ภาวะผู้นำและการบริหารงานยุคใหม่ สำหรับ “ดาบฯ 53 ปี” เป็นอย่างไร ?

    ปีใหม่ 5 มกราคม 2559 เวลา 13.00 น.ได้รับเชิญมาบรรยายในหลักสูตรการฝึกอบรมข้าราชการตำรวจชั้นประทวนยศ ด.ต.ที่มีอายุ 53 ปีขึ้นไป เพื่อเลื่อนตำแหน่งและเลื่อนยศแบบเลื่อนไหลเป็นชั้นสัญญาบัตร ถึงยศ ร.ต.อ. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2559 (ชื่อหลักสูตรยาวมากกกกกกก..... หรือเรียกภาษาตำรวจสั้นๆ ที่เข้าใจกันคือ หลักสูตร “ดาบฯ 53 ปี” ครับ)สายงานอำนวยการ ที่ศูนย์ฝึกอบรมกลาง อ.ศาลายา จว.นครปฐม ครับ
    เป็นการบรรยายในหัวข้อ “ภาวะผู้นำและการบริหารงานยุคใหม่” เมื่อได้รับเชิญครั้งแรกก็รู้สึกหนักใจ และรู้สึกว่าน่าจะบรรยายยากกว่า หลักสูตรสารวัตร และหลักสูตรผู้กำกับการ ครับ เพราะทุกคนที่เป็นตำรวจยศ ดาบตำรวจ อายุ 53 ปี ทุกคนมีประสบการณ์ มีอายุราชการยาวนาน แม้ว่าจะเป็นตำรวจชั้นประทวนก็ตาม แต่หลายคนก็ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท หรือแม้กระทั่งปริญญาเอก แต่ในอีกด้านหนึ่ง หัวข้อที่ให้พูดเรื่องภาวะผู้นำและการบริหารงานยุคใหม่ ก็อาจไม่ใช่สิ่งที่ดาบตำรวจอายุ 53 จะมีประสบการณ์มาโดยตรงนัก
 
   ไม่เป็นไรครับ ได้รับมอบหมายแล้ว ก็ต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุด จุดมุ่งหมายการบรรยายของผมวันนี้ จึงเริ่มตั้งคำถามผู้เข้ารับการอบรมทุกท่านว่า

"อีก 7 ปี ! ท่านอยากฝากอะไรไว้ให้องค์กรตำรวจบ้าง?" 


