6 ต.ค.58 วันที่สามของ 25th JASPOC : อาชญากรรมข้ามชาติ, เรียนรู้ตำรวจมาเลเซีย

      6 October 2015: The 3rd day of the 25th Joint ASEAN Senior Police Officers Course (JASPOC)
      วันที่สามของการอบรมเป็นวันอังคาร เมื่อวานในพิธีเปิดต้องแต่งเครื่องแบบ ก็เลยแต่งเครื่องแบบลงมารับประทานอาหารที่ห้องอาหาร ปรากฏว่ามีแต่สายตามองเราในเครื่องแบบตำรวจที่เค้าไม่เคยเห็นในบ้านเมืองของเขา ทำให้ผมกินอาหารไม่ค่อยลง กลัวว่าตัวเองจะผอมไปครับ..อิอิ.. วันนี้ เลยขออนุญาตใส่ครึ่งท่อน (ครึ่งล่าง นะครับ!) ลงมากินข้าวดีกว่า
      วันนี้เจอเพื่อนชาวเวียดนาม Major Khong Minh Huang Viet ซึ่งต่อไปผมจะเรียกชื่อว่า Viet ในวันแรกที่ผมเห็น Viet นึกว่าเป็นตำรวจสิงคโปร์เพราะหน้าตี๋ ๆ หวีผมเรียบแปล้ มาพร้อมตำรวจหญิงที่สวยที่สุดใน course นี้ (..เพราะมีตำรวจหญิงคนเดียว!) ทั้งสองคนแต่งตัวดูดีกว่าคนเวียดนามที่เคยเจอมา ในขณะที่คนที่เป็นตำรวจสิงคโปร์ ไม่นึกว่ามาจากสิงคโปร์ เพราะเป็นคนเชื้อชาติมาเลย์ ผมไม่ค่อยเห็นตำรวจสิงคโปร์ที่เป็นคนมาเลย์มากนัก

 
      Viet เป็นมนุษย์ Sport man กล้ามใหญ่ ใน trend ของคนยุคใหม่สมัยนี้ ที่ชอบเล่นกล้าม แต่ Viet เป็นชาย 100 % นะครับ เพราะซักถามประวัติแล้ว มีภรรยาเป็นแพทย์ มีลูกชาย 2 คน ครับ
      ปัญหาประการหนึ่งสำหรับการติดต่อกับชาวต่างชาติ คือ การใช้ชื่อเรียกของแต่ละคน ผมไม่เคยไปเรียนหนังสือหรือไปอยู่ในต่างประเทศนานๆ แต่เคยได้ยินว่าคนที่ไปอยู่ต่างประเทศ มักจะตั้งชื่อตัวเองเป็นชื่อฝรั่ง ที่ทราบมาก็มีเช่น Christ Pete Tom etc. เพื่อให้เพื่อนต่างชาติเรียกชื่อง่ายขึ้น Viet ก็บอกว่าจริงๆ แล้วชื่อเค้าคือ Khong แต่ให้เพื่อนๆ เรียก Viet ดีกว่า เพราะออกเสียงง่ายกว่าและเค้ามาจากเวียดนาม ชื่อ Viet น่าจะจำได้ง่ายกว่า
     ส่วนตัวผม มีเพื่อนชาวต่างชาติครั้งแรก ก็เมื่อเจ้านายสุดยอดของผมอีกแหละครับ ส่งไปอบรมที่ ILEA ผมตัดสินใจบอกเพื่อนต่างชาติให้เรียกชื่อจริงผมเลย Preeda เพราะมีเหตุผลสองข้อครับ ข้อ 1. ระหว่างชื่อจริงกับชื่อเล่น ผมว่าคนต่างชาติ จะออกเสียง Preeda ด้วยสำเนียงที่ฟังแล้วเป็น “ปรีดา” มากกว่า ชื่อเล่น ซึ่งหากเขียนภาษาอังกฤษ จะเขียนว่า Tong เค้าก็คงอ่าน “ทอง” บ้าง “ต้อง” บ้าง “ต๋อง” บ้าง คงไม่มีใครสามารถอ่านออกเสียงว่า “โต้ง” ได้ถูกแน่ๆ ครับ ข้อ 2. ผมสังเกตเมื่อรู้จักเพื่อนต่างชาติ มักจะถามถึงตำรวจไทยคนโน้น คนนี้ ที่เค้าเคยไปเจอกันเมื่อชาติที่แล้ว