Commentator เรื่อง "ปัญหาการไม่เคารพกฎหมายและแนวทางแก้ไข" รัฐศาสตร์ จุฬา

Commentator เรื่อง "ปัญหาการไม่เคารพกฎหมายและแนวทางแก้ไข" รัฐศาสตร์ จุฬา
     28 เม.ย. และ 19 ..59 ไปเป็น commentator ให้นิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้นปีที่ 3 ในวิชา "จริยศาสตร์และความเป็นธรรมทางสังคม" ดีใจที่มีโอกาสได้มาทำอะไรตอบแทนให้สถาบันแห่งนี้บ้างครับ เพราะคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ได้ให้ความรู้ผมในการศึกษาเล่าเรียนยาวนานถึง 9 ปี

     เพื่อนๆ คงงงหล่ะซิครับว่า commentator เกี่ยวอะไรกับวิชาจริยศาสตร์ฯ?? ไม่ต้องงงครับ เนื่องจาก ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ผู้สอนวิชานี้ ให้นิสิตจัดทำวีดิทัศน์ในหัวข้อ "ปัญหาการไม่เคารพกฎหมายและแนวทางแก้ไข" ความยาว 5 นาที แล้วมาเสนอในวันนี้ครับ อาจารย์เห็นว่าหัวข้อเกี่ยวกับงานตำรวจเลยเชิญผมมาเม้นท์นีสนุงครับ
     เป็นเกียรติอย่างยิ่งครับ ได้ขึ้นเวทีร่วมกับ อ.ไชยันต์ พร้อมด้วย อ. แนน หรือ รศ.ดร.พิจิตรา ศุภสวัสดิ์กุล สึคาโมโต้ แห่งคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ คอลัมนิสต์ประจำคอลัมน์ "การเมืองเรื่องของ (สื่อ)สาธารณะ" นสพ.กรุงเทพธุรกิจ พี่หนึ่ง หรือคุณวิทิตนันท์ โรจนพานิช คนไทยคนแรกที่พิชิตยอดเขาเอเวอร์เรส เมื่อปี 2551 และคุณตั้ม ทำงานด้านครีเอทีฟ

     มาวันนี้ ไม่เหมือนเป็นผู้ทรงคุณวุฒินะครับ แต่ได้มาเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ มากมายครับ 

     สิ่งแรก ได้เรียนรู้วิธีการวัดผลการเรียนแบบใหม่ของนิสิตปริญญาตรี ซึ่งไม่ใช่การทำข้อสอบ และไม่ใช่การแบ่งกลุ่มทำรายงานมาส่ง แต่เป็นการรวมกลุ่มทำคลิปวีดีโอ ซึ่งสามารถวัดผลได้ทั้งเนื้อหา และเปิดโอกาสให้นิสิตได้ฝึกการทำงานร่วมกัน และเป็นการฝึกการนำเสนอผลงานด้วยวีดิทัศน์ พี่หนึ่ง วิทิตนันท์ ถามความรู้สึกนิสิตว่าชอบการทดสอบแบบนี้หรือไม่ ผมสังเกตจากคำตอบของน้องนิสิตแล้ว จับความรู้สึกได้ว่าชอบ แต่ก็คงรู้สึกเหนื่อยกว่าจะทำคลิปสำเร็จ เพราะต้องกำหนดประเด็นเนื้อหา ถ่ายทำ ซึ่งมีทั้งในสถานที่และนอกสถานที่ ในบางกลุ่มมีการแจกแบบสอบถามและสรุปผลการสำรวจมาด้วย คงเหนื่อยน่าดูครับ แต่ผลงานที่ออกมา ผมรู้สึกว่านิสิตปริญญาตรียุคนี้ เก่งกว่าในสมัยผมมากมายนัก  