    มาบรรยายหลักสูตรนี้ ทำให้ตระหนักได้ว่า วันเวลาได้ผ่านไปอย่างรวดเร็ว เพราะเจอรับลูกน้องเก่า ด.ต.หญิง บงกช ดีเสมอ ซึ่งเคยอยู่ที่แผนกทะเบียนพล กองบัญชาการตำรวจนครบาล มาด้วยกัน พร้อมด้วย ด.ต.กฤตภพ ช่างเหล็ก ผบ.หมู่ ฝอ.4 บก.อก.บช.น.เริ่มต้นการบรรยายโดยการหาตัวช่วยจากลูกน้องเก่าแล้วกันครับ รู้จักกันมายี่สิบกว่าปี ไม่ทำให้ผมผิดหวังครับ ว่าที่ผู้หมวด กฤตภพ ตอบว่าอยากนำประสบการณ์การทำงานที่มีมานาน ถ่ายทอดให้กับรุ่นน้อง  เป็นคำตอบที่ตรงใจผมมากครับ เพราะส่วนตัวผมก็คิดเหมือนกัน ในขณะที่ผู้เข้ารับการอบรมหลักสูตรนี้เกษียณอายุราชการไป ผมก็เหลืออายุราชการต่อไปอีก 8 ปี รวมถึงตั้งแต่บัดนี้ไป ผมก็ยากจะฝากประสบการณ์ ความรู้ที่ได้เล่าเรียนมา ฝึกอบรม ดูงานในที่ต่างๆ ถ่ายทอดให้รุ่นน้องๆ ได้เรียนรู้ต่อไป ซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นความตั้งใจในการทำบล็อกนี้ขึ้นมาด้วยครับ
    ดังนั้น สำหรับหัวข้อแรก เรื่องภาวะผู้นำ สำหรับนายร้อย 53 ปี ถ้าใครมีคำตอบ สำหรับคำถามของผม ถือว่าท่านก็เริ่มมีวิสัยทัศน์ อันเป็นคุณสมบัติสำคัญลำดับแรกของผู้นำแล้วครับ
    สิ่งที่นายร้อย 53 ปี จะฝากไว้ให้องค์กรตำรวจ คำถามนี้ บางคนอาจจะคิดในใจว่า คงเป็นความฝันอันเกินเอื้อมมั้งครับ แค่ทำงานเอาตัวรอดไปวันๆ ไม่ถูกตั้งกรรมการสอบสวน ไม่ถูกลงโทษทางวินัย อยู่รอดจนเกษียณ ก็น่าพอแล้ว ผมก็เลยบอกว่าถ้าท่านคิดอย่างนี้ ก็ถือว่าท่านตั้งใจจะฝากสิ่งดีๆ ให้องค์กรตำรวจแล้ว เพราะแค่ท่านตั้งใจทำงาน ไม่สร้างภาระให้แก่องค์กร ก็ถือได้ฝากสิ่งดีๆ ไว้ตามศักยภาพของตัวเองแล้วครับ สิ่งที่จะฝากไว้ ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องใหญ่โต ไม่ต้องมองถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่มองเรื่องใกล้ๆ ตัว เรื่องในสถานีตำรวจ ในแผนก ในฝ่ายของตนเอง ก็พอแล้วครับ
