ตำรวจทั่วโลก ใช้เทคโนโลยีช่วยฝึกอบรมตำรวจ อย่างไรบ้าง?

ตำรวจทั่วโลก ใช้เทคโนโลยีช่วยฝึกอบรมตำรวจ อย่างไรบ้าง?
2️⃣วันที่สองของการประชุมการฝึกอบรมตำรวจองค์การตำรวจสากล ครั้งที่ 21 (21st INTERPOL Police Training Symposium) เป็นการนำเสนอบทเรียนของตำรวจในประเทศต่างๆ ที่นำเทคโนโลยีมาช่วยฝึกอบรมตำรวจ รวมทั้งการฝึกอบรมให้ตำรวจใช้เทคโนโลยีสำหรับการปฏิบัติงาน วันนี้มีหัวข้อทั้งหมด 16 เรื่อง ตั้งแต่ 08.40-17.30 น. เป็นการประชุมที่โหดที่สุดตั้งแต่เคยประชุมมาครับ (ของเมื่อวาน 21 เรื่อง ตั้งแต่ 09.15-18.00 น. จริงๆ ครับไม่ได้โม้ และ INTERPOL เป็นฝรั่งจัดประชุมนะครับ การดำเนินการตามกำหนดการและเวลา เป๊ะ!)
-การใช้โดรนกับงานตำรวจ เปิดเวทีการประชุมให้ฮือฮาในวันนี้ โดยเจ้าภาพมหาวิทยาลัยตำรวจแห่งชาติเกาหลี โชว์ศักยภาพการใช้อากาศยานไร้คนขับ หรือ Drone สำหรับงานตำรวจ ในหัวเรื่องว่า “งานตำรวจล้ำสมัยโดยการฝึกอบรมการใช้โดรน” (Smart Policing through Training on Various Uses of Drones) นำเสนอโดย ดร.กัง วุก (Kang, Wook, Ph.D.) ตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันวิจัยด้านโดรนและความมั่นคง Drone and Security Research Institution) มหาวิทยาลัยตำรวจแห่งชาติเกาหลี
🔴งานตำรวจสมัยใหม่ ภายใต้กระบวนทัศน์ใหม่ ตำรวจเกาหลีนำเสนอว่า
1. การบริหารงานเชิงยุทธศาสตร์ โดยการวางแผนที่ครอบคลุม รวมทั้งการจัดลำดับความสำคัญในการปฏิบัติงานบังคับใช้กฎหมาย จัดทรัพยากรให้เหมาะสมและการเป็นหุ้นส่วนกับชุมชน นอกจากนี้ ยังต้องเน้นการป้องกันอาชญากรรมโดยการจัดสภาพแวดล้อม (หลายประเทศให้ความสำคัญกับการป้องกัน มากกว่าการปราบปรามครับ)
2. วิเคราะห์และวิจัย การปฏิบัติการของตำรวจ จะต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลข้อเท็จจริง เช่น การป้องกันอาชญากรรมโดยการใช้ข้อมูลและวิเคราะห์เพื่อทำนายแนวโน้มอาชญากรรม (ถึงเวลาที่ตำรวจไทย จะต้องทบทวนระบบตู้แดงหรือยังครับ?)
3. เทคโนโลยี การใช้เครื่องมือที่ทันสมัยเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของตำรวจ ซึ่งรวมถึงการใช้โดรน
🔵เทคโนโลยีโดรนในปัจจุบัน มีหลากหลายประเภท มีขีดความสามารถที่แตกต่าง มีจุดอ่อนจุดแข็ง เช่น ประเภท Fixed Wing สามารถบินได้ไกล เร็ว แต่ก็ต้องใช้รันเวย์ในการขึ้นลงจอด และเป็นชนิดที่มีราคาแพง ประเภทมอเตอร์เดี่ยว บินได้นาน บรรทุกน้ำหนักได้มาก แต่ก็อันตราย (เครื่องดับ ตกทันที) และควบคุมได้ยาก ประเภทหลายมอเตอร์ มีความคล่องตัว ใช้ง่าย ควบคุมกล้องได้ ปฏิบัติงานในพื้นที่จำกัดได้ แต่บินได้ไม่นาน และบรรทุกน้ำหนักได้น้อย ประเภท tilt roter สามารถขึ้นลงในทางดิ่งได้ บินได้นาน แต่ยังอยู่ในขั้นการพัมนา
