ตำรวจเยอรมัน

มาทำความรู้จักกับตำรวจเยอรมันกันครับ
 
! เยอรมนี ทำอย่างไรให้ประชาชนเชื่อมั่นตำรวจ ?
! ตำรวจเยอรมันทำให้ประชาชนเชื่อมั่นได้อย่างไร?
สองคำถามนี้ เหมือนกันหรือไม่ ลองหาคำตอบกันดีไม๊ครับ...
            28 พ.ค.60 ถึง 3 มิ.ย.60 ได้รับโอกาสจาก พล.ต.ท.ปิยะ อุทาโย ผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ส่งไปร่วมสัมมนา ศึกษาดูงานด้านการฝึกอบรมตำรวจ ที่ โรงเรียนตำรวจแห่งหน่วยงานตำรวจเตรียมพร้อมที่ 2 เมืองไอช์ซะเต็ด รัฐบาวาเรีย สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (Police Academy of the II Bavarian Standby Police in Eichstätt, Bavaria, Federal Republic of Germany)ด้วยการสนับสนุนจากมูลนิธิฮันส์ไซเดล
     การศึกษาดูงานครั้งนี้ นอกเหนือจะได้รับความรู้เกี่ยวกับระบบการฝึกอบรมตำรวจเยอรมันแล้ว ยังได้เรียนรู้เกี่ยวกับการจัดองค์กรตำรวจเยอรมัน และการบริหารงานอีกด้วย กลับมาแล้วจึงหาข้อมูลเพิ่มเติมมาเล่าสู่กันฟังครับ