เอ้ย! ปีที่แล้ว ที่ mission โน้น conference นี้ ยูรู้จักป่าว? โดยธรรมชาติของคนต่างชาติต่างภาษา ที่ไม่ค่อยจะคุ้นกับชื่อคนจากต่างประเทศอยู่แล้ว เค้าก็จะจำชื่อนามสกุลจริงกันไม่ค่อยได้หรอกครับ ... ตำรวจคนนี้ชื่อจริงชื่อนี้ นามสกุลนี้ ชื่อเล่นชื่อนี้... ฝันไปเถอะครับ แต่ชื่อ Preeda ผมคาดว่าน่าจะออกเสียงโดยชาวต่างชาติได้ใกล้กับเสียงภาษาไทยมากที่สุดแล้ว และหากเค้าจะ refer ชื่อ Preeda กับตำรวจไทยคนอื่นๆ ผมว่าชื่อจริงผมก็น่าจะพอมีพี่น้องตำรวจไทย รู้จักและจำชื่อผมได้มากกว่าชื่อ Tong ซึ่งนอกจากเค้าคงจะออกเสียงไม่ตรงแล้ว ชื่อเล่น “โต้ง” สำหรับตำรวจไทยก็มีมากมายมหาศาล (เฉพาะพี่น้องที่สนิทสนมกันก็มีไม่ต่ำกว่า 4 โต้ง แล้วครับ)
     ปัญหาอีกอย่างหนึ่งของผม คือการอ้างอิงปีศักราช เนื่องจากบ้านเราใช้ปี พ.ศ. แต่ในประเทศอื่นๆ แม้กระทั่งในประเทศมุสลิมก็จะใช้ปี ค.ศ. (ค.ศ.ก็คือ “คริสต์ศักราช” นะครับ ผมก็สงสัยเหมือนกันว่าทำไม ไม่ใช้ปี “ฮิจเราะห์” ของศาสนาอิสลาม ในประเทศเค้าบางหล่ะ?!? เพื่อนท่านใดทราบช่วยบอกด้วยนะครับ??) เพราะฉะนั้นเวลาเค้าถามผมว่าไปอบรมมาปีไหน เคยเจอกับคนโน้น คนนี่ เมื่อไร ผมจะ confuse มากๆ และอาจต้องถึงขนาดเอาโทรศัพท์มาบวกลบเลข 543 ออกจากปี พ.ศ. บางครั้งจึงอธิบายว่ากี่ปีมาแล้ว ...years ago ก็เร็วดีครับ
     กลับมาที่เมื่อเจอ Viet ที่ห้องอาหาร เลยถือโอกาสสืบเสาะหาข้อมูลเกี่ยวกับประเทศเวียดนาม วันนี้
ข้อมูลที่สืบมาได้ในวันนี้ คือ ตำรวจเวียดนามมีประมาณ 280,000 นาย สำหรับการเกษียณอายุของตำรวจ ไม่น่าเชื่อและไม่เคยได้ยินว่ามีหน่วยงานตำรวจ ที่เกษียณอายุราชการ ไม่เท่ากัน เวียดนามแบ่งการเกษียณอายุเป็น 3 กลุ่ม
     1.ตำรวจทั่วไป ในระดับปฏิบัติการ หรือเทียบกับตำรวจไทยก็คือชั้นประทวน หรือรองสารวัตร ผู้ชายเกษียณที่อายุ 55 ปี หญิง 50 ปี
     2.ผู้ระดับบริหารระดับกลาง หรือเทียบได้ประมาณ (เน้นว่า “ประมาณ” นะครับ) ระดับรองสารวัตรถึงรองผู้บังคับการ ผู้ชายเกษียณที่อายุ 58 ปี หญิง 53 ปี
     3.ผู้บริหารสูงสุด หรือเทียบได้ประมาณระดับ ผู้บังคับการ หรือนายพลขึ้นไป ผู้ชายเกษียณที่อายุ 60 ปี หญิง 55 ปี
     เช้านี้สืบข่าวจาก Viet แค่นี้ก่อนครับ เกรงใจเค้ากำลังกินข้าว เดี๋ยวไปเข้าห้องเรียนไม่ทันครับ
     อาชญากรรมข้ามชาติ (transnational crime)
