียนแบบมนุษย์ (Droids)
3.       การเพิ่มความสามารถด้านการสืบสวนสอบสวนโดยเทคโนโลยี (Boosting Investigation Capabilities with Tech) ได้แก่
o   เครื่องมือสแกน 3 มิติ สำหรับการจัดทำรายงานเอกสารในคดีอาชญากรรมที่มีความซับซ้อน และการตรวจที่เกิดเหตุจราจร
o   เครื่องมือค้นหาพยานหลักฐานทางดิจิทัล (Digital Evident Search Tool DIGEST) ซึ่งเป็นเครื่องมือในการดำเนินกระบวนการด้านนิติวิทยาศาสตร์จากข้อมูลดิจิทัลโดย อัตโนมัติ เพื่อใช้ในคดีอาชญากรรมทางไซเบอร์
o   TRIAGE เป็นการใช้แพลทฟอร์มเพื่อนำข้อมูลจากการสืบสวนสอบสวนเข้าสู่ระบบดิจิทัล ทำให้การปฏิบัติงานด้านการสืบสวนสอบสวนไร้เอกสาร
o   JARVIS เป็นโปรแกรมที่ใช้สำหรับการคัดกรองข้อมูล เพื่อช่วยให้พนักงานสอบสวนสามารถค้นหาข้อมูลจากฐานข้อมูลตำรวจต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วและดีขึ้น
4.       การปฏิบัติงานตำรวจที่อาศัยข้อมูล (Data-Driven Policing) โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่จะต้องมีอุปกรณ์ที่สามารถให้ข้อมูลได้อย่างถูกต้องและทันเวลา เพื่อให้สามารถระงับเหตุอาชญากรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีสมาร์ทโฟนเป็นเครื่องมือที่สามารถติดต่อกับศูนย์ควบคุมสั่งการได้และส่งข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว
การนำเทคโนโลยีมาใช้กับงานตำรวจ แม้ว่าจะเป็นเรื่องที่ดีเพียงใด แต่จะประสบความสำเร็จได้ ปัจจัยเรื่องทักษะของเจ้าหน้าที่ผู้ใช้เทคโนโลยีเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง กองกำลังตำรวจสิงคโปร์ ได้จัดตั้งหน่วยงาน ชื่อ “หน่วยงานเปลี่ยนผ่านด้านดิจิทัล” (Digital Transformation Department) เพื่อทำให้การเปลี่ยนผ่านสู่องค์กรด้านดิจิทัลเป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยเจ้าหน้าที่ด้านปฏิบัติการเทคโนโลยีจะทำหน้าที่ต่างๆ เช่น เป็นผู้ทดสอบเครื่องมือต้นแบบทางเทคโนโลยี ดำเนินการประชุมกับผู้ใช้เทคโนโลยี เป็นตัวแทนแห่งการเปลี่ยนแปลงขององค์กร เป็นต้น

            เทคโนโลยีล้ำสมัยสำหรับงานตำรวจในอนาคต
                AI หรือ Artificial Intelligence อาจจะเป็นเรื่องล้าสมัยในอนาคตอันใกล้นี้ เทคโนโลยีการจดจำใบหน้า (Face Recognition) ที่ใกล้ตัวเรามากที่สุดจากการใช้เฟซบุ๊กในปัจจุบัน จะเป็นสิ่งล้าสมัยไปแล้ว มีการนำเสนอถึงสิ่งที่มากกว่าการจดจำใบหน้า คือ Deep Learning 

                มีแพลทฟอร์มแอพพลิเคชั่นที่สามารถวิเคราะห์ภาพเคลื่อนไหวจากวิดีโอได้ โดยนำภาพของบุคคลทั้งใบหน้า รูปร่าง การเคลื่อนไหว ยานพานหนะในถนน และสิ่งที่มิใช่ยานพาหนะ มาวิเคราะห์สิ่งที่เป็นเป้าหมาย และนำไปสู่การแจ้งเตือนเหตุการณ์ที่เป็นอาชญากรรม ทำให้อนาคตในเมืองที่เราอาศัยอยู่จึงเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยเซ็นเซอร์ต่างๆ 



