การเปลี่ยนผ่านการฝึกอบรมโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม


การเปลี่ยนผ่านการฝึกอบรมโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม (Transforming Training through Technology and Innovation) ของตำรวจสิงคโปร์
นำเสนอโดย Mr SOH Kee Hean ผู้อำนวยการอาวุโส สถาบันฝึกอบรมมหาดไทย (Home Team Academy - HTA) และทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนสืบสวนสอบสวนคดีอาญา ใน HTA สถาบันดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของ Home Team Academy ซึ่งเป็นสถาบันฝึกอบรมให้แก่หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายในสิงคโปร์ ประเทศที่ขึ้นชื่อว่ามีความปลอดภัยมากที่สุดในโลก
ความท้าทายของโลกในปัจจุบัน มีปัญหาใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา ประเด็นความมั่นคงและอาชญากรรมแบบใหม่ ขบวนการเคลื่อนไหวของคนกลุ่มต่างๆ ที่เติบโตมากขึ้น ประชากรสูงวัย ในขณะที่กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจมีอย่างจำกัด เทคโนโลยีในโลกสมัยใหม่เป็นทั้งอุปสรรคและโอกาส เทคโนโลยีอาจถูกใช้เป็นเครื่องมือกระทำผิดของอาชญากร แต่เทคโนโลยีก็อาจใช้เป็นเครื่องมือในการต่อสู้กับอาชญากรรมรวมทั้งใช้พัฒนาเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เช่นกัน
ตำรวจสิงคโปร์ตระหนักว่าการศึกษาและพัฒนาเจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องมีการเปลี่ยนแปลง
เปลี่ยนจาก “ผู้สอนเป็นหลัก” เป็น “ผู้เรียนเป็นหลัก”
เปลี่ยนจาก “การบรรยาย” เป็น “การดึงความสามารถออกมาจากผู้เรียน”
เปลี่ยนจาก “การเรียนในห้องเรียน” เป็น “การเรียนทุกที่ทุกเวลา”
แนวทางการเปลี่ยนผ่านการฝึกอบรมของตำรวจสิงคโปร์ น่าสนใจหลายประการที่ตำรวจไทยน่านำมาปรับใช้หรือสร้างระบบเสียใหม่ครับ
·       การฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ (frontline officer) เจ้าหน้าที่ตำรวจระดับปฏิบัติการ มักต้องอยู่ปฏิบัติหน้าที่ประจำในพื้นที่ต่างๆ เป็นการยากที่จะเข้ารับการฝึกอบรม (อันนี้น่าจะเหมือนตำรวจไทย พอมีคำสั่งให้ส่ง จนท.ตำรวจ ไปอบรม จึงส่งคนที่ไม่ค่อยชอบทำงานในพื้นที่ไป หรือคนที่อยากไป ก็ไม่ให้ไป บอกว่าถ้าไปแล้วใครจะทำงาน !!! ) ตำรวจสิงคโปร์จึงมีแนวคิดว่าแทนที่จะนำตัวเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาฝึกอบรมในศูนย์ฝึกอบรม แต่สร้างพื้นที่สำหรับการฝึกอบรมในพื้นที่ปฏิบัติงานดังกล่าว โดยไม่ต้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องออกจากพื้นที่มารับการฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกอบรม เช่น ระบบการฝึกอบรมก่อนหรือขณะเข้าเวรปฏิบัติหน้าที่ (Pre-Shift/In-Shift Training) โดยกำหนดระยะเวลาก่อนเข้าเวรปฏิบัติหน้าที่ซึ่งจะต้องฝึกอบรม เป็นจำนวนกี่ชั่วโมง ในรอบ 1 สัปดาห์  หรือระหว่างเข้าเวรปฏิบัติหน้าที่เวลากลางวัน/กลางคืน จะต้องมีชั่วโมงการฝึกในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรือการเรียนรู้ด้วยตนเอง ไม่น้อยกว่ากี่ชั่วโมงในสัปดาห์ เป็นต้น
·       ห้องเรียนเคลื่อนที่ (Mobile Classroom) เป็นการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการฝึกอบรมตำรวจ โดยนำการฝึกอบรมลงไปให้เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ โดยภายในห้องเรียนเคลื่อนที่จะมีเครื่องฝึกสถานการณ์สมมติ หรือ VR ที่ช่วยฝึกทักษะของเจ้าหน้าที่ตำรวจ
·       ประสบการณ์การปฏิบัติซึ่งนำไปสู่การเรียนรู้ และการเรียนรู้ของเจ้าหน้าที่จากการปฏิบัติจริง การพัฒนาเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ควรจำกัดเฉพาะวิธีการฝึกอบรมเท่านั้น แต่การเรียนรู้จากการปฏิบัติหน้าที่จริงจะทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าใจและสามารถนำไปปฏิบัติงานได้จริง และสามารถลดข้อผิดพลาดได้ ตำรวจสิงคโปร์ จึงใช้วิธีการนำภาพเคลื่อนไหว จากกล้องติดตัวเจ้าหน้าที่ตำรวจ (body camera) มาวิเคราะห์และทบทวน (after action reviews) เป็นการพัฒนารูปแบบหนึ่ง