    ภาวะผู้นำสำหรับนายร้อย 53 ปี ผมคิดว่าลำดับแรก ต้องนำตัวเองให้ได้ก่อนครับ  มีวิสัยทัศน์ซึ่งเป็นภาพที่ฝันให้เกิดขึ้นในอนาคตแล้ว ก็ต้องเชื่อมั่นว่าตนเองจะทำได้ เชื่อมั่นแล้ว ก็ต้องมุ่งมั่นตั้งใจ สื่อสารทำความเข้าใจกับเพื่อนร่วมงานเพื่อให้สามารถทำงานเป็นทีมได้ ผู้นำต้องกล้าตัดสินใจ โดยมีข้อมูลประกอบอย่างเพียงพอ และกล้ารับผิดชอบ แก้ปัญหาให้ลูกน้อง ครับ ง่ายๆแค่นี้  และวิธีการสร้างภาวะผู้นำของแต่ละคน ที่ง่ายที่สุด  “ท่านไม่ชอบสิ่งใดที่ผู้บังคับบัญชาของท่านทำ ท่านอย่าไปทำแบบนั้น” ครับ
   ทำไม นายร้อย 53 ปี จะต้องมีภาวะผู้นำด้วย ในเมื่อหน้าที่ความรับผิดชอบก็ต้องกลับไปทำหน้าที่ในตำแหน่ง ผบ.หมู่ เช่นเดิม ผมจึงได้อธิบายถึง หน้าที่และความรับผิดชอบของ รอง สว.(ตำแหน่งควบ ผบ.หมู่-รอง สว.) ซึ่ง ก.ตร. ได้กำหนดไว้ มีดังนี้
    1.ปฏิบัติงานในหน้าที่และความรับผิดชอบของตำแหน่งระดับ ผบ.หมู่ ที่ปฏิบัติอยู่เดิม ภายใต้การกำกับตรวจสอบโดยทั่วไป และอาจได้รับมอบหมายให้ควบคุมตรวจสอบการปฏิบัติงานของข้าราชการตำรวจจำนวนหนึ่ง หรือ
    2.ปฏิบัติหน้าที่ในกรอบหน้าที่และความรับผิดชอบของระดับตำแหน่ง รอง สว.ตามที่ผู้บังคับบัญชามอบหมาย โดยไม่ขาดจากหน้าที่เดิมได้ตามความเหมาะสม เช่น ตัดสินใจ วินิจฉัยสั่งการ แก้ไขปัญหา หรือปฏิบัติหน้าที่ร้อยเวรบริการบนสถานีตำรวจ หัวหน้ากลุ่มงานสายตรวจ หัวหน้าชุด ตชส. หัวหน้า จร. หน.สายสืบสวน หน.ชุดปฏิบัติการชายแดน หัวหน้าชุดข่าว หัวหน้าชุดปราบปรามยาเสพติด หรือ ปฏิบัติงานด้วยตนเองในลักษณะของผู้มีประสบการณ์ในงานด้านต่างๆ เช่น งานป้องกันปราบปราม สืบสวน จราจร ของหน่วยงานนั้นๆ หรือช่วยเหลืองานของข้าราชการตำรวจระดับตำแหน่งสารวัตรหรือเทียบเท่า เป็นต้น หรือ
    3. ปฏิบัติหน้าที่อื่นที่เกี่ยวข้อง หรือตามที่ได้รับมอบหมาย
    สรุปความให้เป็นภาษาง่ายๆ ก็คือ หน้าที่เดิมในขณะที่เป็น ผบ.หมู่ ก็ยังคงต้องรับผิดชอบอยู่เช่นเดิม แต่เนื่องจากท่านได้รับการเลื่อนชั้นเป็นข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตร ได้รับพระราชทานยศสูงขึ้น ท่านจึงต้องมีหน้าที่ความรับผิดชอบเพิ่มมากขึ้นด้วย โดยผู้บังคับบัญชาอาจมอบหมายงานเพิ่มเติมให้ เป็นการควบคุมดูแลรุ่นน้องๆ สิบตำรวจตรี สิบตำรวจโท หรืออื่นๆ จำนวนหนึ่ง หรือมอบหมายงานในกรอบหน้าที่ของ รองสารวัตร (ตำแหน่งหลัก) ให้ท่านบางส่วนก็ได้ แต่ทั้งนี้ ท่านก็ไม่ขาดจากหน้าที่เดิมนะครั