การใช้โดรนสำหรับงานแต่ละประเภทจึงขึ้นอยู่กับลักษณะ ข้อจำกัด ข้อเด่น ครับ
ปัจจุบันมีการใช้โดรนในลักษณะต่างๆ ที่หลากหลาย
ใช้โดรนส่งอาหาร
ใช้โดรนส่งยา (ยารักษาโรค ครับ แต่ผมว่าอีกไม่นาน คงมีคนร้ายใช้โดรนส่งยาเสพติดหรือเปล่า)
ใช้โดรนส่งสิ่งขนในระยะทางไกล
ใช้โดรนเพื่อสนุกสนาน เช่น ในงานวันฮาโลวีน ใช้โดรนเพื่อทำเป็นผี บินได้
ใช้โดรนฉีดยาฆ่าแมลงในพื้นที่การเกษตร
ใช้โดรนเพื่อถ่ายรูปตัวเอง (Selfie Drone)
ในอนาคตในอพาร์ทเมนต์หรือคอนโดมีเนียม ที่เคยมีระเบียง อาจจะต้องมีพื้นที่บนระเบียงห้องสำหรับจอดโดรน ครับ
เราจะใช้โดรนกับงานตำรวจได้อย่างไรบ้าง
ดร.กัง นำเสนอว่างานตำรวจที่จะใช้โดรนได้ คือ
1. การบังคับใช้กฎหมายจราจร นอกจากการตรวจตราเฝ้าดูสภาพการจราจรในถนนโดยใช้โดรนแล้ว และสามารถใช้โดรนตรวจจับผู้ฝ่าฝืนกฎจราจรบนทางด่วนได้อีกด้วย (คงคล้ายๆ ในหนังฝรั่งที่ตำรวจขับ ฮ. ไล่ตามคนร้ายบนทางหลวง) ตรวจจับคนขับรถที่ขอบขับรถบนไหล่ทาง จอดรถในที่ห้ามจอด
2. การใช้โดรนในงานสายตรวจหรือการปิดล้อมตรวจค้น เมื่อได้รับแจ้งเหตุด่วน ใช้โดรนบินไปที่เกิดเหตุ ตรวจหาคนร้าย ก่อนที่เจ้าหน้าที่ตำรวจสายตรวจจะเดินทางไปถึง หรือกรณีที่จำเป็นต้องเข้าไปล้อมจับคนร้าย ใช้โดรนเพื่อดูว่าคนร้ายอยู่ตรงไหน มีกี่คน เป็นต้น
3. ตรวจหายาเสพติด ในเกาหลี มีการลักลอบปลูกฝิ่นในบางพื้นที่ เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้โดรนในการตรวจสอบโดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่เป็นเกาะ เพื่อค้นหาพื้นที่ปลูกฝิ่นโดยเฉพาะอย่างในพื้นที่ชนบท เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถเข้าไปปราบปรามได้อย่างมีประสิทธิภาพ
4. ค้นหาหลักฐานในที่เกิดเหตุ
5. เข้าตรวจสอบที่เกิดเหตุอาชญากรรม โดยเฉพาะอาชญากรรมที่เป็นเหตุด่วนและมีความร้ายแรง
6. การควบคุมฝูงชนในการชุมนุมประท้วง
7. การติดตามรถต้องสงสัย
การจะใช้โดรนในงานตำรวจ จำเป็นต้องมีการฝึกอบรมบุคลากรที่จะใช้งานและจัดทีมปฏิบัติงานนะครับ มิใช่มีเงินไปซื้อโดรนแล้วจะใช้งานได้ทันที การประกอบกำลังเป็นชุดโดรนประกอบด้วยเจ้าหน้าที่อย่างน้อย 3 นาย คือ
1.นักบิน หรือคนควบคุมโดรน
2 ผู้ช่วยนักบิน เพื่อช่วยสังเกตการณ์ หรือสนับสนุน
