KOBAN & CHUZAISHO ตู้ยามตำรวจญี่ปุ่น

ป้อมตำรวจในญี่ปุ่น Koban & Chuzaisho

       ป้อมตำรวจของญี่ปุ่น (Koban & Chuzaisho) จะเหมือนป้อมตำรวจไทย หรือไม่ ลองติดตามดูกันในตอนนี้นะครับ
ความเดิมจากตอนที่แล้ว สถานีตำรวจของญี่ปุ่น จะรับผิดชอบพื้นที่เขต (district) ซึ่งก็น่าจะเปรียบเทียบได้เท่ากับพื้นที่ของอำเภอในประเทศไทยเรานั่นแหละครับ และป้อมตำรวจ (Koban) กับป้อมที่พักตำรวจ (Chuzaisho) เป็นหน่วยย่อยที่อยู่ภายใต้สถานีตำรวจนั้นๆ และรับผิดชอบพื้นที่ถ้าเปรียบเทียบกับบ้านเราก็น่าจะเป็นพื้นที่ในระดับตำบล ครับ
ลักษณะของ Koban หรือที่ต่อไปนี้ผมจะเรียกว่า “ป้อมตำรวจ” (police box) และ Chuzaisho หรือที่ต่อไปนี้ผมจะเรียกว่า “ป้อมที่พักตำรวจ” (resident police box)

     ป้อมตำรวจ หรือป้อมที่พักตำรวจ จัดตั้งขึ้นในแต่ละพื้นที่รับผิดชอบของสถานีตำรวจ เจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งถูกส่งให้ไปประจำป้อมตำรวจหรืือป้อมที่พักตำรวจ จะได้รับมอบหมายภารกิจของตำรวจชุมชนภายในพื้นที่นั้นๆ การจัดตั้งป้อมตำรวจหรือป้อมที่พักตำรวจนี้มีเป้าหมายเพื่อจะสร้างความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดให้มากยิ่งขึ้นระหว่างชุมชนท้องถิ่นกับเจ้าหน้าที่ตำรวจโดยการใช้เจ้าหน้าที่ตำรวจจำนวนน้อยเพื่อดูแลในพื้นที่ที่เล็กลง
     ในแต่ละสถานีตำรวจ มีประชากรในความรับผิดชอบโดยประมาณ 100,000 คน และมีเจ้าหน้าที่ตำรวจโดยเฉลี่ยประมาณ 100 นาย ใน 1 สถานีตำรวจ โดยเฉลี่ยมีป้อมตำรวจหรือป้อมที่พักตำรวจ จำนวน 11 แห่ง
     ใน 1 ป้อมตำรวจหรือป้อมที่พักตำรวจ จะปฏิบัติหน้าที่คลอบคลุมพื้นที่ซึ่งมีประชากรน้อยกว่า 10,000 คน
   
     หลายท่านคงสงสัยว่า โกบัง กับชูไซโช แตกต่างกันอย่างไร ใช่หรือป่าวครับ
     หลักการในการจัดตั้งป้อมตำรวจ (Koban) และป้อมที่พักตำรวจ (Chuzaicho)
ตำรวจญี่ปุ่นมีข้อบังคับว่าด้วยการปฏิบัติการตำรวจชุมชนของโกบัง ข้อ 16 ระบุว่า
     1) ในแต่ละโกบัง จะต้องมีเจ้าหน้าที่ตำรวจชุมชน ปฏิบัติหน้าที่อย่างน้อย 3 นาย
     2) ในแต่ละชูไซโช จะต้องมีเจ้าหน้าที่ตำรวจชุมชนที่พักอาศัยอยู่ในพื้นที่ ปฏิบัติหน้าที่ จำนวน 1 นาย
ดังนั้น ความแตกต่างระหว่าง โกบัง กับ ชูไซโช ก็คือขนาดและพื้นที่ที่จะตั้งป้อมตำรวจ กล่าวคือ โกบัง จะใช้เจ้าหน้าที่ตำรวจชุมชน อย่างน้อย 3 นาย และเจ้าหน้าที่ตำรวจจะไม่ได้พักอาศัยอยู่ในโกบัง ไม่จำเป็นต้องเป็นคนในท้องถิ่น โกบัง จึงเป็นป้อมตำรวจที่จัดตั้งอยู่ในเขตเมือง ส่วนชูไซโช ใช้เจ้าหน้าที่ตำรวจเพียง 1 นาย และต้องเป็นผู้ที่พักอาศัยในป้อมที่พักตำรวจนั้น ชูไซโช จึงเป็นป้อมที่พักตำรวจที่จัดตั้งอยู่ในพื้นที่ชนบท