     สิ่งที่สอง รูปแบบการนำเสนอและความรู้ในด้านนิเทศศาสตร์ จากการดูคลิปวิดีโอ จำนวน 52 กลุ่ม ๆ ละ 5 นาที ทำให้เห็นวิธีการนำเสนอหลายรูปแบบ ทั้งการเล่าเรื่องโดยนิสิตเอง การสัมภาษณ์เพื่อสอบถามความคิดเห็นจากบุคคลต่างๆ แล้วนำมาสรุป การแสดงเป็นละครสั้น ซึ่งนิสิตหลายคนมี acting ในระดับเป็นนักแสดงได้สบายเลยครับ และที่น่าสนใจและประทับใจผมมากคือ การนำเสนอโดยร้องเพลงแรพ ซึ่งนิสิตแต่งเนื้อและร้องเองทั้งคลิป  หรือกลุ่มหนึ่ง ที่นำเสนอในชื่อเรื่อง “โกงแต่คืนแล้ว” ใช้วิธีการนำเสนอเป็นการสนทนาของตัวละครหลัก 2 คน ทำให้นึกถึงบทสนทนาของเพลโต ทำให้คนดูได้คิดตามและโต้แย้งในแต่ละประเด็น ที่พยายามจะก้าวข้ามความคิดเห็นให้ไปสู่ความดีในประเด็นที่หากโกงไปแล้ว นำไปบริจาคให้กับหน่วยงานที่กำลังเดือนร้อน จะถือว่าผิดหรือไม่? หรือการใช้เทคนิควาดภาพอธิบาย ซึ่งเป็นเทคนิคที่เห็นในคลิปต่างๆ อยู่มาก แต่นิสิตที่ทำก็มีความคิดสร้างสรรค์ที่ดีและฝีการวาดภาพ ผมคิดว่าน้องน่าจะไปอยู่คณะศิลปกรรมมากว่า ครับ
 
     มีอยู่กลุ่มหนึ่งครับ ทำเรื่อง “การลักลอบค้าประเวณี” และลงทุนเข้าไปสัมภาษณ์ชายที่ขายบริการทางเพศโดยยืนหาลูกค้าริมถนนสาธารณะ ซึ่งเป็นการเข้าถึงแหล่งข้อมูลลึกและได้น่าสนใจมากครับ มีคำถามผู้ถูกสัมภาษณ์ในคลิปว่า มีตำรวจเข้ามาจับไหม? ผมนี่ลุ้นกับคำตอบของชายผู้ขายบริการคนนี้มากครับ ว่าจะตอบว่าอะไร แต่คำตอบทำให้โล่งใจไปเปลาะหนึ่ง “ตำรวจ ก็มีมาจับครับ ไปปรับที่โรงพัก ตำรวจผมไม่กลัวครับ กลัวพวกมาจี้มาปล้นมากกว่า!! แม้ คำตอบน้องทำให้พี่โล่งอกไปครับ
     นอกจากนี้ จากคอมเม้นต์ของผู้ทรงคุณวุฒิท่านอื่นๆ ก็ทำให้ผมได้ความรู้ในด้านการถ่ายทำภาพยนตร์ การทำสารคดี การเล่าเรื่อง เช่น อ.แนน ให้ความรู้ว่าการทำข่าวของนักข่าว วิธีที่ง่ายที่สุดก็คือ การไปสัมภาษณ์ แล้วเอามานำเสนอ วิธีนี้ง่ายแต่ข้อมูลจากการสัมภาษณ์บุคคลบางคน อาจไม่ใช่ข้อสรุปที่ถูกต้อง เราสามารถหาข้อมูลจากแหล่งอื่นๆ ได้ เช่น เอกสาร การตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลหลายๆ แหล่ง การสัมภาษณ์ควรใช้เป็นวิธีเสริมเท่านั้น และนิสิตกลุ่มที่ใช้วิธีการสำเสนอเป็นบทสนทนา ก็ให้ข้อคิดว่า การสัมภาษณ์ คนถูกสัมภาษณ์ก็จะพูดเป็นแนวเดียวกันเท่านั้น ดังนั้น ทำให้ผมเห็นจุดอ่อนของวิธีการหาข้อมูลจากการสัมภาษณ์
 