     การเรียนในห้องวันนี้เริ่มด้วยการบรรยายหัวข้ออาชญากรรมข้ามชาติ (transnational crime) บรรยายเป็นภาษา Bahasa (มีหูฟังให้เราฟังล่าม simultaneous interpreter แปลเป็นภาษาอังกฤษ) โดย Sr Superintendent Jebul Jatmoko จากหน่วยงาน CID หรือหน่วยสืบสวนสอบสวนนั่นเอง จริงๆ แล้วการอบรมในครั้งนี้ วัตถุประสงค์หลักคือการสร้างความร่วมมือเพื่อการต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติ ตามที่เค้ากำหนด theme ว่า “Together Combating Transnational Crimes” หัวข้อในการบรรยายวันแรกๆ จึงพูดคุยกันเรื่องอาชญากรรมข้ามชาติ ซึ่งชี้ให้เห็นว่ากระทำผิดได้รวดเร็ว ตามความเร็วและทันสมัยของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร รวมทั้งการเดินทางไปมาระหว่างกัน ซึ่งเกิดผลกระทบให้เกิดอาชญากรรมข้ามชาติมากขึ้นด้วย

     อินโดนีเซียมียุทธศาสตร์การรับปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ เป็น 3 ส่วน คือ
          1.การเตรียมความพร้อม ได้แก่ การฝึกอบรมให้ความรู้ งานการข่าว จัดระบบคนเข้าเมือง ซึ่งอินโดนีเซีย เป็นประเทศที่มีพื้นที่กว้างใหญ่และเป็นเกาะจำนวนมาก
          2.การป้องกัน ได้แก่ การดำรงความร่วมมือระหว่างประเทศ ทำความตกลง การปฏิบัติการร่วมกัน
          3.การปราบปราม อินโดนีเซียมีบันทึกข้อตกลง (MOU) ระหว่างประเทศต่างๆ เกี่ยวกับความร่วมมือในการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ เช่น จีน เกาหลีใต้ ไทย ญี่ปุ่น รวมทั้งสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC)
     อุปสรรคสำคัญของความร่วมมือระหว่างประเทศ คือ ประเด็นการเมืองและอธิปไตยของแต่ละประเทศ ที่ไม่สามารถทำให้เกิดการทำงานร่วมกันได้ เช่น กำลังของประเทศที่มีพรหมแดนติดต่อกันไม่สามารถมาลาดตระเวนร่วมกันได้เมื่อมีข้อตกลงกันแล้ว เป็นต้น ระบบกฎหมายที่แตกต่างกันระหว่างประเทศต่างๆ เครื่องมือสำหรับการบังคับใช้กฎหมายที่มีขีดความสามารถแตกต่างกัน และอุปสรรคด้านการเงิน
     บทสรุปของการประเด็นอาชญากรรมข้ามชาติ ก็คือ การป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ ไม่อาจสำเร็จได้หากปราศจากความร่วมมือ ทั้งในภายในประเทศ และระหว่างประเทศในรูปแบบทวิภาคี ระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติ รูปแบบของความร่วมมือระหว่างประเทศ ไม่เพียงแต่ในกรอบความร่วมมือในการป้องกันและบังคับใช้กฎหมายต่ออาชญากรรมข้ามชาติเท่านั้น แต่จะต้องมีการทำงานร่วมกันในด้านต่างๆ เช่น การปรับปรุงการบังคับใช้กฎหมายและการบริหารงาน ความช่วยเหลือในการจัดทำกฎหมาย ความร่วมมือด้านการศึกษา หรือด้านเศรษฐกิจ และสุดท้าย ประเด็นเรื่องอาชญากรรมข้ามชาติ ไม่เพียงจะต้องผลักดันให้เป็นประเด็นความมั่นคงปลอดภัยของประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่จะต้องกลายเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายต่างประเทศของประเทศนั้นด้วย