    
    ส่วนหัวข้อ "การบริหารงานยุคใหม่" สำหรับนายร้อย 53 ปี ผมเน้นไม่กี่ประเด็น ได้แก่
    1. การบริหารตัวเองเป็นลำดับแรก โดยการพัฒนาคุณภาพชีวิตในด้านต่างๆ 4 ด้าน คือ
       - ด้านส่วนตัว ดูแลตัวเอง สุขภาพร่างกาย ลูกเมียครอบครัวให้ดี เมื่อตัวเองมั่นคง จึงจะมีเวลาและแรงในการไปปฏิบัติงานต่อไป ยกตัวอย่าง ตัวเลขสาเหตุการเสียชีวิตของคนไทย 4 อันดับแรก คือ 1) โรคมะเร็ง/เนื้องอก 2) อุบัติเหตุ 3) โรคความดันสูง/หลอดเลือด 4) โรคหัวใจ จะสังเกตได้ว่า สาเหตุการเสียชีวิตที่สูงที่สุด 4 ลำดับดังกล่าว เป็นสาเหตุที่เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตของมนุษย์ทั้งสิ้น ไม่ใช่เรื่องเชื้อโรค ติดเชื้อ แต่อย่างใด ดังนั้นทุกท่านจะดูแลตัวเองอย่างไร มิให้สาเหตุทั้ง 4 ด้านมาอยู่ที่ตัวเรา
       - ด้านการงาน สภาพที่ทำงาน วัสดุอุปกรณ์ ระบบการทำงานต่างๆ ท่านใดเข้าที่ทำงานแล้วสถานที่ทำงานสะอาดเรียบร้อย มีวัสดุอุปกรณ์เพียงพอ ย่อมเกิดคุณภาพในการทำงาน การบริหารยุคใหม่ต้องสร้างสมดุลระหว่างชีวิตส่วนตัวกับชีวิตการงานให้ได้ครับ
       - ด้านสังคม  การบริหารงานยุคใหม่ เราทำงานคนเดียวไม่ได้ ต้องติดต่อสัมพันธ์กับคนอื่นๆ หน่วยงานอื่น นอกหน่วยงานตำรวจ ด้วย จึงต้องสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้างและหน่วยงานอื่นๆ
       - ด้านเศรษฐกิจ จริงๆ แล้วเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ถ้าเงินทองในกระเป๋าไม่พอกิน เรื่องอื่นๆ ไม่ต้องพูดถึง ผมไม่อาจแนะนำอะไรมาก 55 เพราะเป็นเรื่องเงินๆ ทองๆ ส่วนตัว แต่ผมลองชี้ให้เห็นว่าแต่ละท่านเคยวางแผนการเงินของตนเองไว้หรือไม่ ปัจจุบัน เรามีรายได้เท่าไร รายจ่ายเท่าไร เงินออมเท่าไร หากรายจ่ายเกินรายได้ ท่านคิดจะเพิ่มรายได้อย่างไร หรือลดรายจ่ายด้วยวิธีใด และเมื่อแต่ละท่านเกษียณไป รายได้จากเงินเดือนและเงินอื่นๆ จะลดลงไปถึงประมาณ 75% ท่านคิดว่าจะเพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในตอนนั้นหรือไม่ ถ้าไม่พอ จะเอาจะตรงไหนมาใช้ เงินออม หรือจะลงทุนให้เพิ่มรายได้อย่างไร จะซื้อกองทุน ซื้อหุ้น ฯลฯ
     2. การบริหารลูกน้องและพัฒนาคน
        การบริหารคนโดยทำความเข้าใจกับลักษณะของคนต่างยุค หรือต่าง generation ในหลักสูตรนี้ ทุกคนเป็นคนยุค Generation Baby Boomer เพราะทุกคนอายุ 53 ปี เป็นคนที่เกิดมาในยุคหลังสงครามโลก ครั้งที่สอง ยุคที่มี จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ต่อเนื่องถึง จอมพลถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นยุคที่ประเทศไทยเร่งรัดการพัฒนาทางเศรษฐกิจและรับความทันสมัยจากต่างประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา แต่ก็ยังเป็นยุคที่ไม่มีความเจริญด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและคอมพิวเตอร์ ยังใช้ทีวีที่ต้องเดินไปหมุนปุ่มเปลี่ยนช่อง โดยไม่รีโมทคอนโทล แต่เด็กยุค Generation Y หรือคนยุคใหม่ เกิดมาพร้อมกับรีโมตคอนโทล ที่ไม่เพียงแต่มีเฉพาะโทรทัศน์ กระทั่งพัดลม แอร์ ก็มีรีโมต เกิดมาพร้อมกับ Google ที่อยากรู้อะไร ใช้เวลาแค่ไม่กี่วินาที อากู๋ (Google) ก็หาคำตอบให้ได้ทุกเรื่อง  การรับรู้ ความต้องการ ความคาดหวังจึงต่างกันมาก ความเป็นคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ ไม่มีใครผิดครับ แต่เพราะเราเกิดมาในสภาพแวดล้อมที่ต่างกัน จึงมีความคิด วิถีชีวิตที่ต่างกัน เราต้องเข้าใจซึ่งกันและกัน รู้จักใช้คนยุคใหม่ให้เหมาะสม