     สิ่งที่สาม เนื้อหาในประเด็นจริยธรรมและการฝ่าฝืนกฎหมาย เป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับงานของตำรวจโดยตรง ในจำนวน 52 คลิปที่นิสิตปีที่สามได้จัดทำและนำเสนอ ทุกเรื่องเป็นประเด็นที่น่าสนใจ และน่าที่จะมีการอภิปรายหรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันเพิ่มเติม แต่เนื่องจากเวลามีจำกัด จึงไม่สามารถทำได้ครับ
     ผมลองแบ่งกลุ่มเรื่องทั้งหมดดูคร่าวๆ นะครับ ได้แก่
     - การฝ่าฝืนกฎหมายหรือกฎระเบียบ มีเรื่องที่นำเสนอ เช่น การสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ การทิ้งขยะ การไม่ให้ตรวจกระเป๋าเมื่อเข้าระบบรถไฟฟ้า ลักลอบค้าประเวณี เด็กอายุไม่ครบเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดเข้าสถานบันเทิง แท็กซี่ปฏิเสธผู้โดยสาร ขับรถจักรยานยนต์บนทางเท้า ตั้งแผงลอยบนทางเท้า จอดรถในที่ห้ามจอด จอดรถกีดขวางบริเวณสถานีรถไฟฟ้า ขายลอตเตอรี่เกินราคา เป็นต้น
     ผมได้เม้นต์ให้นิสิตฟังไปตั้งแต่วันแรกที่มีการนำเสนอคลิปว่า กฎหมายที่เกี่ยวข้องเหล่านี้ เป็นกฎหมายที่สังคมหนึ่งกำหนดให้เป็นความผิด (Mala Prohibita) มิใช่ความผิดที่เป็นความผิดในตัวเอง (Mala inse) เช่น การฆ่าคนตาย หรือคดีลัก วิ่ง ชิง ปล้น เป็นต้น การบังคับใช้กฎหมายในความผิดที่รัฐกำหนดให้เป็นความผิด เป็นเรื่องน่าปวดหัวสำหรับตำรวจมากครับ เพราะความผิดในลักษณะนี้ รัฐเป็นคนบอกว่าเป็นความผิด ดังนั้น คนในรัฐจึงอาจไม่ได้เห็นพ้องต้องกันว่าเป็นความผิดที่ชัดเจน และเมื่อผมได้ดูคลิปที่นิสิตนำมาเสนอ ยิ่งเข้าใจถึงการบังคับใช้กฎหมายกับความผิดดังกล่าวมากยิ่งขึ้น เนื่องจากหลายคลิปแสดงให้เห็นว่าประชาชนโดยทั่วไปก็ไม่ทราบว่าพฤติกรรมดังกล่าวเป็นความผิดกฎหมายหรือไม่ หากทราบว่าผิด ก็มีข้อโต้แย้งต่างๆ นานา ว่าจำเป็นต้องทำ เช่น กรณีแท็กซี่ปฏิเสธผู้โดยสาร ก็ด้วยความจำเป็น ต้องไปส่งรถ ... บรา... บรา... บรา... ตั้งแผงลอยบนทางเท้า ก็จำเป็นต้องทำมาหากิน... ขายลอตเตอรี่เกินราคา ก็ขายตามราคาไม่ได้ ...อยู่ไม่ได้... รับมาเท่านี้แล้ว... ดังนั้น ให้ตำรวจไปจับคนร้ายฆ่าคนตาย ยังง่ายกว่าไปจับความผิดประเภทนี้ครับ
      แต่นิสิตหลายกลุ่มก็วิเคราะห์สาเหตุของการกระทำดังกล่าว ได้ดีครับ  เช่นการวิเคราะห์โดยใช้แนวคิดการเลือกอย่างมีเหตุมีผล (rational choice) ซึ่งผู้ที่ฝ่าฝืนมักจะเลือกทางที่เป็นประโยชน์ของตนเอง เมื่อชั่งน้ำหนักถึงผลที่จะได้ กับที่จะเสียแล้ว คุ้มค่าจึงได้ฝ่าฝืนกฎหมายดังกล่าว  การเสนอทางแก้ไขจึงสรุปอยู่ที่การบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวดขึ้น กับการสร้างจิตสำนึก
      นอกจากนี้ ยังมีการฝ่าฝืนกฎหมายในลักษณะอื่นๆ เช่น
     - การฝ่าฝืนกฎหมายลิขสิทธิ์  เช่น โหลดเพลง ขายของก็อปปี้ เทปผีซีดีเถื่อน ซึ่งความผิดประเภทนี้ แตกต่างจากการฝ่าฝืนกฎหมายทั่วไป เนื่องจากผลกระทบของการฝ่าฝืนกฎหมายประเภทนี้ เกิดขึ้นโดยตรงกับเจ้าของลิขสิทธิ์ ผู้สร้างสรรค์ผลงาน  มิใช่ประชาชนหรือสังคมโดยทั่วไป ผู้กระทำผิดลักษณะนี้ ทั้งผู้ผลิตหรือผู้ซื้อซึ่งก็ต้องถือเป็นผู้ที่สนับสนุนให้เกิดการกระทำผิด มักไม่เห็นว่าการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดอย่างชัดเจน แต่เห็นว่าเป็นความสะดวกของตนเอง หรือมีผลประโยชน์ตอบแทนที่คุ้มค่า
     - การหลีกเลี่ยงภาษี หรือประเด็นว่าควรเสียภาษีหรือไม่  คลิปลักษณะนี้ ทำให้เราเห็นว่า อาจมีผู้ประกอบการธุรกิจซึ่งเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพของสังคมที่มีความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เช่น ร้านค้าออนไลน์ เป็นต้น ผู้ที่ประกอบธุรกิจประเภทนี้ ควรจะต้องเสียภาษีหรือไม่ เพราะค่าใช้จ่ายก็น้อย กำไรก็เยอะเมื่อเปรียบเทียบกับร้านค้า ที่ต้องมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับสถานที่จำหน่าย มีหน้าร้าน มีลูกจ้าง นอกจากนี้ ยังมีอาชีพอีกลักษณะหนึ่งที่ผมเพิ่งทราบว่ามีรายได้ดีมาก คือ ติวเตอร์อิสระ ที่น้องๆ บอกว่าเดือนหนึ่งอาจมีรายได้หลายหมื่นบาท โดยไม่ต้องลงทุนอะไรเลย นอกจากความรู้ที่ตัวเองมี บุคคลเหล่านี้ควรต้องเสียภาษีหรือไม่? และยังมีการหลีกเลี่ยงภาษีในลักษณะซื้อของหิ้วมาจากเมืองนอก ที่ไม่เสียภาษี วัยรุ่น วัยหนุ่มวัยสาว ที่น้องนิสิตไปสัมภาษณ์หลายคนก็รู้ว่าผิดกฎหมาย แต่ก็เคยซื้อของเหล่านี้ เนื่องจากเห็นว่าถูกและสะดวกดี
     การฝ่าฝืนกฎหมายในลักษณะนี้ นอกจากผู้ขายที่ทำผิดแล้ว ผู้ซื้อยังจะถือว่ามีส่วนสนับสนุนให้เกิดการกระทำผิดหรือไม่ครับ?
     - การทุจริตคอรัปชั่น เช่น กรณีบริษัทไร่ส้ม หรือการโกงแต่นำเงินไปบริจาค เป็นประเด็นทางจริยธรรม ว่าสมควรหรือไม่

