“ลูกค้าธนาคาร กับลูกค้าตำรวจ” ต่างกันอย่างไร ? ใครอยากรู้โปรดติดตามครับ !!

         โครงการวิจัยเรื่อง “การพัฒนาโครงสร้างองค์กรและระบบงานของสถานีตำรวจ” โดย กองอัตรากำลัง สำนักงานกำลังพล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
          สองเดือนที่แล้วไปเก็บข้อมูลในศึกษาเปรียบเทียบงานตำรวจอาเซียน ที่มาเลเซีย อินโดนีเซีย และกัมพูชา แต่ยังไม่ได้นำมาเล่าให้ฟังนะครับ ขอติดไว้ก่อน สองวันนี้ (31 มี.ค.-1 เม.ย.59) ลองกลับมาศึกษาระบบงานตำรวจไทยบ้างครับ นำคณะทำงานวิจัยของ กองอัตรากำลัง ในโครงการวิจัยเรื่อง "การพัฒนาโครงสร้างองค์กรและระบบงานสถานีตำรวจ" ประกอบด้วยตำรวจสาวสวย หนุ่มหล่อหน้าตาดีทุกคน เดินทางลงพื้นที่ ตำรวจภูธรภาค 7 สถานีตำรวจภูธรนครชัยศรี และ สถานีตำรวจภูธรเมืองนครปฐม ครับ
           ที่ผ่านมาเมื่อเราอยากจะปรับโครงสร้างหน่วยงานหรือพัฒนาระบบงาน ส่วนใหญ่ก็จะอาศัยประสบการณ์ส่วนบุคคล จินตนาการว่าควรจะปรับโครงสร้างอย่างไร โอนหน่วยโน้น ไปให้หน่วยนี้ ยุบหน่วยนี้ เพิ่มหน่วยนู้น ... แต่เราไม่ค่อยได้สำรวจว่าปัญหาที่แท้จริง คืออะไร ปัญหามีสาเหตุมาจากปัญหาด้านโครงสร้างที่ไม่เหมาะสม หรือมีสาเหตุจากระบบบริหารจัดการภายในองค์กรกันแน่ และที่สำคัญ หากปรับโครงสร้างแล้ว จะทำให้การทำงานสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนหรือไม่ ช่วยให้การบริการดีขึ้นหรือไม่
           การวิจัยเรื่อง “การพัฒนาโครงสร้างองค์กรและระบบงานของสถานีตำรวจ” ซึ่งมีวัตถุประสงค์ท้ายสุดที่ต้องการข้อเสนอในการพัฒนาโครงสร้างและระบบงานของสถานีตำรวจ จึงเริ่มต้นการศึกษาที่ “ประชาชน” ในฐานะ “ผู้รับบริการ” หรือเปรียบเทียบในทางธุรกิจ คือ เริ่มที่ความต้องการของ “ลูกค้า” เป็นลำดับแรก แล้วจึงศึกษาปัญหาด้านโครงสร้างและระบบงาน ซึ่งส่งผลกระทบต่อการให้บริการลูกค้า เพื่อนำมาออกแบบองค์กร เพื่อสอดคล้องกับการบริการ
          การประชุมกลุ่มย่อย (Focus Group) ตำรวจชั้นสัญญาบัตร ที่ปฏิบัติหน้าที่ในสถานีตำรวจ พื้นที่จังหวัดนครปฐม ตำรวจภูธรภาค 7 ในวันแรก นำเสนอให้ที่ประชุมเห็นตัวอย่างลูกค้าของธนาคาร ซึ่งกลุ่มลูกค้าประกอบด้วย คนที่จะมาถอนเงิน ฝากเงิน จ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ บัตรเครดิต มากู้เงิน มาซื้อกองทุน มาเปิดบัญชีใหม่ .... (บรา ๆ ๆ )...  จากความแตกต่างของลูกค้า ธนาคารจึงแบ่งประเภทเคาน์เตอร์ให้บริการ แยกเป็น 2 โซน ใช่ป่าวครับ? โซนแรก เป็นเคาน์เตอร์ ประเภทรับฝาก-ถอนเงิน ชำระค่าบริการ และโซนที่สอง เป็นพวกมาเปิดบัญชี มาขอกู้เงิน ทำไมเหรอครับ? เพราะลักษณะการบริการลูกค้ามีความต่างกัน พวกฝากเงิน ถอนเงิน ชำระค่าบริการ มีขั้นตอนให้บริการที่ไม่ซับซ้อน ขั้นตอนน้อย (ยกเว้นเวลาผมไปถอนเงินครั้งละ 5 ล้าน 10 ล้าน อาจต้องใช้เวลานานขึ้นนิดหนึ่งนะครับ.. อิอิ..)  เจ้าหน้าที่ไม่ต้องใช้ดุลยพินิจมากมายนัก ตรวจเอกสาร ลายเซ็นถูกต้อง ก็จ่ายเงินไป หรือรับเงินมา จบนะ
          แต่พวกที่มาเปิดบัญชี ขอกู้เงิน ต้องมีขั้นตอนเพิ่มขึ้น เจ้าหน้าที่ต้องตรวจสอบรายละเอียด ใช้ดุลยพินิจในการพิจารณา บางครั้งอำนาจในการอนุมัติ ต้องเสนอขึ้นไปให้ผู้บริหารระดับสูง ครับ ดังนั้น ธนาคารจึงต้องแยกเคาน์เตอร์บริการประเภทนี้ ออกจากโซนแรก เพราะมิฉะนั้นคนที่มาฝากเงินถอนเงิน อาจจะต้องรอคนที่มาขอกู้เงิน หรือเปิดบัญชี เป็นเวลานาน ก็จะถูกด่าได้ครับ
          ความแตกต่างของลูกค้าและประเภทสินค้าที่ให้บริการ จึงนำไปสู่การออกแบบองค์กรของธนาคาร ที่แบ่งเป็นฝ่ายเป็นแผนก ให้สอดคล้องกับประเภทและความต้องการของลูกค้าไงครับ