หลักประกันข้อมูลดิจิทัลของบุคคลที่สาม (Assurance of Third-Party Digital Material)
                ในโลกยุคดิจิทัล และสังคมออนไลน์ ที่คนในสังคมส่งข้อมูลข่าวสารผ่านโลกไซเบอร์ ที่สามารถกระจายข่าวสารออกไปได้อย่างรวดเร็ว ในแง่ดีคือ เราสามารถรับรู้ข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว แต่ในอีกแง่หนึ่ง หากมีข้อมูลข่าวสารที่ผิดพลาด หรือไม่เป็นความจริงถูกส่งออกไป ก็จะสามารถเผยแพร่ออกไปอย่างรวดเร็วและสร้างความเสียหายให้แก่บุคคลหนึ่งบุคคลใดเป็นอย่างมาก
                ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา พยานหลักฐานทางดิจิทัล สามารถได้มาหลากหลายช่องทางและมีจำนวนมาก เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายจำเป็นต้องมีการคัดกรองหลักฐานทางดิจิทัล ที่จะสามารถใช้พิสูจน์ความผิดหรือค้นหาความจริงได้ และที่สำคัญ นอกเหนือจากกระบวนการได้มาซึ่งพยานหลักฐานจะต้องมีความชอบธรรม เป็นไปตามกฎหมายแล้ว ยังควรคำนึงถึงการคุ้มครองสิทธิของบุคคลที่สาม คือ เหยื่อ หรือบุคคลอื่น อีกด้วย
                สำหรับการปฏิบัติต่อเหยื่อหรือพยาน เจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องไม่ใช้อำนาจบังคับในการยึดอุปกรณ์จากผู้กล่าวหาหรือพยาน เป็นการไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะใช้อำนาจเช่นนั้น การใช้กำลังจะต้องให้ข้อมูลแก่เหยื่อหรือพยานถึงเหตุผลความจำเป็นในการนำอุปกรณ์มาตรวจสอบในระหว่างการสอบสวน และดำเนินการตามกระบวนการแจ้งเตือนถึงกระบวนการทางดิจิทัล (Digital Processing Notice) ซึ่งจะให้คำอธิบายถึงกระบวนการ และสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นต่อข้อมูลที่ได้มา
                การทำข้อผิดพลาดเกี่ยวกับข้อมูลทางดิจิทัลซ้ำๆ ย่อมจะทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสูญเสียความเชื่อมั่นจากประชาชน การปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับพยานหลักฐานทางดิจิทัล ควรนำมาเฉพาะสิ่งที่จำเป็น และจะต้องวิเคราะห์ถึงสิ่งที่จำเป็นและต้องการ (avoid analysis paralysis) เจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องไม่ปฏิบัติต่อเหยื่อเช่นเดียวกับผู้ต้องหาเมื่อต้องการเก็บรวบรวมพยานหลักฐาน และมั่นใจว่าได้ใช้เทคนิคกับข้อมูลของบุคคลที่สามอย่างปลอดภัยเพื่อนำไปสู่กระบวนการในศาล

            เทรนด์ใหม่ของเทคโนโลยีสำหรับเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ปฏิบัติในพื้นที่
                เทคโนโลยีใหม่หรับงานตำรวจ จะเป็นประโยชน์ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจในด้านต่างๆ เช่น
o   ได้ข้อมูลสารสนเทศที่ถูกต้องและทันเวลา ณ จุดที่ต้องการ
o   ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจมีเวลามากขึ้นกับชุมชนและการแก้ไขปัญหาอาชญากรรม
o   การปฏิบัติงานที่มีความปลอดภัย
o   ได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่ากับการลงทุน

ความท้าทายของการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในงานตำรวจ ได้แก่ ปัญหาการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ซึ่งปัจจุบันมีระบบสัญญาณต่างๆ จำนวนมากและแตกต่างกัน 4G WIFI 3G การเข้าถึงระบบอินเทอร์เน็ตที่แตกต่างกันระหว่างเขตเมืองกับเขตชนบท  พื้นที่ที่มีการจราจรของข้อมูลหนาแน่น ระบบการรักษาความปลอดภัย เป็นต้น
                การใช้เทคโนโลยีสำหรับงานตำรวจในระดับปฏิบัติงานที่นิยมกันในประเทศที่มีขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีสูง มีการวางระบบติดต่อเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ปฏิบัติในพื้นที่ กับศูนย์ควบคุมสั่งการเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยใช้เทคโนโลยีหลายรูปแบบเข้ามา ได้แก่
o   กล้องติดตัว (Body camera) ซึ่งนอกจากจะบันทึกภาพเหตุการณ์ขณะเจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่แล้ว ยังผนวกเทคโนโลยีจดจำใบหน้า (face recognition) โดยเมื่อบันทึกภาพบุคคลในพื้นที่แล้ว สามารถส่งข้อมูลเพื่อเปรียบเทียบกับฐานข้อมูลและแจ้งเตือนต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ รวมทั้งการระบบตรวจสอบหมายเลขทะเบียนรถยนต์ (License Plate) ที่สามารถตรวจสอบหมายเลขทะเบียนได้อย่างรวดเร็วทันที