 
          ข้อมูลพื้นฐานและอาชญากรรมในเยอรมนี
          เยอรมนี มีพื้นที่ 357,022 ตารางกิโลเมตร พื้นที่เล็กกว่าประเทศไทยซึ่งมี 513,115 ตร.กม. มีประชากร 81,305,856 คน มากกว่าประเทศไทยซึ่งมีประมาณ 65 ล้านคน เป็นประเทศที่มีประชากรหนาแน่นมากที่สุดในยุโรป 
          เยอรมนี หรือชื่อประเทศในภาษาเยอรมัน คือ Bundesrepublik Deutschland ปกครองแบบสหพันธ์สาธารณรัฐ (Federal Republic of Germany) แบ่งการปกครองออกเป็น 16 รัฐ พลเมืองเยอรมัน ส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์ โดยเป็นโปรเตสแตนต์ 34% คาทอลิก 34% เยอรมนีตั้งอยู่กลางทวีปยุโรป มีประเทศเพื่อนบ้านมากโดยมีพรมแดนติดกับประเทศอื่นจำนวนถึง 9 ประเทศ (เดนมาร์ก โปรแลนด์ เช็ค ออสเตรีย สวิสเซอร์แลนด์ ฝรั่งเศส ลักเซ็มเบิร์ก เบลเยี่ยม เนเธอร์แลนด์) จึงไม่น่าแปลกใจที่เยอรมนีในปัจจุบันต้องรับผู้อพยพจากพื้นที่อื่นๆ จำนวนมาก
          เยอรมนี ปกครองแบบสาธารณรัฐที่มีประธานาธิบดี แต่เป็นตำแหน่งเชิงพิธีการ ผู้ที่มีอำนาจบริหาร เป็นหัวหน้ารัฐบาลเยอรมันเรียกว่า chancellor หรือนายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้าพรรคการเมือง ที่มีเสียงมากที่สุดในสภา โดยส่วนใหญ่ไม่มีพรรคใดได้คะแนนเสียงเกินกึ่ง รัฐบาลจึงมักเป็นรัฐบาลผสม 
          สภาพอาชญากรรม ในช่วงหลังการรวมเยอรมันตะวันออกกับตะวันตก มีอาชญากรรมเพิ่มขึ้น แต่ช่วงปี ค.ศ.1995 -2004 อาชญากรรมลดลงเล็กน้อย ในช่วง 2009-2010 ภาพรวมของอาชญากรรมลดลงประมาณ 2% โดยคดียาเสพติดและอาชญากรรมที่รุนแรงลดลง 2.1 และ 3.5 ตามลำดับ เยอรมันเจอปัญหาเช่นเดียวกับประเทศยุโรปอื่นๆ ในเรื่องยาเสพติด เยอรมนีเป็นแหล่งสารเคมีที่ใช้ผลิตโคเคนในอเมริกาใต้ และเป็นจุดผ่านและเป็นลูกค้าของยาเสพติดประเภทเฮโรอีนและกัญชา จากเอเซียตะวันตกเฉียงใต้ โคเคนจากลาตินอเมริกา และยาเสพติดสังเคราะห์ที่ผลิตในยุโรป
     ประเด็นที่ส่งผลต่อระบบยุติธรรมทางอาญาของเยอรมนี ได้แก่ 
         1.ปัญหาอาชญากรรมและยาเสพติด
          2.ผู้อพยพจากประเทศที่มีพรมแดนติดกัน 
          3.ความรุนแรงที่เกี่ยวกับเรื่องชาติพันธุ์
          ผู้อพยพจากเชคโกสโลวาเกีย (เดิม) กรีซ อิตาลี ตุรกี รวมทั้งผู้อพยพเชื้อชาติเยอรมันที่มาจากประเทศที่มีพรมแดนติดกัน ได้ส่งผลต่อการบริหารจัดการภายในประเทศ ประเทศเยอรมนียากที่จะผสมกลมกลืนคนเหล่านี้เข้าด้วยกัน   ปัญหาความแตกต่างทางเศรษฐกิจ การปะทะทางวัฒนธรรม การเลือกปฏิบัติ ชาตินิยม ทำให้สังคมเยอรมันที่เคยเป็นหนึ่งเดียวก่อนหน้านี้ เกิดการแบ่งแยก และปัญหาเหล่านี้ ส่งผลเข้าไปถึงกระบวนการยุติธรรมทางอาญา เหตุผลของความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ กลุ่มฝ่ายขวาสุดโต่ง ได้กล่าวตำหนิถึงความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นจากชาวต่างชาติ ดังนั้น จึงเกิดปัญหาความรุนแรงต่อชาวต่างชาติที่เกิดจากคนเยอรมันส่วนน้อยบางคน และมีอาชญากรรมจากความเกลียดชัง (hate crime) เพิ่มขึ้นในเยอรมนี
          ตั้งแต่ปี 1990 ผู้กระทำผิดคดีร้ายแรง ที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับความเกลียดชังชาวต่างชาติ (xenophobic) หรือฝ่ายขวา มีจำนวนมากขึ้น ในปี 2008 สถิติของตำรวจระบุว่ามีคดีเกือบ 14,000 คดี ที่มีลักษณะที่เกี่ยวข้องกับพวกสุดโต่งหรือนิยมขวา ซึ่งรวมถึงคดีอาชญากรรมรุนแรง 735 คดี
            วิวัฒนาการตำรวจ
          การจัดกองกำลังตำรวจที่มีลักษณะเป็นองค์กร เกิดขึ้นครั้งแรกในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 เมื่อราชอาณาจักรเยอรมันจำนวจมาก รับรูปแบบการจัดกองกำลังตำรวจที่มีลักษณะเป็นองค์กรในลักษณะคล้ายกับรูปแบบที่พัฒนาขึ้นโดยนโปเลียนในฝรั่งเศส ในรัชสมัยของ Otto von Bismarck ในช่วงทศวรรษที่ 1870 การปกครองมีลักษณะรวมศูนย์อำนาจมากขึ้น มีระบบราชการที่เข้มแข็ง รวมทั้งตำรวจก็เป็นส่วนหนึ่งของระบบราชการดังกล่าวด้วย
        ในช่วงปี ค.ศ.1933-1945 เมื่ออยู่ภายใต้การปกครองของฮิตเลอร์และพรรคสังคมนิยมแห่งชาติ กองกำลังตำรวจได้เพิ่มจำนวน จาก 200,000 คน เป็น 1.5 ล้านคน หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ตำรวจอยู่ภายใต้การกำกับของประเทศพันธมิตร และในปี 1949 รัฐ 11 รัฐ ในเยอรมันตะวันตก มีอำนาจตั้งกองกำลังตำรวจของตนเอง โดยในส่วนของเยอรมันตะวันออก (German Democratic Republic - GDR) ภายใต้รัฐบาลโซเวียต ได้จัดตั้งกองกำลังตำรวจส่วนกลางแห่งเดียว ในลักษณะอำนาจโครงสร้างรวมศูนย์อำนาจ ในการจัดงานตำรวจ
     ในปี ค.ศ.1990 เมื่อมีการรวมเยอรมันตะวันออกเข้ากับเยอรมันตะวันตก ทำให้มีรัฐทั้งหมด 19 รัฐ ตำรวจของเยอรมันตะวันออก ได้ถูกสลายไปหลังจากมีการรวมประเทศ และนำตำรวจเยอรมันตะวันออกจำนวนมากเข้าไปอยู่ในกองกำลังรัฐใหม่ ยกเว้นเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ที่มีความใกล้ชิดกับตำรวจลับ (secret police)  ของเยอรมันตะวันออก
          กฎหมายอาญาเยอรมัน
          ระบบกฎหมายเยอรมัน มีที่มาจากตัวบทกฎหมายที่ออกโดยอำนาจนิติบัญญัติ (statute) กฎระเบียบทางปกครองหรือคำสั่งของฝ่ายบริหาร และธรรมเนียมประเพณี (custom) 
          ตัวบทกฎหมาย ที่สำคัญมี 2 ส่วน คือ กฎหมายสหพันธรัฐออกโดยรัฐสภา (Bundestag) และกฎหมายของรัฐ  ซึ่งออกโดยฝ่ายนิติบัญญัติของรัฐ  
          สำหรับคำสั่งของฝ่ายบริหาร (ordinance) ออกโดยรัฐบาลกลาง รัฐมนตรีของรัฐบาลกลาง หรือรัฐบาลของรัฐ
          ส่วนธรรมเนียมประเพณี ไม่ได้เป็นแหล่งที่มาของกฎหมายอย่างเป็นทางการ แต่ธรรมเนียมประเพณีเป็นสิ่งที่กำหนดทิศทางในเรื่องราวเกี่ยวกับกฎหมายในระยะเวลาอันยาวนานและต่อเนื่อง เป็นสิ่งที่ได้รับการยอมรับและปฏิบัติเป็นปกติวิสัยและไม่เป็นทางการ ในฐานะเป็นหลักนิติธรรม (rule of law)
          ประมวลกฎหมายอาญา เป็นหลักการที่ถูกหล่อหลอมรวมกันอย่างเป็นระบบและจัดทำเป็นตัวบทที่ทำให้สามารถใช้กฎหมายในกรณีต่างๆ ได้อย่างชัดเจน คำพิพากษาของศาลที่มีการพิพากษาในคดีก่อนๆ ไม่ได้นำมาใช้เป็นที่มาของกฎหมาย ในแบบระบบกฎหมายประเพณี (common law) แต่ใช้เป็นแนวทางโดยการตัดสินของศาลชั้นต้น ดังนั้นคำพิพากษาดังกล่าวจึงมีผลต่อบรรทัดฐานทางกฎหมายได้ส่วนหนึ่ง 
          ประมวลกฎหมายอาญาเยอรมัน แบ่งประเภทคดีออกเป็น 
          -ความผิดอาญาร้ายแรง คือคดีที่มีโทษขั้นต่ำเกิน 1 ปี ขึ้นไป 
          -ความผิดเล็กน้อย คือมีโทษจำคุกต่ำกว่า 1 ปี หรือโทษปรับ 
          เยอรมนี เป็นประเทศแบบสหพันธ์รัฐ ที่อนุญาตให้แต่ละรัฐ ดำเนินการเกี่ยวกับศาลอาญาของตนเอง แต่กฎหมายเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม และกฎหมายทางอาญา ส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับอำนาจนิติบัญญัติของรัฐบาลกลาง ในทางปฏิบัติหมายความว่ากฎหมายของสหพันธ์รัฐก็ถูกนำมาใช้กับศาลของรัฐด้วย
 