          กลับมาดูที่งานของสถานีตำรวจกันบ้างครับ  ตำรวจผู้ร่วมประชุมให้ความเห็นทันทีว่าลูกค้าของตำรวจไม่เหมือนกับธนาคาร ครับ...ก็ไม่เหมือนกันแน่นอนครับ.. ที่ยกตัวอย่างก็ไม่ได้หมายความว่าเหมือนกันนะครับ... ลูกค้าของตำรวจไม่เหมือนกับภาคธุรกิจเอกชนอย่างไรบ้าง ตำรวจในโรงพักของนครปฐมให้ความเห็นว่า

          -ลูกค้าตำรวจ ไม่ได้สมัครใจหรือเต็มใจมารับบริการ ตั้งแต่ผู้ที่ไม่เต็มใจมากที่สุด คือ ผู้ต้องหา ผู้ถูกจับ ผู้ที่ต้องปฏิบัติตามกฎจราจร แม้แต่ผู้ได้รับความเสียหาย ก็ไม่ได้สมัครใจหรือเต็มใจจะเป็นผู้เสียหายเพื่อมาขอรับบริการจากตำรวจ ไม่เหมือนลูกค้าธนาคาร ที่เต็มใจเอาเงินไปฝาก เพื่อให้ธนาคารช่วยเก็บรักษาเงินไว้ และได้ดอกเบี้ย ความไม่สมัครใจไม่เต็มใจ ย่อมทำให้มีทัศนคติที่ไม่ค่อยจะดีต่อตำรวจไปก่อนแล้ว
          -ลูกค้าตำรวจ มีประเภทที่หลากหลาย และมีความต้องการที่หลากหลาย แม้แต่ในลูกค้าประเภทเดียวกัน ยังต้องการบริการที่ไม่เหมือนกัน ตัวอย่างเช่น
                   1. ลูกค้าที่มารับบริการที่สถานีตำรวจ ในประเภทนี้ ก็ยังมีความหลากหลายออกไปอีก  มีทั้ง แจ้งความร้องทุกข์คดีอาญา ซึ่งเป็นลูกค้าหลักและตำรวจก็ต้องให้บริการตามกฎหมายระเบียบที่เกี่ยวข้อง ยังมีลูกค้าประเภทอื่นๆ เช่น แจ้งความเป็นหลักฐาน ยื่นขออนุญาต ขอคำปรึกษา เสียค่าปรับ ข้าราชการตำรวจฝ่ายสอบสวนท่านหนึ่ง ยังให้ความเห็นว่าลูกค้าที่มาแจ้งความ ยังมีความแตกต่างในด้านความรู้ความเข้าใจต่อกฎหมายอีก เช่น คนระดับล่าง ระดับกลาง ระดับสูง มีความรู้ความเข้าใจกฎหมายแตกต่างกัน ทำให้ตำรวจต้องทำงานยากขึ้นด้วยครับ
                   2. ลูกค้าที่แจ้งเหตุในช่องทางอื่นๆ ได้แก่ โทรศัพท์ 191 หรือเบอร์โรงพัก แจ้งกับเจ้าหน้าที่สายตรวจ สายสืบในพื้นที่ เป็นต้น มีข้อมูลที่น่าสนใจว่า ลูกค้าประเภทนี้เต็มใจที่จะไม่มาแจ้งที่โรงพัก เพราะเห็นว่าคงจับคนร้ายไม่ได้ หรือไม่มีทางจะได้ทรัพย์สินคืน (อาจจะเป็นเพราะไม่คาดหวังกับตำรวจ เห็นว่าตำรวจไม่มีประสิทธิภาพ หรืออาจเข้าใจเจ้าหน้าที่ตำรวจจริงๆ ว่ายากที่จะติดตามจับได้ หรือไม่คุ้มกับทรัพย์เล็กน้อย) ลูกค้าประเภทนี้ เพียงแค่ต้องการให้ตำรวจรับทราบว่ามีเหตุแบบนี้เกิดขึ้น เพื่อต้องการให้ไปตรวจตรามากขึ้น ป้องกันมิให้เกิดอีกเพียงเท่านั้น
                   3. ลูกค้าที่อยู่ตามท้องถนน สถานที่สาธารณะ ที่ต้องการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจป้องกันเหตุอาชญากรรมมิให้เกิดขึ้น และการอำนวยและให้บริการด้านจราจร น้องที่ทำงานจราจร ได้ช่วยแบ่งประเภทลูกค้าจราจรแยกย่อยออกไปอีก ได้แก่
                             - ผู้รับบริการทั่วไป เช่น สอบถามเส้นทาง ขอความช่วยเหลือ
                             - ประชาชนทั่วไปที่ใช้รถใช้ถนน ที่ตำรวจต้องจัดการจราจร ให้สัญญาณไฟ พื้นที่จราจรคับคั่ง
                             - การอำนวยความสะดวกในงานสำคัญ มหกรรมขนาดใหญ่ งานบุญ งานวัด งานกีฬา