·       E-learning หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายสิงคโปร์ มีระบบการบริหารจัดการการเรียนรู้ (Home Team Learning Management System) ซึ่งดูแลระบบการฝึกอบรม และมีแพกเกจการเรียนรู้ทางอิเลกทรอนิกส์ ซึ่งเป็นโปรแกรมทางคอมพิวเตอร์เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถพัฒนาตนเองได้โดยไม่ต้องมาเข้าห้องเรียน แต่มากกว่านั้น ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถพัฒนาตนเองได้ทุกที่ทุกเวลา ตลอด 24 ชั่วโมง  ด้วยโปรแกรมการเรียนรู้ผ่านโทรศัพท์มือถือ (Mobile Learning Package) ซึ่งข้อดีของวิธีการเรียนแบบนี้ นอกจากง่ายต่อการเข้าถึงแล้ว ยังตอบสนองความต้องการที่หลากหลาย ในด้านเนื้อหาการฝึกอบรม รูปแบบ ภาพ ภาพเคลื่อนไหว ทำให้การเรียนรู้มีประสิทธิภาพ และยังสามารถใช้โปรแกรมดังกล่าวร่วมกันได้ ในหน่วยงานต่างๆ
·       Smart Campus / Smart Classroom สถานที่ศึกษาอบรมและห้องเรียน ต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย ห้องเรียนยุคใหม่ไม่เพียงต้องระบบอินเทอร์เนตที่ครอบคลุมและรวดเร็วแล้ว ยังต้องมีระบบเทคโนโลยีที่สนับสนุนให้นักเรียน กับอาจารย์ ได้ติดต่อสื่อสารกันได้ นักเรียนสามารถทำงานหรืออภิปรายแลกเปลี่ยนข้อมูล ระหว่างกันได้ผ่านระบบเทคโนโลยี มีระบบสนับสนุนครูฝึก การบันทึกการสอนเพื่อให้นักเรียนสามารถนำมาทบทวนได้ตลอดเวลา
·       เทคโนโลยีการฝึกในสถานการณ์จำลอง (Simulation Technology) คนทั่วไปจะเคยได้ยินการฝึกโดยเครื่องสถานการณ์จำลองสำหรับนักบิน แต่เครื่องดังกล่าวก็สามารถนำมาใช้ฝึกเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เช่นกัน เช่น สถาบันพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของตำรวจเกาหลี ได้สร้างเครื่องฝึกการขับรถยนต์จำลอง สำหรับการฝึกการขับขี่รถยนต์แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจ รวมทั้งการฝึกโดยมีเหตุการณ์อาชญากรรมเสมือนจริง ด้วยเทคโนโลยี VR  (Virtual Reality Crime Scene Trainer) ซึ่งใช้เทคโนโลยี 3 มิติ (3-D Technology) จำลองเหตุอาชญากรรมและฝึกให้เจ้าหน้าที่ตำรวจตัดสินใจในการปฏิบัติ การใช้กำลัง อาวุธ ให้เหมาะสมกับสถานการณ์  หรือใช้ฝึกการบริหารเหตุการณ์วิกฤติที่เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องทำงานร่วมกัน การแก้ไขปัญหาของผู้บังคับบัญชาการหรือผู้บริหารเหตุการณ์ ซึ่งจะมีศูนย์ฝึกด้านการควบคุมสั่งการ ที่สามารถจำลองสถานการณ์ต่างๆ และให้เจ้าหน้าที่ตำรวจร่วมกันฝึกในสถานการณ์สมมติดังกล่าว เช่น ภัยธรรมชาติ จับตัวประกัน การชุมนุมประท้วง หรือเหตุวิกฤติอื่นๆ
·       การพัฒนาการฝึกอบรมในยุคต่อไปของสิงคโปร์  พัฒนาจาก E Learning เป็นการฝึกเป็นเกมส์  การใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) สนับสนุนการฝึกตำรวจ และทำให้สามารถฝึกได้ตลอดเวลา 24 ชั่ว 7 วัน
·       ความท้าทายของการฝึกอบรม คือ
1.       ความคิดและทัศนคติของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จำเป็นต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลง การฝึกครูฝึกให้มีแนวคิด (mindset) ใหม่ รวมทั้งความสามารถในการฝึกอบรมตามแนวทางใหม่ หรือการใช้เทคโนโลยีดังกล่าว  
2.       ความสอดคล้องกันระหว่างความต้องการของการปฏิบัติหน้าที่ และการฝึกอบรม
3.       การเปลี่ยนแปลงของปัญหาอาชญากรรมและที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานตำรวจที่เกิดขึ้นตลอดเวลา
สรุปได้จากบทเรียนด้านการเปลี่ยนแปลงการฝึกอบรมของตำรวจสิงคโปร์ คือ
การบริหารการฝึกอบรม
การจัดการความรู้
สมรรถนะการปฏิบัติหน้าที่ ความเป็นมืออาชีพ
ความเชื่อมั่นและความพึงพอใจในการทำงาน
คือสิ่งที่ต้องไปด้วยกัน และเชื่อมโยงกัน  

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เรียนรู้เรื่องราวตำรวจญี่ปุ่นกันครับ

การทำงานของตำรวจยุคดิจิทัล ด้วยเทคโนโลยียุคใหม่

ตำรวจเยอรมัน