          ระบบยุติธรรมทางอาญา
         เนื่องจากเยอรมนี เป็นประเทศที่ปกครองด้วยระบบสหพันธรัฐ ในลักษณะเดียวกับประเทศสหรัฐอเมริกา แต่ละรัฐสามารถดำเนินกิจการภายในรัฐได้เอง รวมทั้งการจัดกิจการตำรวจ ราชทัณฑ์ และการจัดการของศาลชั้นต้น ตัวอย่างเช่น มาตรา 30 แห่งกฎหมายพื้นฐานของสหพันธรัฐ (Federal Basic Law) บัญญัติให้รัฐมีอำนาจหน้าที่ดำเนินการเกี่ยวกับตำรวจในเขตพื้นที่รับผิดชอบของรัฐนั้น อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความรัฐจะสามารถดำเนินการเกี่ยวกับการบริหารงานยุติธรรมได้อย่างอิสระ แต่ละรัฐจะต้องตัดสินไปตามกฎหมายซึ่งอยู่ภายใต้บทบัญญัติในกฎหมายพื้นฐาน (รัฐธรรมนูญ) ตัวอย่างเช่น กฎหมายผู้ต้องขังของสหพันธรัฐ ปี ค.ศ.1976  บัญญัติให้การทำให้ผู้กระทำผิดกลับตัว (rehabilitation) เป็นหลักการเชิงปรัชญาขั้นพื้นฐานในกฎหมายทางอาญาและงานราชทัณฑ์ ดังนั้น แม้ว่าแต่ละรัฐจะมีอำนาจในการบริหารงานราชทัณฑ์อย่างไรก็ตาม แต่รัฐก็จะต้องยึดถือหลักการดังกล่าวในกฎหมายของสหพันธรัฐด้วย
          ระบบยุติธรรมทางอาญาของเยอรมนี สะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลของประเพณีของกฎหมายลายลักษณ์อักษร (civil law)ซึ่งได้รับการปรับปรุงในอดีต กับแนวทางของกฎหมายประเพณี (common law) ซึ่งมีการประยุกต์ใช้ระหว่างที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเข้ามาควบคุมหลังสงครามโลกครั้งที่ 2  เยอรมนี มีศาลรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธรัฐ (German Federal Constitutional Court) ในลักษณะเดียวกับศาลสูงของสหรัฐอเมริกา ซึ่งทำหน้าที่ถ่วงดุลอำนาจระหว่างรัฐกับรัฐบาลกลาง นอกจากนี้ ก็ยังทำหน้าที่ตีความสิทธิตามรัฐธรรมนูญ การดำเนินคดีอาญาในเยอรมนี ได้รับอิทธิพลบางส่วนของสหรัฐอเมริกา แต่ส่วนใหญ่ก็ยังคงลักษณะของกระบวนการตามกฎหมายลายลักษณ์อักษรเป็นส่วนใหญ่
          กฎหมายตำรวจของแต่ละรัฐ กำหนดอำนาจหน้าที่ของตำรวจ ขั้นตอนการดำเนินคดี กฎหมายให้อำนาจตำรวจใช้กำลังในการบังคับใช้กฎหมายได้ แต่ต้องคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน ตัวอย่างเช่น การบังคับใช้กฎหมายในรัฐบาวาเรีย  การใช้กำลังต้องอยู่ภายใต้หลักความได้สัดส่วน (proportionality) เจ้าหน้าที่ตำรวจ มีอำนาจสืบสวนสอบสวน และเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับปฏิบัติ (สายตรวจ) ได้รับอำนาจในการรวบรวมพยานหลักฐานเบื้องต้นในคดีที่ไม่ร้ายแรง ดำเนินการจัดทำรายงานและสอบสวนจนเสร็จเพื่อส่งพยานหลักฐานให้อัยการต่อไป ส่วนในการสืบสวนสอบสวนในคดีที่มีโทษสูง จะส่งต่อให้หน่วยงานสืบสวนสอบสวน (CID) ดำเนินการต่อ คดีอุกฉกรรจ์สะเทือนขวัญ พนักงานอัยการจะมาร่วมสอบสวนคดีตั้งแต่ต้น และอัยการมีอำนาจยุติคดี ระบุตัวผู้ต้องสงสัยได้
           โครงสร้างอำนาจหน้าที่
           โครงสร้างองค์กรตำรวจเยอรมัน เป็นแบบกระจายอำนาจให้รัฐ ทั้ง 16 รัฐ รับผิดชอบบริหารจัดการงานตำรวจภายใน อยู่ภายใต้ กระทรวงมหาดไทยของแต่ละรัฐ แต่มิได้กระจายอำนาจลงไปถึงระดับเมืองหรือหน่วยการปกครองส่วนท้องถิ่นในระดับเล็กลงไป แต่ละรัฐมีกฎหมายตำรวจ (Police Law) ของตนเอง ระบบตำรวจเยอรมันจึงเป็นการกระจายอำนาจที่มีรระดับการกระจายอำนาจอยู่ตรงกลางระหว่างระบบแบบรวมศูนย์แบบฝรั่งเศส กับการกระจายอำนาจออกเป็นส่วนๆ ให้ตำรวจไปขึ้นกับหน่วยปกครองท้องถิ่นระดับเล็กสุดแบบสหรัฐอเมริกา
          ระดับสหพันธรัฐ (Federal State) มีหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย 2 หน่วย คือ
     1) ตำรวจสหพันธรัฐ (Federal State) มีกำลังพลประมาณ 40,000 นาย มีอำนาจหน้าที่เช่น ป้องกันชายแดน ตำรวจรถไฟ รักษาความปลอดภัยทางเรือและอากาศยาน อาชญากรรมองค์กรและการก่อการร้าย
     2) สำนักงานตำรวจทางอาญา (Federal Criminal Police Office) หรือมีชื่อย่อในภาษาเยอรมัน BKA เป็นหน่วยสืบสวนสอบสวนกลาง มีหน้าที่ประสานความร่วมมือระหว่างสหพันธรัฐ และ 16 รัฐ ในการสืบสวนสอบสวนคดี ปราบปรามคดีสำคัญๆ มีกำลังประมาณ 5,500 นาย
     การบริหารงานบุคคลและการฝึกอบรม (รัฐบาวาเรีย)
              เนื่องจากการจัดกิจการตำรวจแต่ละรัฐเป็นผู้ดำเนินการ สิ่งที่จะกล่าวต่อไปนี้ เป็นระบบการฝึกอบรมและการบริหารงานบุคคลของตำรวจรัฐบาวาเรีย เท่านั้น
            ระบบตำแหน่งและการเจริญเติบโตของเจ้าหน้าที่ตำรวจรัฐบาวาเรีย ตำแหน่งเจ้าหน้าที่ตำรวจรัฐบาวาเรีย แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
     1) เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ (Operative Service)  เทียบได้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจชั้นประทวน
     2) เจ้าหน้าที่สั่งการ (Command Service) เทียบได้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจชั้นสัญญาบัตร      3) จ้าหน้าที่สั่งการระดับสูง (Senior Command Service) เทียบได้กับผู้บริหารชั้นนายพลตำรวจ
     การเข้าสู่ตำแหน่งของเจ้าหน้าที่ตำรวจแต่ละระดับ เริ่มตั้งแต่การเข้าเป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ (Operative Service) ฝึกอบรมระยะเวลา 2 ½ ปี การเลื่อนยศในแต่ละชั้นยศใช้ระยะเวลาประมาณ 3 ปี ด้วยวิธีการประเมินและจัดลำดับเจ้าหน้าที่ตำรวจตามผลการปฏิบัติงานในแต่ละปี ผู้ที่ได้รับการจัดลำดับสูงที่สุด จะเป็นผู้ได้รับการเลื่อนยศขึ้นไป เมื่อเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ มีทักษะและประสบการณ์ประมาณ 5 ปี หรือมากกว่านั้น สามารถสมัครเข้ารับการคัดเลือกเป็นเจ้าหน้าที่สั่งการ (command service) โดยสัดส่วนเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ ที่จะได้รับการคัดเลือกเป็นเจ้าหน้าที่สั่งการ มีประมาณ 30-40 % หากผ่านการทดสอบและคัดเลือกเป็นเจ้าหน้าที่สั่งการ จะต้องเข้าฝึกอบรมอีก 2 ปี ในสถาบันตำรวจของรัฐบาวาเรีย (Bavaria Police Academy)
     การเริ่มต้นเข้าเป็นเจ้าหน้าที่สั่งการ (Command Service) หากเป็นผู้ที่มีคุณวุฒิระดับเอ (Level A) (ระยะเวลาการศึกษาตั้งแต่ระดับประถมศึกษาขึ้นมา รวม 13 ปี) สามารถสมัครรับการคัดเลือกเข้าสู่ระดับเจ้าหน้าที่สั่งการได้โดยตรง แต่มีสัดส่วนที่น้อยมาก ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจะเข้ารับการฝึกอบรมระยะเวลา 2 ปี ณ สถาบันฝึกอบรมรัฐบาวาเรีย โดยในหลักสูตรการฝึกอบรมของเจ้าหน้าที่สั่งการ นักเรียนตำรวจระดับสั่งการ จะถูกส่งมาฝึกการปฏิบัติขั้นพื้นฐานที่โรงเรียนตำรวจของเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการ เป็นระยะเวลา 6 เดือน
         การเข้าสู่ตำแหน่งของเจ้าหน้าที่สั่งการอาวุโส (Senior Command Service) เมื่อเจ้าหน้าที่สั่งการ ได้ปฏิบัติหน้าที่มาระยะหนึ่งแล้วจะมีการประเมินและจัดลำดับ และมีสิทธิสมัครเข้ารับการคัดเลือกเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสั่งการอาวุโส ซึ่งจะมีสัดส่วนประมาณ 2- 2.5% เท่านั้นที่จะได้รับการคัดเลือก เมื่อได้รับการคัดเลือกเป็นเจ้าหน้าที่สั่งการอาวุโสแล้ว จะเข้ารับการศึกษาในมหาวิทยาลัยตำรวจเยอรมัน (
German Police University)