การฝ่าฝืนกฎหมาย หรือจริยธรรม หรือละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ที่น่าสนใจอีกประการหนึ่ง คือ การกระทำในโลก Social media มีพฤติกรรมหลายรูปแบบ เช่น การประณามเกินจริงซึ่งทำให้คนอื่นเสียหาย การหมิ่นประมาทในอินเตอร์เน็ต แอบใช้รูปคนอื่นแสดงตัวตน การคุกคามผ่านอินเตอร์เน็ต หลอกขายสินค้าไม่ได้มาตรฐานในอินเตอร์เน็ต สื่อลามกอนาจาร การกระทำเหล่านี้ ในฐานะผู้บังคับใช้กฎหมาย ผมเห็นว่าเป็นความผิดที่ระบบกฎหมายของไทย ยังล่าช้าและตามการเปลี่ยนแปลงและความก้าวหน้าของเทคโนโลยีไม่ทันการณ์ กฎหมายพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ อาจมีความก้าวหน้าไประดับหนึ่งแล้ว แต่พฤติกรรมหลายอย่าง กฎหมายที่มีอยู่ก็อาจยังไม่ครอบคลุม หรือไม่สามารถป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นได้ก่อน เช่น การแอบถ่ายภาพบุคคลในที่สาธารณะซึ่งปัจจุบันแม้ว่าจะเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล แต่ก็ยังไม่เป็นความผิด จนกว่าจะมีการนำไปลงในระบบคอมพิวเตอร์แล้วเกิดความเสียหายขึ้นก่อน จึงจะเป็นความผิด ซึ่งนิสิตกลุ่มหนึ่งได้นำเสนอว่าในประเทศญี่ปุ่น มีกฎหมายที่ควบคุมการถ่ายภาพบุคคลอื่นในที่สาธารณะ ซึ่งผมว่าเป็นประเด็นที่น่าสนใจสำหรับเมืองไทย ที่ควรมีการปรับปรุงกฎหมายในลักษณะดังกล่าว
      - ประเด็นที่เป็นความขัดแย้งในเชิงจริยธรรม เช่น การุณยฆาต หรือการกระทำที่ผิดจริยธรรมแต่กฎหมายเอาผิดไม่ได้  ประเด็นเหล่านี้ น่าที่จะมีการศึกษาเพิ่มเติม และมีข้อเสนอเกี่ยวกับตัวบทกฎหมายและการบังคับใช้ที่เหมาะสมสำหรับสังคมไทยต่อไป