    ส่วนเงื่อนไขการจัดตั้งโกบังและชูไซโช ตามกฎหมายตำรวจ มาตรา 53 (5) โกบังและชูไซโช เป็นส่วนที่อยู่ภายใต้และเป็นส่วนหนึ่งของสถานีตำรวจ และมาตรา 15 ข้อบังคับว่าด้วยการปฏิบัติการตำรวจชุมชน การจัดให้มีโกบังหรือชูไซโช ในแต่ละพื้นที่รับผิดชอบของสถานีตำรวจ ให้เป็นไปตามสภาพของท้องถิ่น โดยคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ เช่น
- จำนวนประชากร ซึ่งจะพิจารณาทั้งประชากรที่มีอยู่ในเวลากลางวันและกลางคืน
- จำนวนครัวเรือน
- เขตพื้นที่การปกครอง
- สภาพความเป็นระเบียบเรียบร้อยของประชาชน ความถี่ของคดีที่เกิด และหรือ จำนวนอุบัติเหตุ


     ในป้อมตำรวจต่างๆ จะมีที่ปรึกษาของโกบัง โดยมีข้าราชการตำรวจที่เกษียณราชการ ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้โกบัง ปัจจุบันมีที่ปรึกษาจำนวน 6,300 แห่ง (ข้อมูล 1 เม.ย.2013)


     ข้อมูลเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2556 ในญี่ปุ่นมีสถานีตำรวจจำนวน 1,173 สถานีตำรวจ มีป้อมตำรวจ (Koban) จำนวน 6,248 แห่ง และมีป้อมที่พักตำรวจ (Chuzaisho) จำนวน 6,614 แห่ง โดยญี่ปุ่นมีประชากร 126.6 ล้านคน มีพื้นที่ 377,944 ตารางกิโลเมตร
     เมื่อเปรียบเทียบกับไทยแล้ว เรามีสถานีตำรวจ จำนวน 1,465 สถานีตำรวจ ประเทศไทยมีประชากร 65 ล้านคน มีพื้นที่ 513,115 ตารางกิโลเมตร ดังนั้น จะเห็นได้ว่า ไทยมีประชากรน้อยกว่าญี่ปุ่นครึ่งหนึ่ง แต่มีพื้นที่มากกว่า ในขณะที่ไทยก็มีจำนวนสถานีตำรวจมากกว่าญี่ปุ่น
     ในด้านลักษณะการจัดตั้งโกบังหรือชูไซโช พี่น้องตำรวจไทย อ่านแล้ว น่าจะนึกถึงป้อมตำรวจในพื้นที่กรุงเทพฯ หรือตู้ยามตำบล ในต่างจังหวัด ซึ่งเราก็ได้จัดตั้งไว้ในหลายพื้นที่ ดูแล้วก็น่าจะมีลักษณะเหมือนกัน แต่เราลองมาดูการทำหน้าที่ของป้อมตำรวจญี่ปุ่นกับป้อมตำรวจของไทย นะครับว่ามีความแตกต่างกัน หรือไม่ อย่างไร

     ภารกิจของเจ้าหน้าที่ตำรวจชุมชน (Community Police Officer)
เจ้าหน้าที่ตำรวจชุมชนที่อยู่ในป้อมตำรวจหรือป้อมที่พักตำรวจของญี่ปุ่น จะมีกิจกรรมต่างๆ ที่มากกว่าการเป็นสายตรวจออกตรวจตราป้องกันเหตุเพียงเท่านั้น แต่ยังมีภารกิจอื่นอีกหลายประการ ได้แก่
-ตรวจตราพื้นที่
-ตรวจเยี่ยมบ้านประชาชนและสถานที่ทำงาน
-ให้ความช่วยเหลือเด็กพลัดหลง
-ให้คำแนะนำแก่เยาวชนในท้องถนน
-บอกเส้นทางแก่ผู้ใช้ถนน
-การรณรงค์ด้านความปลอดภัยการจราจร
-การควบคุมฝูงชน
-ให้คำปรึกษาแก่ประชาชน