                    ตำรวจจราจร เห็นว่าลูกค้าประเภทประชาชนที่ใช้รถใช้ถนนในเวลาคับคั่ง เป็นลูกค้าที่เอาใจยากที่สุด เพราะทุกคนอยากได้ไฟเขียว ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทำงานยากที่สุด
                   4. ลูกค้าที่เป็นผู้ต้องหา หรือผู้ถูกกล่าวหา เป็นลูกค้าที่ไม่สมัครใจมารับบริการจากตำรวจมากที่สุด มีทั้งผู้ต้องหาในคดีที่มีผู้เสียหาย ผู้ต้องหาในคดีความผิดต่อรัฐ เช่น ยาเสพติด อาวุธปืน การพนัน  เป็นต้น
          ในความคิดของผม เห็นว่า หากเปรียบเทียบกับบริการของธนาคาร เขาพยายามแบ่งประเภทลูกค้า และประเภทการให้บริการ ตามความซับซ้อนของบริการและขั้นตอน มิให้ปะปนกัน เพื่อให้ลูกค้าที่ไม่จำเป็นต้องมีขั้นตอนให้บริการมาก ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าที่มีปริมาณมากที่สุด ได้รับบริการรวดเร็วที่สุด เป็นการลดปริมาณหรือความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดความไม่พึงพอใจ
          ดังนั้น การบริการประชาชนบนสถานีตำรวจ เราอาจจำเป็นต้องแยกประเภทของลูกค้าให้ได้ ระหว่างลูกค้าที่ไม่จำเป็นต้องมีขั้นตอนหรือการใช้ดุลยพินิจมาก เพื่อจัดการบริการให้รวดเร็ว เสร็จสิ้นออกไป และแยกลูกค้าประเภทที่จำเป็นต้องมีขั้นตอนมากหรือใช้ดุลพินิจมาก ออกมา
           ปัญหาที่สำคัญอย่างหนึ่งที่ผมเคยเจอด้วยตนเองเมื่อครั้งเป็น รองสารวัตรสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลห้วยขวาง ผ่านมาแล้ว 25 ปี แต่ก็ทราบว่าปัญหานี้ก็ยังดำรงอยู่เหมือนเดิม คือ การที่ประชาชนที่มาแจ้งความบนโรงพัก ต้องนั่งรอร้อยเวร ที่ต้องออกไปตรวจสถานที่เกิดเหตุคดีอาญา คดีจราจร นอกสถานีตำรวจ ผมได้โยนคำถามให้ผู้เข้าร่วมประชุมว่า เราจะมีวิธีการแก้ไขปัญหานี้อย่างไร ก็ได้รับคำตอบว่า “แก้ไม่ได้” เพราะ
          1. การรับแจ้งความเป็นอำนาจและหน้าที่ของพนักงานสอบสวน คือ ร้อยเวร ผู้อื่นๆ ทำแทนไม่ได้
          2. แม้จะให้เจ้าหน้าที่ตำรวจคนอื่น มารับหน้ากับประชาชน ซักถามรายละเอียด แต่เมื่อร้อยเวรกลับมา ก็ต้องมาสอบถามใหม่ จะทำให้ผู้มาแจ้งต้องเล่าเรื่องใหม่อีกรอบ เป็นการสร้างความไม่พอใจเพิ่มอีก
          3. การไปตรวจที่เกิดเหตุ เป็นอำนาจหน้าที่เฉพาะของร้อยเวร เพราะอาจต้องไปขึ้นศาลเพื่อเป็นพยาน ดังนั้น จำเป็นต้องไปตรวจที่เกิดเหตุด้วยตนเอง
          4. การแก้ไขปัญหามีทางเดียว คือ ต้องเพิ่มจำนวนร้อยเวรสอบสวน ให้เพียงพอ เนื่องจากปัจจุบันขาดแคลนพนักงานสอบสวน
          ดูแล้วเหมือนปัญหาจะมีวิธีการแก้ไขได้อย่างเดียว คือ การเพิ่มจำนวนร้อยเวรสอบสวน แต่จากมาตรการจำกัดขนาดกำลังพลภาครัฐ ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมทั้งส่วนราชการอื่นๆ ไม่สามารถเพิ่มเติมกำลังคนได้มากกว่าจำนวนข้าราชการที่เกษียณอายุในแต่ละปี ทำให้ปัญหานี้ดูจะไม่มีทางออกซะแล้วหรือป่าวครับ !