 
           การจัดหลักสูตรการฝึกอบรม
           การผลิตและฝึกอบรมตำรวจในรัฐบาวาเรีย มีรูปแบบที่เหมือนกันในทุกเมือง นอกเหนือจากหน่วยงานตำรวจพื้นที่ ซึ่งมีหน่วยงานสถานีตำรวจในสังกัดแล้ว ยังมีหน่วยปราบจลาจล ซึ่งมีกองกำลังกองร้อยปราบจลาจลอยู่ในความรับผิดชอบ และยังมีโรงเรียนตำรวจอยู่ในหน่วยงานตำรวจดังกล่าวด้วย เช่น หน่วยงานตำรววจเตรียมพร้อมบาวาเรียนที่ 2 ตั้งอยู่ในเมืองไอช์ซะเต็ด มีโรงเรียนทำหน้าที่ผลิตตำรวจอยู่ในหน่วยงานดังกล่าว
          รัฐบาวาเรีย กำหนดระบบการฝึกอบรม มาตรการการฝึกอบรมที่มีมาตรฐานเดียวกัน โดยมีการกำหนดคุณลักษณะของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่พึงประสงค์ (Job Profile) ไว้เป็นแนวทางเดียวกัน การฝึกอบรมของโรงเรียนตำรวจในรัฐบาวาเรีย ต้องการสร้างให้นักเรียนมีสมรรถนะที่จำเป็นใน 3 เสาหลักคือ
          1) สมรรถนะในด้านทฤษฎีความรู้ (Theoretical Competenc) คือ มีความรู้ด้านกฎหมาย
          2) สมรรถนะในการปฏิบัติ (Acting Competence) คือ ได้รับการฝึกปฏิบัติ สามารถนำความรู้ออกมาใช้ได้จริง
          3) สมรรถนะด้านบุคคลและสังคม  (Social and Personal Competence) คือ มีการพัฒนาบุคลิกภาพ
 