     ดังนั้น จะเห็นได้ว่าภารกิจของตำรวจชุมชนมีกว้างขวางกว่าการจับกุมผู้กระทำผิดเพียงเท่านั้น ตำรวจชุมชนมีภารกิจครอบคลุมกิจกรรมการให้บริการประชาชนอีกหลายประการ รวมทั้งกิจกรรมที่มุ่งเน้นในการป้องกันอาชญากรรมเป็นสำคัญ
การให้ข้อมูลข่าวสารกับประชาชนและชุมชน
      กิจกรรมที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ ให้ข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชนในพื้นที่ ข้อมูลข่าวสารที่จะต้องมีการจัดเตรียมไว้สำหรับบริการประชาชน ได้แก่ ข้อมูลที่ประชาชนในพื้นที่ต้องการที่จะรู้หรือจำเป็นต้องรู้ และข้อมูลที่เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องการที่จะบอกประชาชน
     วิธีการของเจ้าหน้าที่ตำรวจชุมชนในการสื่อสารข้อมูลข่าวสารให้แก่ประชาชน มีได้หลายช่องทาง ได้แก่
-จดหมายข่าวของโกบังหรือชูไซโช (Koban/Chuzaisho news letters)
-ข่าวสั้นของโกบังหรือชูไซโช (Koban/Chuzaisho flash news)
-เครื่องข่ายโทรสาร (Fax network)
-วิทยุ, เคเบิ้ลทีวี (CATV), หนังสือพิมพ์ท้องถิ่น, วีดีทัศน์ประชาสัมพันธ์, หนังสือพิมพ์ท้องถิ่น
-แผ่นพับ (Pamphlet)
-การประชุม (Meetings)
-อินเตอร์เน็ต (internet)

     ดังที่กล่าวมาแล้วว่า ป้อมตำรวจหรือป้อมที่พักตำรวจ จะทำหน้าที่เป็นศูนย์ความปลอดภัยชุมชน (Community Safety Center) ดังนั้น ป้อมตำรวจหรือป้อมที่พักตำรวจ จำเป็นจะต้องมีการเรียนรู้ความต้องการของประชาชนในพื้นที่
กิจกรรมของ Koban หรือ Chuzaisho มีหลักการคือ ทำให้ชีวิตประจำวันของประชาชนในชุมชนมีความปลอดภัยและสงบสุข โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจชุมชนจะต้องทราบถึงความต้องการของชุมชน เพื่อที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะได้ปฏิบัติหน้าที่ให้ตรงตามความต้องการของชุมชน
     วิธีการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจชุมชน ใน Koban หรือ Chuzaisho จะต้องดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายในการป้องกันอาชญากรรม ได้แก่
-การเยี่ยมเยี่ยนประชาชนที่บ้านและสถานที่ทำงานเป็นประจำ
-จัดตั้งสภาผู้ประสานงาน (liaison council) ของโกบังหรือชูไซโช
-ปฏิบัติหน้าที่เป็นสถานีของผู้ประสานงานป้องกันอาชญากรรมและผู้นำชุมชน
-การสำรวจปัญหาอาชญากรรม รวมทั้งการจัดการประชุมเพื่อปรึกษาหารือในการแก้ไขปัญหาในชุมชน

     ภารกิจที่สำคัญอีกประการหนึ่งของเจ้าหน้าที่ตำรวจชุมชน คือ การตรวจเยี่ยมบ้านเรือนประชาชนและสถานที่ทำงานเป็นประจำ เป็นการไปตรวจเยี่ยมโดยให้การตรวจตรา เพื่อให้ข้อแนะนำเกี่ยวกับการป้องกันอาชญากรรมและป้องกันอุบัติเหตุ
ในแต่ละโกบังหรือชูไซโช จะมีการจัดตั้ง “สภาผู้ประสานงาน” (liaison council) โดยมีจุดมุ่งหมาย คือ
-ทำความเข้าใจความต้องการและความคิดเห็นของประชาชนผู้พักอาศัยในพื้นที่รับผิดชอบ
-เพื่อให้มีการพูดคุยระหว่างตำรวจและประชาชนในพื้นที่และการทำงานร่วมกัน
การจัดองค์กรของ Koban และ Chuzaisho จะมีผู้บริหารจัดการ คือ หัวหน้าเจ้าหน้าที่ของโกบัง และมีประชาชนที่เป็นสมาชิกของโกบัง หรือชูไซโช เป็นบุคคลที่ได้รับการเลือกสรรจากผู้พักอาศัยในพื้นที่รับผิดชอบ และการขับเคลื่อนการทำงานจะมีการประชุม ซึ่งมีทั้งการประชุมตามปกติและการประชุมในภาวะฉุกเฉิน ผู้เข้าร่วมประชุมมีทั้งสมาชิกของโกบังหรือชูไซโช รวมทั้งประชาชนที่พักอาศัยอยู่ในชุมชน

     อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ตำรวจชุมชน มิใช่จะไม่มีการปฏิบัติในด้านการจับกุมผู้กระทำผิดกฎหมาย ตำรวจชุมชนก็มีผลการจับกุมผู้กระทำผิดด้วย ผลการปฏิบัติงานของโกบังและชูไซโชของญี่ปุ่น ในด้านการจับกุมผู้กระทำผิด จะเห็นได้จากสถิติคดีอาญา โดยในจำนวนคดีอาญาทั้งหมด 437,612 คดี มีคดีที่มีการจับกุมโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจชุมชน จำนวน 237,345 คดี คิดเป็นร้อยละ 54 และหากคิดเป็นจำนวนผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมทั้งหมด 287,021 คน เป็นผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจชุมชน จำนวน 237,275 คน คิดเป็นร้อยละ 83

     ขณะที่มีการตรวจตรา เจ้าหน้าที่ตำรวจชุมชนจะสอบถามบุคคลต้องสงสัย ไปตรวจสอบตามสถานที่ที่มีแนวโน้มเกิดอุบัติเหตุ และดำเนินการให้ข้อแนะนำการป้องกันอาชญากรรมแก่ครอบครัวประชาชนในพื้นที่ที่มีแนวโน้มการเกิดอาชญากรรม
ความสำเร็จของภารกิจตำรวจชุมชน จะขึ้นอยู่กับการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ตำรวจกับความเชื่อมั่นของประชาชนในชุมชน รวมทั้งการประสานความร่วมมือระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ตำรวจชุมชนจะต้องมีการปรับปรุงจริยธรรมในการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ เสริมสร้างจิตสำนึกของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ให้การศึกษาในด้านวิชาชีพตำรวจ และจะต้องมีการให้แนวทางการปฏิบัติอย่างต่อเนื่องผ่านโรงเรียนตำรวจและการพัฒนาบุคลากรในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่

     ที่กล่าวมาทั้งหมดจึงพอจะสรุปได้ว่า ตำรวจชุมชนของญี่ปุ่น จะใช้โกบังหรือชูไซโช เป็นหน่วยที่จัดตั้งให้เข้าไปใกล้ชิดกับประชาชนในชุมชน การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจชุมชน ต้องเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์กับประชาชนในการให้ข้อมูลข่าวสารเพื่อการป้องกันปราบปรามอาชญากรรม และที่สำคัญนอกจากการตรวจตราป้องกันเหตุเหตุแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจชุมชนจะต้องเข้าไปจัดทำข้อมูลข่าวสารและตรวจเยี่ยมประชาชนในชุมชนอย่างต่อเนื่อง การปฏิบัติงานของตำรวจจะมีสภาผู้ประสานงาน ที่จะเป็นสะพานเชื่อมระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจกับประชาชน ทั้งนี้ ก็เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับทราบความต้องการของประชาชนเพื่อจะได้ปฏิบัติหน้าที่ให้ตรงตามความต้องการ

     หลักการของตำรวจชุมชนในญี่ปุ่น ที่เพื่อนตำรวจหลายท่านรู้จักใน Koban จึงมีลักษณะดังที่กล่าวไปแล้วทั้งหมดครับ
วันนี้ ขอพาเพื่อนๆ ไปเที่ยวญี่ปุ่นเพียงเท่านี้ ส่วนบางท่านที่สอบถาม AV ญี่ปุ่น ผมไม่ค่อยมีข้อมูลครับ อิอิ.. /

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เรียนรู้เรื่องราวตำรวจญี่ปุ่นกันครับ

การทำงานของตำรวจยุคดิจิทัล ด้วยเทคโนโลยียุคใหม่

ตำรวจเยอรมัน