     ตำรวจมาเลเซีย
     การนำเสนอ Country report ในวันนี้ เป็นคิวของมาเลเซีย โดย Pol. Supt. Noor Azman Bin Mohamed และ Dsp. Abd. Rahman Bin Atanตำรวจมาเลย์ 2 คนนี้ เป็นกลุ่มแรกที่ผมได้เจอกันในวันที่เดินทางมาถึง ทั้งสองคนมาจากวิทยาลัยการตำรวจมาเลเซีย ซึ่งเป็นที่ซึ่งผมไปอบรมหลักสูตร 38th ISPOCC (International Senior Police Officers Command Course) เมื่อ 3 ปีที่แล้ว Azman เป็นคนที่จะมาคุมหลักสูตร ISPOCC ซึ่ง Chew ตำรวจมาเลย์เชื้อชาติจีน เคยดูแลเมื่อผมไปอบรม เอกลักษณ์ของชายมาเลย์ที่สำคัญคือ ไว้หนวดแบบดกเข้ม ไม่ว่าจะเป็นคนมาเลย์หรือคนจีน ผมประเมินว่าประมาณร้อยละ 70 ของชายมาเลย์จะไว้หนวด ส่วน Rahman ตำแหน่งเล็กว่า คนนี้เป็นข้อยกเว้นที่ผมเห็นครั้งแรกคิดว่ามาจากตะวันออกกลางมากกว่า และไม่ไว้หนวดครับ


อ้อ...ตอนที่นั่งฟังเค้าคุยกันวันแรกระหว่างตำรวจมาเลย์กับตำรวจสิงคโปร์ (ใช้คำว่านั่งฟัง เพราะไม่ได้ค่อย discuss เท่าไร My English is not effluence ครับ) ตำรวจมาเลย์ก็บ่นว่า เวลาเปลี่ยนผู้บริหารที่ ผู้บริหารก็มักจะต้องสร้าง Legacy ทิ้งไว้เสมอ แต่โทนการพูดคุยนี้ไม่ได้ชื่นชมนะครับ หุ..หุ..
     การนำเสนอ Country paper เริ่มต้นที่บอกว่าข้อมูลประเทศจะพูดเฉพาะประเด็นที่สำคัญ ใครอยากรู้ให้ไปถามป้าวิ เอาเองนะครับ ก็ป้า Wikipedia ไงครับ แต่ลองเล่านิสนุงแล้วกัน มาเลเซียมีพื้นที่ 148,000 sq. miles แบ่งการปกครองเป็น 13 (2 Federal Territories) ประชากร 31,058,673 (ข้อมูลเมื่อ 20-08-2015) และปกครองด้วยระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ (Constitutional Monarchy) หากเรานึกถึงมาเลเซีย คนไทยอย่างผม (คนอื่นอาจไม่นึกก็ได้นะครับ) ผมจะนึกถึงเฉพาะพื้นที่ที่ต่อออกไปจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือต่อจากด้ามขวาน แต่จริงๆ แล้ว มาเลเซียมีพื้นที่ขนาดใหญ่มากอีกส่วนหนึ่ง อยู่บนเกาะบอร์เนียว มีพื้นที่ติดกับอินโดนีเซีย ซึ่งห่างกับส่วนที่อยู่บนคาบสมุทรมลายู พอสมควร
     ตำรวจแห่งชาติมาเลเซีย (Royal Malaysia Police- RMP) ต่อไปจะเรียก RMP นะครับ RMP ขึ้นอยู่กับกระทรวงมหาดไทย (The Home Affairs Ministry) ซึ่งมีหน่วยงานอื่นๆ ที่อยู่ภายในกระทรวงมหาดไทย เช่น ตรวจคนเข้าเมือง หน่วยงานด้านยาเสพติดแห่งชาติ ฯลฯ