          ผมลองเปรียบเทียบข้อมูลการจัดระบบงานของตำรวจมาเลเซีย และ อินโดนีเซีย ที่ได้ไปดูมาก่อนหน้านี้ ความแตกต่างที่ชัดเจนกับตำรวจไทยคือ จุดที่รับแจ้งความจากประชาชน จะเป็นอาคารที่แยกออกจากที่ทำการหลักของสถานีตำรวจหรือกองบังคับการ ดังนั้น จะไม่มีประชาชนเข้าไปเดินอยู่ในพื้นที่ที่ทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ไม่ได้เข้าเวรปฏิบัติหน้าที่ให้บริการประชาชน และตำรวจทั้งสองประเทศ จะไม่ได้แยกงาน แสวงหาพยานหลักฐานหรือการติดตามจับกุมคนร้ายที่ตำรวจไทยเรียกว่างาน “สืบสวน” ออกจากงานสอบสวนปากคำ และรวบรวมพยานหลักฐาน ที่ตำรวจไทยเรียกกว่า “สอบสวน” แต่อย่างใด เหตุคดีใดก็ตามที่เป็นความผิดทางอาญาซึ่งประชาชนมาแจ้งความ จะถูกส่งไปแผนกที่เรียกว่า CID หรือ Crime Investigation Department หรือแผนกสืบสวนสอบสวน ซึ่งในสถานีตำรวจหนึ่ง จะมีแผนกสืบสวนสอบสวน ประมาณ 3-4 แผนก จำแนกตามประเภทคดี จุดที่รับแจ้งความจะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติหน้าที่ประมาณ 3-4 คน เพื่อรับแจ้ง คัดกรองเหตุ หากเป็นเหตุที่จัดการได้เช่นรับแจ้งเป็นหลักฐาน ก็ดำเนินการให้โดยบันทึกลงคอมพิวเตอร์ หากเป็นเหตุคดีอาญาก็จะส่งต่อไปยังแผนก CID คนที่รับแจ้งจึงไม่ต้องออกไปนอกสถานีตำรวจแต่อย่างใด เจ้าหน้าที่ตำรวจที่จะออกไปคือฝ่าย CID และเจ้าหน้าที่สายตรวจ

         แต่สำหรับตำรวจไทย หากเป็นคดีความขึ้นมา การดำเนินการทั้งหมดดูเหมือนจะพุ่งไปที่บุคคลที่เรียกว่า “ร้อยเวร” หรือ “เวรสอบสวน” เพียงคนเดียว ทุกเรื่องต้องรอร้อยเวรพิจารณาและดำเนินการ ทำให้การบริการประชาชนเป็นไปด้วยความล่าช้า และเกิดความไม่พึงพอใจอย่างมาก ความคิดในเบื้องต้นตอนนี้ ถ้าจะแก้ไขปัญหาดังกล่าวผมเห็นว่า ถ้ายังเพิ่มร้อยเวรหรือพนักงานสอบสวนไม่ได้ ก็จำเป็นต้อง

                    - ลดงานที่ต้องให้ ร้อยเวร ทำด้วยตนเอง โดยกระจายงานให้เจ้าหน้าที่อื่นทำ หรือหาคนมาแบ่งเบาภาระร้อยเวร มีผู้เสนอว่าควรให้ร้อยเวรมีเจ้าหน้าที่ช่วยพิมพ์เอกสารต่างๆ เหมือนหน้าบัลลังของศาล หลักการนี้ ก็คือให้มีเจ้าหน้าที่เป็นผู้ช่วยของร้อยเวรในงานเอกสารที่ไม่จำเป็นต้องให้ร้อยเวรทำเอง หรืองานเล็กน้อยอื่นๆ