3. จนท.ศูนย์ควบคุมภาคพื้นดิน (เป็นเหมือนหอบังคับการบิน)
แต่สำหรับกรณีศึกษาที่เป็นความสำเร็จของตำรวจเกาหลี ในการใช้โดรน มิใช่เรื่องอาชญากรรม แต่เป็นการใช้โดรนเพื่อติดตามคนหาย ปัญหาคนหายในเกาหลีเป็นปัญหาสำคัญ ในแต่ละปีมีการแจ้งคนหายจำนวนมาก แม้ว่าภารกิจในการติดตามคนหายในเกาหลี เป็นความรับผิดชอบของกระทรวงสวัสดิการสุขภาพ (Ministry of Health Welfare) แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะเป็นผู้รับแจ้งเหตุคนหาย และก็จะต้องจัดกำลังเพื่อติดตามคนหายเนื่องจากตำรวจเป็นหน่วยงานที่มีเจ้าหน้าที่และทรัพยากร และเมื่อมีการติดตามคนหายในแต่ละครั้งก็จะใช้เจ้าหน้าที่ตำรวจจำนวนมากออกระดมค้นหาในพื้นที่ที่สงสัย การใช้โดรนจึงเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหา
ตำรวจเกาหลี กับกระทรวงสวัสดิการสุขภาพ จึงทำงานร่วมกันเพื่อพัฒนาการใช้โดรนมาช่วยติดตามคนหาย
มีการออกแบบโดรนให้เหมาะสม ติดกล้องที่สามารถตรวจจับใบหน้าคนได้ (face recognize) มีการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จะใช้โดรน และการออกฝึกในพื้นที่จริง เช่น ใช้คนออกไปในพื้นที่ 5 คน และฝึกให้ค้นหาโดยใช้โดรน สามารถค้นหาได้ 3 คน และในการปฏิบัติงานจริงก็มีกรณีตัวอย่างที่สามารถค้นหาผู้สูญหายได้จริง
🔴ประเด็นสุดท้ายที่เจ้าหน้าที่ตำรวจและฝ่ายความมั่นคงสงสัยและกังวลกันมาก คือ การใช้โดรนของฝ่ายผู้ไม่หวังดีหรือผู้กระทำผิดกฎหมาย สถาบันวิจัยด้านโดรนและความมั่นคง ซึ่งก่อตั้งเมื่อปี 2016 ก็ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่เกี่ยวกับการศึกษาเพื่อหาแนวทางดำเนินการต่อภัยคุกคามของผู้ไม่หวังดีที่จะใช้โดรนคุกคามความปลอดภัยของประชาชนเช่นกัน ดร.กุก ตอบคำถามนี้เบื้องต้นว่า เกาหลีมีกฎหมายและกฎระเบียบในการควบคุมโดรนเช่นกัน แต่แนวทางการป้องกันจำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยกันต่อไปครับ (คำตอบนี้ เกาหลีก็ยังไม่สามารถตอบได้กระจ่างเช่นกันครับ)
🔷การนำเทคโนโลยีมาใช้ คงไม่ใช่แค่มีงบประมาณแล้วหามาใช้ แต่ที่สำคัญกว่าคือการฝึกอบรมให้ จนท ใช้เทคโนโลยีได้อย่างคุ้มค่า🔷

วันนี้เรื่องโดรนอย่างเดียวพอครับ ยกให้เจ้าภาพเกาหลี เป็นพระเอกคนเดียวครับ
เทคโนโลยีอื่นๆ กับการฝึกอบรมตำรวจ ขอติดไว้ก่อนครับ
Cr Dr. Kang Wook

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เรียนรู้เรื่องราวตำรวจญี่ปุ่นกันครับ

การทำงานของตำรวจยุคดิจิทัล ด้วยเทคโนโลยียุคใหม่

ตำรวจเยอรมัน