     ประวัติศาสตร์ตำรวจมาเลเซีย (Polis DiRajaMalaysia) หรือ RMP มีความเป็นมายาวนานถึง 208 ปี คือตั้งแต่ปี ค.ศ.1807 -2015 (25th March 1807. 1st Charter of Justice) ก่อนหน้านี้ก็มีตำรวจ แต่ไม่เรียก Police เรียกกว่า มาตา มาตา (ชื่อคุ้นๆ ป่าวครับ) หลังจากนั้นก็มีการพัฒนางานตำรวจมาเรื่อยจนปัจจุบัน
     อำนาจหน้าที่ของตำรวจมาเลเซีย เป็นไปตามพระราชบัญญัติตำรวจ ค.ศ.1967 (Police Act 1967) คล้ายคลึงกับประเทศต่างๆ มีทั้งการปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน การบังคับใช้กฎหมายทุกประเภท จัดและควบคุมการจราจร สืบสวนคดีอาญา งานการข่าวด้านความมั่นคง สร้างสภาวะแวดล้อมที่ปลอดภัยสำหรับประชาชนในการใช้ชีวิตประจำวัน ต่อต้านภัยคุกคามที่จะมีต่อสังคม ความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนและระเบียบทางการเมืองในประเทศ เป็นต้น
     สายการบังคับบัญชาของ RMP มี 4 ระดับ คือ
     1. ระดับรัฐ (Federal) หมายถึงส่วนกลาง ซึ่งมีกองบัญชาการ ที่ BUKIT AMAN
     2. ระดับรัฐ (states) หรือ Contingents & Brigades เนื่องจากมาเลเซียปกครองด้วยระบอบสาธารณรัฐ (แต่ระบบตำรวจก็เป็นระบบรวมศูนย์ คือเป็น National Police) ระดับนี้เรียก contingent มีจำนวน 14 contingent ถ้าเปรียบเทียบกับตำรวจไทย น่าจะเทียบเท่าระดับตำรวจภูธรภาค หรือระดับ กองบัญชาการ
     3. ระดับเขตพื้นที่ (districts) ซึ่งมีหน่วยงานเป็น District Headquarters และ Battalions มีจำนวน 155 districts ถ้าจะเปรียบเทียบกับตำรวจไทย น่าจะเท่ากับกับระดับตำรวจภูธรจังหวัดหรือกองบังคับการ
     4. ระดับพื้นที่ (Areas) หรือสถานีตำรวจ มี 771 สถานีตำรวจ

     โครงสร้างตำรวจมาเลเซีย ก็คล้ายกับโครงสร้างตำรวจไทย ที่น่าสนใจคือ มีส่วนงานที่เพิ่งเกิดใหม่ 2 หน่วย คือ Director Integrity & Standard Compliance ซึ่งรับผิดชอบเกี่ยวกับการตรวจสอบการคอรัปชั่นและมาตรฐานการปฏิบัติงานของตำรวจ และ Director Crime Prevention & Community Safety ที่รับผิดชอบงานป้องกันอาชญากรรมโดยเฉพาะ ซึ่งแสดงให้เห็นได้ว่ามาเลเซียให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาคอรัปชั่นและการป้องกันอาชญากรรม