          การจัดการเรียนการสอนในหลักสูตร เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการผลิตเจ้าหน้าที่ตำรวจให้มีคุณลักษณะใน 3 เสา ดังกล่าว จึงจัดการเรียนการสอนโดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ
          1) การสอนในรายวิชา เป็นการสอนในห้องเรียนเกี่ยวกับทฤษฎี และ
          2) การฝึกเป็นโมดูล (Modules) หรืออาจเรียกว่าเป็น “หน่วยการเรียนรู้” เพื่อฝึกให้นักเรียนสามารถนำความรู้ทางทฤษฎี กฎหมาย ที่ได้เรียนมาแล้ว นำมาใช้ปฏิบัติงานได้จริง การฝึกเป็นหน่วยการเรียนรู้แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะคือ
                (1) การฝึกสถานการณ์งานตำรวจโดยทั่วไป คือเป็นการฝึกขั้นพื้นฐานง่ายๆ เช่น เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเจอผู้กระทำผิดเล็กน้อย ไม่มีการต่อสู้ขัดขืน จะต้องพูดอย่างไร สั่งการอย่างไร ปฏิบัติอย่างไร เป็นต้น
                (2) การฝึกในสถานการณ์ความขัดแย้งมาก เช่น เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องเข้าไประงับเหตุ พบคนร้ายมีอาวุธมีด หรือปืน มีกิริยาก้าวร้าว หรือต่อสู้ขัดขืน จะต้องทำอย่างไร