                    - งานบางอย่างที่กฎหมายให้เป็นอำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวน แต่ก็เป็นงานเล็กน้อย เช่น การปรับใบสั่งจราจร รับแจ้งเอกสารหาย เป็นต้น เราอาจจะต้องเพิ่มอำนาจ (Empowerment) ให้เจ้าหน้าที่ที่ไม่จำเป็นต้องเป็น พงส.ที่จบ นรต.หรือ นบ. ทำหน้าที่แทนได้หรือไม่ ครับ ? นายร้อย (53 ปี) ที่เป็นเสมียนคดี ประจำวันมานานๆ แก้กฎหมาย แก้ระเบียบให้อำนาจป๋าแก่ไปเลยได้หรือป่าวครับ
                    - การออกไปตรวจสถานที่เกิดเหตุ มีทางเป็นไปได้หรือไม่ ที่ “ร้อยเวร” ไม่ต้องไปทุกกรณี ผมไม่ได้สนับสนุนให้เกิดการ “เป่าคดี” นะครับ แต่ไอเดียนี้ มาจากการศึกษาแนวโน้มงานตำรวจในสหรัฐอเมริกา การศึกษาการทำงานของตำรวจอเมริกา พบว่าตั้งแต่ปี 2008 (2551) เมื่อเกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกา หน่วยงานตำรวจในรัฐต่างๆ ต้องประสบปัญหาการขาดแคลนงบประมาณ ซึ่งส่งผลต่อการขาดแคลนเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วย จำเป็นต้องการลดค่าใช้จ่ายด้านต่างๆ และทบทวนว่าจำเป็นหรือไม่? ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ จะต้องเดินทางไปที่เกิดเหตุในทุกประเภทของเหตุที่รับแจ้งทางโทรศัพท์? เหตุอาชญากรรมบางลักษณะ ได้แก่ เหตุลักทรัพย์ในเคหสถาน ร้านค้า ที่เกิดเหตุมาเป็นเวลานานแล้ว จำเป็นหรือไม่ที่จะต้องรีบไปที่เกิดเหตุโดยเร็วที่สุด? เราอาจจะยังไม่สามารถตอบคำถามดังกล่าวได้ในขณะนี้ เพราะหลายท่านก็คงเห็นว่ายังจำเป็นอยู่ เพราะผู้เสียหายต้องการให้ตำรวจไปที่เกิดเหตุ อยากเห็นตำรวจให้ความสนใจ (Police Executive Research Forum. 2014. Future Trends in Policing. Washington, D.C.: Office of Community Oriented Policing Services.)

ผมขอตั้งคำถามในลักษณะเดียวกันว่า  ในบางคดี การไปตรวจที่เกิดเหตุและเก็บรวบรวมพยานหลักฐาน จำเป็นต้องให้ “ร้อยเวร” ไปด้วยตัวเองหรือไม่ เช่น คนร้ายขึ้นบ้าน ทรัพย์สินเสียหายเล็กน้อย เหตุเกิดเมื่อผู้เสียหายทิ้งบ้านไว้เป็นเดือน ไม่รู้ตัวคนร้าย ถ้าให้เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยพนักงานสอบสวน หรือเจ้าหน้าที่ด้านวิทยาการของสถานีตำรวจ ที่เป็นลูกน้องของพนักงานสอบสวนซึ่งมีความสามารถเก็บรวบรวมพยานหลักฐานในที่เกิดเหตุได้อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ (บางคนมีความรู้ดีกว่าพนักงานสอบสวนบางคนเสียอีก !! ) ไปทำหน้าที่แทน “ร้อยเวร” โดยถูกต้องตามกฎหมายและระเบียบ จะได้หรือไม่ (ป.วิ.อ.มาตรา 122 ก็เปิดช่องไว้แล้วว่า “พนักงานสอบสวนจะไม่ทำการสอบสวนในกรณีต่อไปนี้ก็ได้ (1)เมื่อผู้เสียหายขอความช่วยเหลือ แต่ไม่ยอมร้องทุกตามระเบียบ และ มาตรา 128 พนักงานสอบสวนมีอำนาจให้เจ้าพนักงานอื่นทำการแทน การใดเป็นสิ่งเล็กน้อยในการสอบสวน ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจของตนไม่ว่าทำเองหรือจัดการตามประเด็น มีอำนาจสั่งให้ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาทำแทนได้ แต่ทั้งนี้เมื่อประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น มิได้เจาะจงให้ทำด้วยตนเอง)



ผกก.โด่ง พ.ต.อ.ณรงค์ศักดิ์ เจริญวงษ์ ผู้กำกับการฝ่ายวิเคราะห์และกำหนดตำแหน่ง 1 กองอัตรากำลัง ทีมงานวิจัย จึงปิ๊งไอเดียว่า ถ้าเราวิเคราะห์และกำหนดตำแหน่ง ผบ.หมู่ ทำหน้าที่ด้านวิทยาการ และกำหนดเงินเพิ่มพิเศษให้เพื่อเป็นการจูงใจให้มาทำหน้าที่ ให้ขึ้นกับงานสอบสวน ทำหน้าที่ช่วยพนักงานสอบสวน ไปที่เกิดเหตุเพื่อเก็บรวบรวมหลักฐานในที่เกิดเหตุ จะได้หรือไม่?