     ตำแหน่งหัวหน้าสูงสุดของตำรวจ เรียกว่า IGP ย่อจาก Inspector-General of Police อย่าไปแปลเป็นไทยโดยใช้ศัพท์ภาษาอังกฤษสำหรับตำรวจที่ใช้ในบ้านเรานะครับ เพราะอาจจะกลายเป็นตำแหน่งจเรตำรวจไปแทน ระบบตำแหน่งของมาเลเซีย แม้เค้าจะเรียกว่า Rank แต่ผมว่าหมายถึงตำแหน่งในความหมาย Position มากกว่า มี 3 กลุ่ม คือ ระดับต้น ระดับกลาง และระดับสูง
     การบังคับใช้กฎหมายอาญาของตำรวจมาเลเซีย มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องคือ
     1.กฎหมายทางอาญา (Offending Law) ได้แก่ Penal Code Act, Specific Acts & Other General Laws
     2.กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (Procedural Law) ได้แก่ Criminal Procedure Code, Security Offences(Special Measures) Act 2012, Specific Acts
     3.กฎว่าด้วยพยานหลักฐาน (Rules of Evidence) ได้แก่Evidence Act, Specific Acts
     กระบวนการสืบสวนสอบสวนของตำรวจมาเลเซีย ก็เช่นเดียวกับประเทศต่างๆ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการจับกุม การตรวจค้น การควบคุมตัวระหว่างสอบสวน และกระบวนการเหล่านี้ก็จะต้องสอดคล้องกับหลักการของสิทธิมนุษยชน เช่น การจับกุมโดยขึ้นกับพยานหลักฐาน การแจ้งญาติผู้ถูกจับ การแจ้งสิทธิ เป็นต้น

     ดูงานนิติวิทยาศาสตร์/พิสูจน์หลักฐานตำรวจอินโดนีเซีย 
     จบการนำเสนอของมาเลเซีย เราออกไปดูงานครั้งแรกที่ ศูนย์ INAFIS หรือหน่วยนิติวิทยาศาสตร์ เป็นการเดินทางออกนอกโรงแรมโดยรถบัสเป็นครั้งแรก ระหว่างทางเราเห็นรถตุ๊ก ตุ๊ก ของอินโดนีเซีย ซึ่งมีขนาดเล็กกว่าตุ๊กตุ๊กของไทย ซึ่งชาวต่างชาติจะรู้จักรถตุ๊กตุ๊กของไทยเป็นอย่างดีเพื่อนชาวอินโดนีเซียบอกเองว่า ตุ๊กตุ๊กไทย fantastic กว่าของเขามากครับ
     การดูงานศูนย์ INAFIS ได้โชว์เครื่องไม้เครื่องทางนิติวิทยาศาสตร์ เครื่องมือที่ใช้ในที่เกิดเหตุต่างๆ น่าจะคล้ายๆ กับที่ตำรวจไทยมีอยู่ แต่มีเครื่องมืออันหนึ่งที่น่าสนใจ คือ เครื่องตรวจลายพิมพ์นิ้วมือแบบเคลื่อนที่ ซึ่งสามารถตรวจลายพิมพ์นิ้วมือผู้ต้องสงสัยที่พบตามสถานที่ต่างๆ ได้ โดยใช้เวลาไม่เกิน 1 นาที/คน ก็จะทราบผล โดยจะต้องมีฐานข้อมูล (data base) เพื่อตรวจเปรียบเทียบ มีการทำบันทึกข้อตกลง (MOU) ระหว่างตำรวจกับกระทรวงมหาดไทย ที่รับผิดชอบการทำบัตรประจำตัวประชาชนเพื่อเชื่อมต่อข้อมูลมายังตำรวจ ปัจจุบันยังเก็บฐานข้อมูลได้ไม่ครบ แต่ก็เริ่มต้นแล้ว โดยบัตรประชาชนรุ่นใหม่ของอินโดนีเซียมีชิพการ์ด (..! ชิพ..