       สิ่งที่นายร้อย 53 ปี จะฝากไว้กับองค์กรตำรวจ ที่ง่ายที่สุด คือ การถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์ที่ดีให้แก่รุ่นน้องที่กำลังเข้าสู่องค์กร กำลังเติบโตขึ้นมา ระดับผู้บังคับบัญชา ผู้บริหารเราไม่สามารถไปเปลี่ยนแปลงอะไรได้ แต่สำหรับน้องใหม่ที่เข้าสู่องค์กร ท่านสามารถสร้างคนได้ ไม่มากก็น้อยครับ ผมยกทฤษฎีด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่นักวิชาการด้าน HR วิจัยกันไว้ว่า วิธีการพัฒนาคน ด้วยการนั่งเรียน นั่งฝึกอบรมในห้องเรียน ได้ผลแค่ 10% การสอนงานโดยผู้บังคับบัญชาได้ผล 20 % แต่วิธีการลงมือปฏิบัติ (On the Job Training) จะได้ผลถึง 70 % แม้ว่าจะเป็นวิธีที่ได้ผลที่สุด แต่ก็ต้องใช้ทรัพยากรในการพัฒนามากที่สุด เพราะจะต้องมีคนค่อยแนะนำ กำกับดูแลการปฏิบัติงานอย่างใกล้ชิด ซึ่งผมคิดว่าผู้ที่มีประสบการณ์อันยาวนานอย่างนายร้อย 53 ย่อมจะทำหน้าที่นี้ได้ดี เพื่อทำให้น้องตำรวจรุ่นใหม่ได้สิ่งที่ดีและก้าวเป็นกำลังสำคัญขององค์กรต่อไป
     3. บทบาทและหน้าที่ของฝ่ายอำนวยการตำรวจ
    ประเด็นสุดท้ายที่ผมฝากไว้ให้ผู้เข้ารับการอบรม เนื่องจากหลักสูตรที่จัดที่ กองบังคับการฝึกอบรมกลาง (บก.ฝรก.) มีเฉพาะสายอำนวยการ ผมจึงฝากคำกล่าวของ จอมพล สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ องค์ผู้ริเริ่มจัดตั้งโรงเรียนเสนาธิการ ในประเทศไทย ไว้ว่า
ฝ่่ายอำนวยการที่ดี มีหน้าที่แสวงหาข้อตกลงใจที่ดีที่สุด
สำหรับให้ผู้บังคับบัญชาตัดสินใจสั่งการได้อย่างถูกต้อง
      การทำงานของเจ้าหน้าที่ฝ่ายอำนวยการ จึงต้องมีเป็นผู้ที่รวบรวมข้อมูลข่าวสาร ประมาณการ แสวงหาทางเลือกเพื่อให้ผู้บังคับบัญชาได้ตกลงใจ เราไม่มีอำนาจหน้าที่ในการสั่งการแทนผู้บังคับบัญชา เมื่อเราเสนอทางเลือกแล้ว ผู้บังคับบัญชาอาจไม่สั่งการตามแนวทางที่เราเสนอ ก็ไม่ต้องน้อยใจ เพราะผู้บังคับบัญชาอาจมีข้อจำกัดบางประการ ที่ต้องตัดสินใจอีกทางหนึ่ง ความสำคัญอยู่ที่เราจะต้องแสวงหาข้อมูล และประมาณการวิเคราะห์แนวทางการปฏิบัติให้ดีที่สุดเท่านั้น
 
    ผมไม่มั่นใจว่าสิ่งที่บรรยายให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตร ด.ต. 53 ปี สายงานอำนวยการ ที่ศูนย์ฝึกอบรมกลาง จะตรงใจหรือได้ประโยชน์มากน้อยแค่ไหน แต่ผมก็สรุปทิ้งท้ายให้แก่ผู้เข้ารับการฝึกอบรมว่าอย่าลืมคำถามของผมนะครับ

อีก 7 ปี!
ท่านอยากฝากอะไร
ไว้ให้องค์กรตำรวจบ้าง?


 

 

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เรียนรู้เรื่องราวตำรวจญี่ปุ่นกันครับ

การทำงานของตำรวจยุคดิจิทัล ด้วยเทคโนโลยียุคใหม่

ตำรวจเยอรมัน