สำหรับเรื่องวิทยาการตำรวจ หรือนิติวิทยาศาสตร์ สิ่งที่ไปเห็นระบบงานของตำรวจอินโดนีเซีย ที่น่าสนใจคือ หน่วยงานตำรวจซึ่งเทียบได้กับระดับกองบังคับการ หรือตำรวจภูธรจังหวัด ในบ้านเรา จะมีองคาพยพของหน่วยงาน เหมือนกับระดับภาคและระดับตำรวจแห่งชาติ มีทั้งเจ้าหน้าที่สายตรวจ จราจร หน่วยควบคุมฝูงชน แม้กระทั่งพยาบาลตำรวจ รถพยาบาล และรวมถึงมีหน่วยงานนิติวิทยาศาสตร์ ซึ่งแต่งเครื่องแบบเป็นสีส้ม เป็นเอกลักษณ์ที่สามารถเห็นเด่นชัดเมื่อออกไปปฏิบัติหน้าที่ในที่เกิดเหตุ อยู่ในหน่วยนั้นๆ ด้วย

แต่สำหรับตำรวจไทย หน่วยงานวิทยาการ หรือพิสูจน์หลักฐาน ไปรวมอยู่กับสำนักงานพิสูจน์หลักฐาน (สพฐ.) ซึ่งเป็นหน่วยส่วนกลางและมีหน่วยงานย่อยอยู่ตาม ภาคและจังหวัดต่างๆ แต่ไม่ได้มีที่ตั้งหรือสังกัดเดียวกับตำรวจภูธรจังหวัด หรือภาค แต่อย่างใด ปัญหาข้อขัดข้องที่เกิดขึ้น คือ ความไม่เพียงพอของหน่วยงานด้านวิทยาการ และการประสานงานในการออกไปตรวจที่เกิดเหตุ
           จริงๆ แล้ว งานด้านวิทยาการพิสูจน์หลักฐาน เราจะต้องแยกออกเป็น 2 ส่วน คือ
           1. งานเก็บรวบรวมพยานหลักฐาน ในที่เกิดเหตุ งานนี้ไม่จำเป็นต้องใช้นักวิทยาศาสตร์ หรือผู้มีคุณวุฒิพิเศษ ก็ได้ครับ สามารถใช้เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ที่ได้รับการฝึกอบรมให้มีความรู้ในการเก็บรวบรวมพยานหลักฐานในที่เกิดเหตุ เก็บอย่างไรไม่ให้หลักฐานเสียหาย เก็บอย่างไรให้มีมาตรฐานและมีความชอบธรรมในการได้มาซึ่งพยานหลักฐาน (chain of evident) และเข้าสู่กระบวนการสอบสวนอย่างถูกต้อง เช่น การเก็บลายพิมพ์นิ้วมือแฝง รอยเท้า รอยมือ เก็บปลอกกระสุน DNA เป็นต้น งานส่วนนี้ เราสามารถสร้างเจ้าหน้าที่ตำรวจให้มีความรู้ ความชำนาญสามารถปฏิบัติงานได้
           2. งานตรวจพิสูจน์หลักฐาน งานนี้ต่างหากครับ ที่ต้องใช้ผู้มีคุณวุฒิพิเศษ เป็นนักวิทยาศาสตร์ เพื่อทำการตรวจพิสูจน์หลักฐานในห้องแล็บ งานนี้เกินขีดความสามารถหน่วยงานระดับสถานีตำรวจ
สำหรับตำรวจไทย ได้มอบหมายงานทั้งสองส่วนไว้ให้กับ สำนักงานพิสูจน์หลักฐาน เพียงหน่วยเดียว โดยหน่วยตำรวจพื้นที่ ทั้งระดับกองบัญชาการ ตำรวจภูธรจังหวัด สถานีตำรวจ ไม่สามารถทำหน้าที่ดังกล่าวได้ ทำให้กระบวนการรวบรวมพยานหลักฐานของสถานีตำรวจ ต้องล่าช้า และขาดประสิทธิภาพ เพราะต้องรอ พฐ.อย่างเดียว จะทำอย่างไรให้หน่วยงานระดับสถานีตำรวจ หรือระดับกองบังคับการ มีเจ้าหน้าที่สำหรับปฏิบัติงานตามข้อ 1 ให้มากๆ ครับ เพื่อความรวดเร็วในการสอบสวน และสำนักงานพิสูจน์หลักฐาน ไปมุ่งเน้นงานตามข้อ 2 จะดีหรือไม่ครับ