           การสอนในรายวิชา มีจำนวน 18 รายวิชา คือ การจัดการเหตุ กฎหมายความมั่นคง การติดต่อสื่อสารและการจัดการความขัดแย้ง ทฤษฏีเกี่ยวกับการปฏิบัติและการฝึก การป้องกันตัว กฎหมายจราจร การฝึกด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ จริยธรรมทางอาชีพ กีฬา กฎหมายอาญา กฎหมายราชการพลเรือน การศึกษาของพลเมือง การฝึกขับรถ กฎหมายตำรวจทั่วไป การพิสูจน์หลักฐาน ภาษาอังกฤษ การฝึกอาวุธ การปฐมพยาบาล การสอนในรายวิชา ใช้เวลา 3,003 บทเรียน (บทเรียนละ 45 นาที)
      การฝึกแบบโมดูล หรือหน่วยการเรียนรู้ (Training in Module) เพื่อตอบสนองคุณลักษณะในเสาที่ 2 คือสมรรถนะในการปฏิบัติ  จึงกำหนดให้มีการฝึกแบบโมดูล หรือเป็นชุดของสถานการณ์ต่างๆ (scenario) โมดูลที่ใช้ในการฝึก มี 2 ลักษณะคือ โมดูลของเหตุการณ์ในงานตำรวจโดยทั่วไป และโมดูลของเหตุการณ์ที่มีความขัดแย้ง มีความรุนแรงหรือสถานการณ์ซับซ้อนมาก การจัดทำโมดูลเริ่มต้นจากการพิจารณาลักษณะของงานตำรวจ ที่ต้องปฏิบัติทั้งหมด ซึ่งแบ่งเป็น 4 ลักษณะ (field of policing) มีดังนี้
     1) งานในสถานีตำรวจ (office work) ได้แก่ การรับแจ้งความหรือแจ้งเหตุจากประชาชนบนสถานีตำรวจ
      2) งานบังคับใช้กฎจราจร (traffic enforcement)
       3) งานสายตรวจ (patrolling)
     4) การต่อสู้กับอาชญากรรม (combating crime)
ในแต่ละลักษณะงานพิจารณาว่ามีเหตุการณ์ลักษณะใดเกิดขึ้นจริงและบ่อยครั้งในพื้นที่ต่างๆ แล้วจึงนำมาจัดทำโมดูลจำนวนหนึ่งในแต่ละลักษณะงาน ซึ่งมีจำนวนโมดูลแตกต่างกันในแต่ละลักษณะงาน การคัดเลือกสถานการณ์สมมติ มีการหารือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในสถานีตำรวจ ทั้งเจ้าหน้าที่สายตรวจ เจ้าหน้าที่จราจร เพื่อสอบถามว่าในการปฏิบัติหน้าที่ ได้รับแจ้งเหตุการณ์ลักษณะใดมากที่สุด เช่น คนร้ายลักทรัพย์ในร้านสะดวกซื้อ เหตุรถชนกัน เหตุการณ์ทะเลาะกันในครอบครัว

 