ไม่หายครับ) มีข้อมูลลายพิมพ์นิ้วมือเก็บไว้ด้วย ใครทำบัตรประจำตัวประชาชนรุ่นใหม่ที่เรียกว่า E card จะมีฐานข้อมูลสำหรับตรวจเปรียบเทียบ เครื่องมือนี้สามารถนำไปใช้งานได้ทุกที่ที่มีสัญญาณโทรศัพท์ ระบบนี้น่าจะเป็นประโยชน์มากหากประเทศไทย สามารถนำมาใช้ ซึ่งของบ้านเรา ผมว่ามีปัญหาตั้งแต่ลายพิมพ์นิ้วมือที่เราพิมพ์ตอนไปทำบัตรประจำตัวประชาชน ก็แค่เก็บไว้ในกระดาษ ไม่ได้ถูกนำเข้าระบบคอมพิวเตอร์ เมื่อไม่เข้าระบบก็สามารถเชื่อมโยงข้อมูลมาให้ตำรวจใช้เป็นฐานข้อมูลได้ โดยปริยาย
     หลังจากนั้นไปเยี่ยมชมห้อง computer forensic lab ซึ่งมีเครื่องมือสำหรับตรวจพิสูจน์หลักฐานทางคอมพิวเตอร์ การเก็บรวบรวมหลักฐานจากเครื่องคอมพิวเตอร์
วันนี้ผมได้เห็นตำรวจไม่มียศ (civilian) ของอินโดนีเซีย ทำหน้าที่เป็นช่างภาพและเจ้าหน้าที่ด้านธุรการ แต่งเครื่องแบบสีเดียวกับตำรวจ แต่เครื่องหมายต่างๆ ไม่เหมือนตำรวจ สามารถเห็นได้ถึงความแตกต่าง
     หลังดูงานเสร็จ กลับมาฟังบรรยายต่อที่โรงแรม หัวข้อ Human Rights ขอบ่นนิดหนึ่ง ว่าทำไมไม่จัดตารางเพื่อให้ฟังบรรยายให้เสร็จแล้วออกไปดูงาน แต่คิดบวกไว้ก่อนว่า สงสัยวิทยากรเค้าคงไม่ว่างในช่วงเวลา เพราะคนที่มาพูดเป็น ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (Chairman of National Commission of Human Rights) Mr. Nur Kholis ตำแหน่งใหญ่พอสมควร ผมสารภาพว่าฟังบรรยายครั้งนี้ไม่ค่อยรู้ เนื่องจากเป็นเรื่องกฎหมายของอินโดนีเซียโดยเฉพาะ แต่พอจับอารมณ์ได้ว่าเรื่องการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนกับตำรวจ ดูจะเป็นไม้เบื่อไม้เมา เหมือนกับในประเทศไทย เพราะก็มีตำรวจอินโดนีเซียสอบถามถึงปัญหากรณีการปฏิบัติงานของตำรวจ ที่มีความเสี่ยงและได้รับอันตรายจากผู้กระทำผิดกฎหมาย คณะกรรมการสิทธิจะมีความเห็นอย่างไร ?
     การอบรมจบลงด้วยโปรแกรมอันเต็มเหยียดทั้งวัน ทั้งในสถานที่และนอกสถานที่ แต่ก็ยังพอมีเวลาและแรงเหลือพอที่จะไป exercise ด้วยการ swimming ซะหน่อย ไปถึงห้องฟิตเนส หรือต่างชาติเค้าชอบเรียกว่า gym มากกว่า เจอ Viet ชายกล้ามใหญ่ ยกเวทอยู่ก่อนแล้ว เลยเข้าไปทักทายและยืดเส้นยืดสายใน gym สักแปปหนึ่ง เป็นการวอร์มร่างกาย ก่อนจะลงไปแหวกว่ายในสระน้ำได้ตามที่ตั้งใจ ออกกำลังกายแล้ว รู้สึกสดชื่นขึ้นเยอะครับ จบวันด้วยอาหารเย็นพร้อมการสนทนากับ Viet และ Mo ตำรวจหญิงที่สวยที่สุด... แล้วแยกย้ายกันหลบหนี
Good night ครับ

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เรียนรู้เรื่องราวตำรวจญี่ปุ่นกันครับ

การทำงานของตำรวจยุคดิจิทัล ด้วยเทคโนโลยียุคใหม่

ตำรวจเยอรมัน