     สิ่งที่สี่ การร่วมเป็น commentator ของผมในครั้ง ทำให้ผมได้แง่คิด และก็ได้ฝากแง่คิดนี้ไว้กับนิสิตที่กำลังไปจบออกไปเป็นกำลังสำคัญของชาติ ว่าจากประสบการณ์ที่ผมรับราชการมาจนเจริญก้าวหน้าในระดับหนึ่ง กับสิ่งที่ผมเรียนรู้จากน้องๆ และบรรดาผู้ทรงคุณวุฒิในครั้งนี้ ผมจึงฝากไว้ 3 คำ สำหรับน้องๆ ที่จะต้องจบออกไปทำงานไม่ว่าจะภาคส่วนไหนก็ตาม

                1. สาระ เนื้อหาสาระที่นิสิตได้เรียนในวิชานี้ คือ จริยศาสตร์ ซึ่งจะเห็นได้ว่าคลิปต่างๆ ที่น้องๆ ทำมา เป็นประเด็นทางจริยธรรม การฝ่าฝืนกฎหมาย  รวมทั้งการจะต้องเลือกระหว่างกระทำในทางใดทางหนึ่ง เมื่อน้องต้องออกไปทำงานจริง น้องก็จะต้องเลือกตัดสินใจที่จะต้องทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง น้องจะต้องตัดสินใจโดยตั้งอยู่บนเหตุผล และอาจเป็นเหตุผลทางจริยธรรม ที่จะต้องสามารถอธิบายได้

                2. การนำเสนอ เปรียบเหมือนกับนำเสนอโดยคลิปในครั้งนี้ แม้ว่าจะมีเนื้อหาสาระที่ดีอย่างไร แต่หากนำเสนอไม่ดี  ก็จะไม่เกิดผลดีแต่อย่างใด การออกไปทำงานก็เช่นกัน การนำเสนอเป็นสิ่งจำเป็น การทำงานต้องมีการนำเสนอให้ผู้บังคับบัญชา ผู้บริหารได้เข้าใจสาระของเรา

                3. ข้อจำกัดด้านเวลา นิสิตมีเวลาสำหรับคลิป 5 นาที โลกแห่งความจริง น้องๆ มีเวลาอันจำกัดในการนำเสนอและการทำงานเช่นกัน ดังนั้น จึงจำเป็นต้องเลือกหรือจัดลำกับความสำคัญ เพื่อให้สามารถทำงานได้ภายในข้อจำกัดโดยบรรลุวัตถุประสงค์ครับ

                ขอให้น้องๆ โชคดีสำหรับวิชานี้ และชีวิตหลังจบการศึกษาครับ

               สำหรับข้อคิดสำหรับเจ้าหน้าที่ตำรวจ และองค์กรตำรวจ การกระทำผิดต่างๆ เหล่านี้ พฤติกรรมหลายอย่างมิใช่การกระทำผิดที่ร้ายแรง แต่เป็นการกระทำที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิของผู้อื่น พฤติกรรมหลายอย่าง หากไม่จัดการแต่ปล่อยปละละเลยให้มีผู้กระทำผิด ก็จะทำให้ผู้อื่นกระทำบ้าง และเมื่อปัญหาลุกลามออกไป ก็ยากที่จะจัดการและบังคับใช้กฎหมาย เหมือนกับที่นักวิชาการตำรวจเรียกว่าทฤษฎีหน้าต่างแตก นั้นแหละครับ ดังนั้น เราจึงควรรีบจัดการกับหน้าต่างที่แตก ก่อนที่หน้าต่างบานต่อไปจะแตกเพิ่มขึ้น ดีหรือไม่ครับ?

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เรียนรู้เรื่องราวตำรวจญี่ปุ่นกันครับ

การทำงานของตำรวจยุคดิจิทัล ด้วยเทคโนโลยียุคใหม่

ตำรวจเยอรมัน