          การฝึกปฏิบัติเริ่มต้นจากระยะเวลาก่อนการฝึก 2 สัปดาห์ จะมีการสอนความรู้ทั้งด้านกฎหมาย และหลักการปฏิบัติให้แก่นักเรียน ได้แก่ กฎหมายอาญา กฎหมายตำรวจ (เปรียบเทียบได้กับกฎหมายวิธีพิจารณาของไทย) และการดำเนินการหลังเกิดเหตุเพื่อให้นักเรียนเข้าใจหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติในเหตุการณ์สมมติ
          การพัฒนาบุคลิกภาคบุคคล ในเสาที่ 3 คือการพัฒนาบุคลิกภาพของนักเรียนตำรวจรัฐบาวาเรีย ประกอบไปด้วยประเด็นต่างๆ ได้แก่ การรักษาคำมั่น (commitment) เป็นตัวของตัวเองและมีความกระตือรือร้น (independence and pro-active behavior) สามารถจัดการได้ด้วยตนเอง (self-organization) น่าเชื่อถือ (reliability) พลังของการตัดสินใจและกระทำการตัดสินใจ (power of judgment and decision-making) ทักษะการสื่อสาร (communication skills) เป็นต้น
        การพัฒนาบุคลิกภาพส่วนบุคคล มุ่งเน้นให้นักเรียนได้พัฒนาตนเอง สิ่งที่สำคัญได้แก่ ความรับผิดชอบของตนเอง (self-responsibility)การเคารพตนเอง(self-respect)และติดตามตรวจสอบด้วยตนเอง)self-monitoring) หัวข้อการเสริมสร้างและพัฒนาบุคลิกภาค ไม่มีหัวข้อเรื่องวินัย (discipline) เพราะความมีวินัยจะอยู่ในแต่ละประเด็นอยู่แล้ว เช่น หากนักเรียนมีการรักษาคำมั่น มีความรับผิดชอบ ก็จะมีวินัยไปในตัว ความมีวินัยจึงแทรกอยู่กับในแต่ละประเด็น เป็นปรัชญาที่สำคัญของโรงเรียนตำรวจแห่งนี้ ไม่ต้องการมองหาวินัยเป็นสิ่งแรก แน่นอนว่าต้องการเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีวินัย แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะเป็นผู้มีวินัยดี ก็ต่อเมื่อมีสิ่งต่างๆ ข้างต้นดี

          ตำรวจเยอรมันทำให้ประชาชนเชื่อมั่นได้อย่างไร?
          คำถามนี้ หมายถึง องค์กรตำรวจ สถาบันตำรวจเอง ปรับตัวอย่างไรให้ประชาชนเชื่อมั่น
          -ปฏิรูปตำรวจ ด้วยการปฏิรูปการฝึกอบรม ปัญหาการปฏิบัติงานตำรวจในอดีต ตำรวจเยอรมันถูกร้องเรียนมาก แต่มิใช่การร้องเรียนว่าปฏิบัติหน้าที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เป็นการร้องเรียนเรื่องการปฏิบัติตัวไม่ดีต่อประชาชน ใช้กริยาวาจาไม่สุภาพ  ในด้านสถานีตำรวจ ซึ่งเป็นหน่วยงานรับนักเรียนตำรวจออกไปทำงาน บ่นว่านักเรียนที่จบไปทำงานไม่ได้ จึงมีการปรับปรุงประการสำคัญ คือ การสรรหาและฝึกอบรมตำรวจ
          ระบบการฝึกอบรมที่กล่าวไปแล้ว จะเห็นได้ว่ามีจุดเด่นที่สำคัญคือ การฝึกให้นักเรียนนำความรู้ทางทฤษฎีไปปฏิบัติด้วยตนเอง ให้นักเรียนตำรวจ รู้จักการแก้ไขปัญหาในสถานการณ์ต่างๆ ด้วยตนเอง เพราะงานตำรวจไม่เหมือนงานทหาร เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผู้ที่จะต้องไปเผชิญเหตุและตัดสินใจเฉพาะหน้า ไม่มีเวลาปรึกษาหารือผู้บังคับบัญชา พี่เลี้ยง จึงเน้นการฝึกให้เหมือนสถานการณ์จริง ข้อผิดพลาดระหว่างการฝึก นักเรียนจะจดจำไปตลอด
          -ผนวกหลักการสิทธิมนุษยชนกับการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ ไม่ได้มุ่งเน้นการสอนตัวบทกฎหมาย สนธิสัญญาต่างๆ เป็นการสอนสิทธิมนุษยชนภาคปฏิบัติ หลักสิทธิมนุษยชนในงานตำรวจ คือการสอนให้นักเรียนนำหลักการไปสู่การปฏิบัติหน้าที่ ทำงานอย่างไรที่ต้องคำนึงถึงความเป็นคนของประชาชนที่เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย
           -ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับปฏิบัติการเพิ่มขึ้น (Empowerment) มีการเพิ่มระยะเวลาการฝึกอบรมจากเดิม 1 ปี เป็น 2 1/2 ปี ก็เพื่อต้องการให้มีความรู้ความสามารถมากขึ้น และสามารถจัดการกับคดีได้ด้วยตนเองอย่างเบ็ดเสร็จในที่เกิดเหตุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคดีเล็กน้อย เป็นเหมือนพนักงานสอบสวนของประเทศไทย ในคดีเล็กน้อย
 