          ความต้องการของลูกค้าที่เป็นผู้เสียหายจากผู้กระทำผิด ผมว่าตำรวจทุกท่านทราบดีครับ เค้าต้องการให้จับคนร้ายให้ได้ ต้องการให้คนทำผิดถูกลงโทษ ต้องการของคืน แต่กระบวนการที่จะทำให้ความต้องการลูกค้าบรรลุความต้องการ จะเกี่ยวข้องกับตำรวจหลายฝ่าย ตั้งแต่คนรับแจ้ง คือ ฝ่ายสอบสวน คนหาพยานหลักฐานและติดตามจับกุมคือฝ่ายสืบสวน คนรวบรวมพยานหลักฐาน กลับมาที่ฝ่ายสอบสวน โดยทั้งสองฝ่ายมีหัวหน้าคนละคน การแยกงานสืบสวนและสอบสวนออกจากกัน เป็นมาตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ.2524 หลังจากมีโครงการสถานีตำรวจนครบาลทดลอง ที่ต้องการแยกงานออกตามงานเฉพาะด้าน (specialization) เนื่องจากมีปริมาณงานมากขึ้น ทำให้ตำรวจที่รับแจ้งความและทำสำนวนการสอบสวน ไม่มีเวลาที่จะออกไปสืบสวนติดตามจับกุมคนร้ายได้ จึงจำเป็นต้องแยกงานสืบสวน ออกจากงานสอบสวน อย่างไรก็ตาม เมื่อได้ปฏิบัติงานโดยแยกงานออกจากกันลักษณะนี้ จะทำให้งานบรรลุความต้องการของลูกค้าหรือไม่ เป็นคำถามที่อยากถามพี่น้องพ้องเพื่อนตำรวจ ให้ช่วยคิดหน่อยครับ????
          งานศึกษาวิจัยเรื่องนี้ ผมพยายามทำความเข้าใจกับทีมงานวิจัยและเพื่อนๆ ตำรวจที่มาให้ข้อมูลว่า ขอให้พยายามลืมโครงสร้างสถานีตำรวจในปัจจุบันที่แบ่งออกเป็น 5 งาน คือ งานอำนวยการ งานป้องกันปราบปราม งานสืบสวน งานสอบสวน และงานจราจร ไว้ชั่วคราวก่อน มิฉะนั้นเราก็จะยึดติดอยู่กับโครงสร้างแบบเดิม เราจะมองไม่เป็นปัญหาที่แท้จริงและแนวทางแก้ไขที่เหมาะสมครับ

          การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร
          ปัจจัยอีกประการที่สำคัญสำหรับการออกแบบโครงสร้างองค์กร คือ ความจำเป็นในการใช้ข้อมูลข่าวสารในการปฏิบัติงาน การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารระหว่างแผนกงานต่างๆ ภายในองค์กร หากหน่วยงานใดมีความจำเป็นต้องใช้ข้อมูลข่าวสารและต้องมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารกันมาก องค์กรนั้น ควรออกแบบให้มีความยืดหยุ่นและมีการประสานงานกันได้ง่าย มิใช่จัดองค์กรแบบราชการที่มีสายการบังคับบัญชาเคร่งครัด เพราะองค์กรแบบนั้น การรายงานข้อมูลดังกล่าวจะเป็นไปในแนวดิ่งมากกว่า

          ระบบการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารแบบดั้งเดิมประการหนึ่งที่ผมเห็นว่าคนโบราณเค้ามีวิสัยทัศน์ดีมาก คือ สมุดบันทึกประจำวัน (ปจว.) ซึ่งเดิมบังคับให้หัวหน้าสถานีตำรวจ คือ สารวัตรใหญ่ หัวหน้างานแต่ละงานคือ สารวัตรป้องกันปราบปราม สารวัตร (หัวหน้างานสอบสวน) สารวัตรสืบสวน สารวัตรจราจร สารวัตรธุรการ  และนายตำรวจทุกคน ต้องเซ็นชื่อปิดประจำวันทุกวัน นั่นคือระบบการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ที่จะทำให้ทุกงานได้ทราบข้อมูลข่าวสาร เหตุการณ์ความเคลื่อนไหวในสถานีตำรวจในรอบวันที่ผ่านมา
          ข้อมูลข่าวสาร (Information) สำหรับงานในสถานีตำรวจ ผมเห็นว่ามีความหลากหลายเช่นเดียวกับลักษณะของลูกค้า และจำเป็นที่จะต้องมีการแลกเปลี่ยนและวิเคราะห์ข้อมูลร่วมกันในระดับที่สูงมาก เช่น ข้อมูลคดีอาญาที่เกิดในพื้นที่ ซึ่งมีทั้งข้อมูลที่มาจากประชาชนเดินทางมาแจ้งที่สถานีตำรวจ โทรศัพท์มาแจ้ง เจอตำรวจสายตรวจแล้วแจ้ง ข้อมูลดังกล่าวจำเป็นต่อทั้งงานสายตรวจเพื่อป้องกันเหตุ จำเป็นต่องานสืบสวน ในการสืบสวนติดตามคนร้าย การขยายผลการสืบสวน จำเป็นสำหรับงานสอบสวน รวบรวมพยานหลักฐาน ตรวจสอบผลคดีประวัติผู้ต้องหา เป็นต้น
          แต่ปัจจุบันระบบที่ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนและวิเคราะห์ข้อมูลร่วมกันภายในสถานีตำรวจ รวมทั้งระหว่างสถานีตำรวจต่างๆ ยังมีอยู่อย่างจำกัด โดยอาศัยการจัดระบบภายในสถานีตำรวจ เช่น การให้ฝ่ายสืบสวนต้องไปตรวจที่เกิดเหตุร่วมกับฝ่ายสอบสวน เป็นต้น  ขึ้นอยู่กับหัวหน้าสถานีตำรวจจะวางระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลกันอย่างไร