o   ทำให้รถยนต์สายตรวจเป็นสถานีตำรวจเคลื่อนที่ (In-vehicle policing) อุปกรณ์ภายในรถยนต์ที่สามารถตรวจสอบหรือติดตามเส้นทางของรถยนต์ (Digital Audit Trail) การรับ-ส่งข้อมูลในทันที เพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติ มีการวางระบบเครือข่ายที่ปลอดภัยสามารถส่งข้อมูลระหว่างรถยนต์สายตรวจกับศูนย์ควบคุมสั่งการ ซึ่งรวมถึงข้อมูลเพื่อการบำรุงรักษารถยนต์ด้วย ซึ่งระบบที่บริษัทต่างๆ พยายามพัฒนา ก็เพื่อให้เกิดความรวดเร็วในการส่งข้อมูลต่างๆ โดยอัตโนมัติ และทัน (real time) แตกต่างจากระบบเดิมที่อาจต้องใช้วิทยุเข้ามาสอบถามข้อมูลจากศูนย์ควบคุมสั่งการ


                มีตัวอย่างของประเทศที่นำระบบดังกล่าวมาใช้งาน เช่น ไอร์แลนด์ โดยตำรวจไอริช (Irish Police) มีเป้าหมายให้มีอัตราในการตรวจจับผู้กระทำผิดให้มากขึ้น เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถใช้เวลาในการปฏิบัติงานในท้องถนนมากขึ้น มีระบบการสนับสนุนและบริหารจัดการแบบอัตโนมัติ และปรับปรุงการแก้ปัญหาให้แก่ประชาชนที่แจ้งเหตุ 

ระบบเทคโนโลยีที่นำมาใช้ มีระบบสนับสนุนข้อมูลข่าวสารแก่รถยนต์สายตรวจแบบทันที (Real time in-vehicle information) ซึ่งเปลี่ยนแปลงจากระบบเดิมที่เจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่จะต้องวิทยุไปสอบถามศูนย์ควบคุม เป็นการติดต่อและตรวจสอบข้อมูลผ่านระบบคอมพิวเตอร์ ที่สามารถเข้าถึงฐานข้อมูลได้โดยตรง ทุกที่ทุกเวลา
                นอกจากนี้ ยังมีระบบการบริหารจัดการอื่นๆ เช่น การบำรุงรักษารถยนต์สายตรวจ ซึ่งระบบคอมพิวเตอร์จะประมวลผลและแจ้งเตือนเกี่ยวกับการบำรุงรักษายนต์โดยอัตโนมัติ การบันทึกเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น การเปิดสัญญาณไฟวับวาบ การเติมน้ำมัน 
                ระบบการแลกเปลี่ยนข้อมูลการข่าว ทำให้รถยนต์สายตรวจสามารถส่งข้อมูลข่าวสารได้โดยตรงจากที่เกิดเหตุ ทำให้ศูนย์ควบคุมสั่งการก็ได้รับข้อมูลที่จะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานต่อไป รวมทั้งการส่งข้อมูลที่เป็นประโยชน์ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ทันที เช่น ข้อมูลผู้บาดเจ็บไปยังโรงพยาบาล เป็นต้น 

            ตำรวจสายตรวจสมาร์ทของดูไบ
                ตำรวจดูไบ มีโครงการ Dubai Smart Police Station หรือ SPS เพื่อยกระดับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ รวมทั้งการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาสนับสนุนการปฏิบัติงานตำรวจ โดยมีระบบเชื่อมโยงข้อมูล การติดตั้งเทคโนโลยีกล้องโทรทัศน์วงจรปิดที่รถยนต์สายตรวจ ที่มีระบบการตรวจจับใบหน้า (Face Recognition) ที่มีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาช่วยวิเคราะห์ข้อมูล นอกจากนี้ มีการใช้เทคโนโลยีควบคุมรักษาความปลอดภัยในพื้นที่ต่างๆ


https://www.youtube.com/watch?v=t9dNi4WJSIA
การใช้เทคโนโลยีให้คุ้มค่า จำเป็นต้องมีการบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น ระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด ควรมีการเชื่อมต่อข้อมูลเพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกัน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

            การเรียนรู้ถึงประเทศต่างๆ ในการใช้เทคโนโลยี น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับการพัฒนางานตำรวจไทย อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเทคโนโลยีสมัยใหม่ จะมีขีดความสามารถและเป็นประโยชน์อย่างไร ภายใต้ข้อจำกัดและความเหมาะสมกับบริบทของแต่ละประเทศ เราควรพิจารณากันว่าเทคโนโลยีประเภทใด แบบใดที่จะเหมาะสมสำหรับบ้านเรา รวมทั้งศักยภาพของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์สูงสุด และคุ้มค่ากับงบประมาณที่จะต้องใช้


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เรียนรู้เรื่องราวตำรวจญี่ปุ่นกันครับ

ตำรวจเยอรมัน