          เยอรมนี ทำอย่างไรให้ประชาชนเชื่อมั่นตำรวจ ?
          เยอรมนี มีประวัติศาสตร์ที่ทำให้ตำรวจไม่เชื่อมั่น และไม่พึงพอใจตำรวจ จากยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ภายใต้การปกครองของฮิตเลอร์ ใช้ตำรวจเพื่อควบคุมอำนาจ ดังจะเห็นได้ว่าช่วงเวลาดังกล่าว มีจำนวนตำรวจเพิ่มขึ้นจาก 200,000 นาย ไปถึง 1.5 ล้านนาย และเมื่อเสร็จสิ้นสงคราม ประเทศยังถูกแบ่งเป็น 2 ส่วน และส่วนหนึ่งตำรวจก็อยู่ภายใต้ประเทศที่มีการปกครองระบอบคอมมิวนิสต์ หลังการรวมประเทศ เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตย จึงต้องทำให้งานตำรวจมีลักษณะที่สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย โดยจะเห็นได้ว่าเยอรมนีให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชน ซึ่งเคยเป็นปัญหาที่ถูกละเมิดมากในช่วงการปกครองของฮิตเลอร์
          เยอรมนี ทำให้ประชาชนเชื่อมั่นตำรวจโดย
          - รัฐลงทุนให้ตำรวจในด้านเงินเดือน ค่าตอบแทน สิทธิสวัสดิการ ความเป็นอยู่เพื่อให้ตำรวจดำรงชีวิตได้อย่างเพียงพอและมีเกียรติ ผู้บริหารของโรงเรียนตำรวจเมืองไอช์ซะเต็ด ให้ข้อมูลว่า ตำรวจในเยอรมนีไม่ได้เป็นอาชีพที่ทำให้มีความร่ำรวย แต่อาชีพตำรวจ ทำให้สามารถดำรงชีพและอยู่ในสังคมได้อย่างดี มีรายได้ค่าตอบแทนที่สามารถดูแลครอบครัวได้ มีรถขับ มีบ้านอยู่ ดังนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจจะไม่เสี่ยงในการทุจริตคอรัปชั่น เพราะหากถูกดำเนินการทางวินัยและอาญา จะสูญเสียทุกสิ่งทุกอย่าง และที่สำคัญ และกลับไปอยู่ในสังคมหรือชุมชนไม่ได้

          - รัฐ และสังคม สนับสนุนการทำงานของตำรวจ กฎหมายเยอรมนี ให้มีการจัดตั้งสหภาพแรงงาน รวมทั้งสหภาพตำรวจ ได้ เป็นการรวมกลุ่มเพื่อเรียกร้องต่อรัฐบาลให้ดำเนินการต่อองค์กรตำรวจให้เหมาะสม ตัวอย่างเช่น การเรียกร้องให้รัฐต้องจัดงบประมาณ วัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับการปฏิบัติหน้าที่อย่างเพียงพอ กรณีที่จำเป็นต้องระดมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจจากพื้นที่ต่างๆ มาปฏิบัติหน้าที่ในเมืองหลวง เช่น มารักษาความปลอดภัยในงานแข่งขันกีฬาฟุตบอล เป็นต้น รัฐจะต้องจัดสรรงบประมาณ ที่พักให้เจ้าหน้าที่ตำรววจอย่างเพียงพอและเหมาะสม

     ฝ่ายการเมือง จำเป็นต้องฟังเสียงเรียกร้องดังกล่าวจากตำรวจ เนื่องจากตำรวจมีจำนวนมากในสังคม และที่สำคัญ หากตำรวจปฏิบัติหน้าที่ไม่มีประสิทธิภาพ ฝ่ายการเมืองก็จะเสียคะแนนเสียงจากประชาชน
      เหตุใดตำรวจเยอรมัน จึงได้รับความเชื่อมั่นจากประชาชน ผมจึงเห็นว่า ส่วนหนึ่งคือการปรับตัว ปฏิรูปเปลี่ยนแปลงของตำรวจ ในอีกด้านหนึ่ง ตำรวจก็ได้รับการสนับสนุนทั้งจากรัฐและสังคม ได้ยินมาตลอดว่าฝรั่งดีอย่างโน้น ดีอย่างนี้ เมื่อไปเห็นจึงเข้าใจคำพูดดังกล่าว
      ช่วงนี้กำลังปฏิรูปตำรวจ บทเรียนจากเยอรมนี อาจช่วยได้ส่วนหนึ่งครับ


ข้อมูลจาก 1.Harry R. Dammer and Jay S. Albanese, Comparative Criminal Justice Systems (US: Wadswoth, 2014)
                    2.การศึกษาดูงานโรงเรียนตำรวจแห่งหน่วยงานตำรวจเตรียมพร้อมที่ 2 เมืองไอช์ซะเต็ด รัฐบาวาเรีย สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (Police Academy of the II Bavarian Standby Police in Eichstätt, Bavaria, Federal Republic of Germany)ด้วยการสนับสนุนจากมูลนิธิฮันส์ไซเดล

ความคิดเห็น

  1. Best Casino Site in South Africa - LuckyClub
    With the world's leading casino website, Lucky Club luckyclub.live delivers a high-quality casino experience that will please any gambler looking for a reliable site  Rating: 4 · ‎10 votes

    ตอบลบ

แสดงความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เรียนรู้เรื่องราวตำรวจญี่ปุ่นกันครับ

การทำงานของตำรวจยุคดิจิทัล ด้วยเทคโนโลยียุคใหม่