          ข้อสังเกตเกี่ยวกับการจัดโครงสร้างองค์กรตำรวจ
          การไปเยี่ยมชมระบบงานของ สถานีตำรวจภูธรเมืองนครปฐม ทำให้เห็นว่าโครงสร้างที่เป็นทางการของสถานีตำรวจ จำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนภายในให้เหมาะสมกับลักษณะงานที่แตกต่างกันในแต่ละสถานีตำรวจ และสอดคล้องกับนโยบายระดับบน อาทิเช่น
- สภ.เมืองนครปฐม ได้จัดแบ่งพื้นที่รับแจ้งความคดีอาญา ออกเป็น 3 พื้นที่ และจัดเวรสอบสวน เป็น 3 ชุดในแต่ละผลัด รับคดีตามพื้นที่เกิดเหตุ

          -การจัดชุดป้องกันและปราบปรามการโจรกรรมรถ (ศปจร.) ที่ต้องใช้ สารวัตรป้องกันปราบปราม (สวป.) หนึ่งนายมาเป็นหัวหน้าชุด และจัดกำลังในชุดปฏิบัติการ โดยประกอบกำลังจากฝ่ายสืบสวน ฝ่ายสอบสวน มาเป็นชุดปฏิบัติการเพื่อป้องกันปราบปรามการโจรกรรมรถในพื้นที่ ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญ โดยให้ชุดดังกล่าวมาขึ้นกับฝ่ายสืบสวน
          ผู้ให้ข้อมูลของ สภ.เมืองนครปฐม ให้ความเห็นไว้น่าสนใจคือ ในจำนวนคดีอาญาที่เกิดขึ้นทั้งหมด เป็นคดียาเสพติดเป็นส่วนใหญ่ นโยบายของรัฐบาล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการด้านยาเสพติด แต่โครงสร้างองค์กรทั้งในระดับสถานีตำรวจ ระดับตำรวจภูธรจังหวัด/กองบังคับการ และระดับกองบัญชาการ/ระดับภาค กลับไม่มีโครงสร้างฝ่ายอำนวยการที่จะรองรับงานด้านยาเสพติดแต่อย่างใด
          ความเห็นดังกล่าว จึงได้คิดต่อไปว่า โครงสร้างองค์กรตำรวจของเรา ดูจะไม่ค่อยเป็นระบบที่สอดคล้องกันระหว่างโครงสร้างระดับชาติ ระดับภาค ระดับจังหวัด และระดับสถานีตำรวจ ทำให้งานในระดับพื้นที่ และระดับนโยบาย ไม่สามารถสอดรับกันไปได้อย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพเพียงพอหรือไม่?

          มาเก็บข้อมูลสองวัน เหมือนจะไม่มีอะไรมาก แต่กลับมีอะไรมาก เอ๊อยังไงครับ ? งงงง อย่างไรก็ตาม ก็ได้ข้อมูล ข้อคิดเห็นกลับไปหลายประการ รวมทั้งอาหารอร่อยๆ จากน้อง พ.ต.อ.ไพฑูรย์ พิทักษ์ธรรม ผกก.สภ.เมืองนครปฐม พ.ต.อ.ธีระเดช อธิภัคกุล ผกก.สภ.นครชัยศรี และขอบคุณ พ.ต.อ.อดิศักดิ์ บุญทัน ผกก.ฝอ.1 บก.อก.ภ.7 พ.ต.ท.หญิง พุทธพร โกศิยะกุล รอง ผกก.ฝอ.1 บก.อก.ภ.7 และ พล.ต.ต.อาทิชา เปาอินทร์ ผบก.อก.ภ.7 ที่ช่วยประสานงานและดูแลทั้งหมดครับ  ขอขอบคุณ ณ โอกาสนี้ด้วยครับ และผลพลอยได้อีกประการหนึ่ง ทำให้ทีมงานข้าราชการ ตำรวจจากกองอัตรากำลัง ได้มาเรียนรู้การทำงานจริงในสถานีตำรวจ แม้ว่าจะเป็นเพียงระยะเวลาสั้นๆ แต่ก็น่าจะได้อะไรกลับไปพอสมควร
           การบ้านของผมสำหรับ trip นี้เสร็จแล้วครับ  กลับไปจะทวงการบ้านของทีมงาน อต. นะคร้าบบบบ... 555...

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เรียนรู้เรื่องราวตำรวจญี่ปุ่นกันครับ

การทำงานของตำรวจยุคดิจิทัล ด้วยเทคโนโลยียุคใหม่

ตำรวจเยอรมัน