เยือนดินแดนภารต : ประสบการณ์ใหม่ร่วมเสวนาระดมความคิดเกี่ยวกับความมั่นคงในภูมิภาคกลุ่มประเทศอ่าวเบงกอล

เยือนดินแดนภารต : ประสบการณ์ใหม่ร่วมเสวนาระดมความคิดเกี่ยวกับความมั่นคงในภูมิภาคกลุ่มประเทศอ่าวเบงกอล

คิดว่าหมดโครงการที่ต้องเดินทางไปต่างประเทศแล้วในช่วงนี้ เพราะจบโครงการวิจัยและงานที่เกี่ยวข้อง แต่ก็มีโอกาสอีกครั้ง ซึ่งขอขอบคุณ ผศ.ดร.สุรัตน์ โหราชัยกุล คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ให้เกียรติและความไว้วางใจอย่างมากกับผมและน้องเป้งส์ ร.ต.อ.ปกรณ์ ทองจีน เป็นตัวแทน Think Tank จากประเทศไทย ไปร่วมการเสวนาระดมความคิดเกี่ยวกับความมั่นคงในภูมิภาคกลุ่มประเทศอ่างเบงกอล (BIMSTEC Think Tank Dialogue on Regional Security) ณ กรุงนิวเดลี สาธารณรัฐอินเดีย ระหว่าง 13-14 พ.ย.61

เรื่องที่ได้รับมอบหมายให้ไปนำเสนอคือ เรื่องอาชญากรรมข้ามชาติ แต่เมื่อส่งชื่อพวกเราไปผู้จัดงานแถมให้พูดเรื่องความมั่นคงทางทะเล (Maritime Security) เพิ่มอีกหัวข้อด้วยครับ 
เรื่องอาชญากรรมข้ามชาติ เป็นหัวข้อที่ทีมงานของโรงเรียนนายร้อยตำรวจ นำโดย พล.ต.ท.ดร.ปิยะ อุทาโย หัวหน้าโครงการวิจัย กำลังทำวิจัยเรื่อง การพัฒนาการบริหารจัดการงานตำรวจของไทยและการยกระดับความร่วมมือกับองค์กรตำรวจของประเทศสมาชิกอาเซียนในการดูแลความปลอดภัยสาธารณะจากปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) อยู่แล้ว เราจึงมีข้อมูลที่สามารถไปนำเสนอได้ไม่ยาก แต่สำหรับเรื่องความมั่นคงทางทะเล พวกเราเป็นตำรวจ และเป็นตำรวจบกด้วย ไม่ใช่ตำรวจน้ำ จึงกังวลกันไม่น้อย แต่ไม่เป็นไรครับ นึกถึงคำกล่าวของ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ “ภายใต้ดวงอาทิตย์นี้ ไม่มีสิ่งใดที่ตำรวจไทยทำไม่ได้ ในทางที่ไม่ขัดต่อศีลธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามและกฎหมายบ้านเมือง” รวมทั้งได้รับการสนับสนุนจากเพื่อนพ้องน้องพี่ พี่จ๋อ แห่ง สมช. พี่ปั้ด พี่ป๊อบ แห่งกองทัพเรือไทย พี่พล น้องบุ๋ม น้องเทน และน้องโจ แห่งตำรวจน้ำไทย ช่วยสนับสนุนข้อมูลต่างๆ ภายในเวลา 5 วัน รวมทั้งอากู๋ Google ที่ช่วยผมได้มากมาย

Speaker ในเวทีเรื่องความมั่นคงทางทะเล (Maritime Security) ส่วนใหญ่เป็นอดีตทหารเรือ ท่านหนึ่งเป็นอดีต ผบ.ทร.ศรีลังกา! ท่านหนึ่งเป็นอดีตทหารเรือผู้เชี่ยวชาญจรวดมิซไซส !! แห่งกองทัพเรืออินเดีย ท่านหนึ่งเป็นอดีตทูตอินเดียประจำฟิลิปปินส์และอีกหลายประเทศ !!! ท่านหนึ่งเป็นนักวิจัยและนักกิจกรรมทางการเมืองที่เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ !!!! มีผมแหวกแนวเป็นตำรวจจากไทยแลนด์อยู่คนเดียว อาศัยวิกฤติเป็นโอกาสครับ เลยเชิญชวนมาดูมุมมองมิติด้านความมั่นคงทางทะเลจากเจ้าหน้าที่ผู้บังคับกฎหมาย

“ยุทธศาสตร์ความมั่นคงทางทะเลของไทย: บทบาทของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ” (Thailand’s Maritime Security Strategy: Role of the Royal Thai Police) คือเรื่องที่เตรียมไปนำเสนอ ขอเล่าแบบย่อๆ นะครับ เพราะรู้ตัวว่ามิใช่ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนี้ แต่สถานการณ์บังคับจึงเป็นโอกาสที่ดีที่ได้หาความรู้เรื่องนี้ รวมทั้งเรื่องกลุ่มประเทศอ่าวเบงกอล

กลุ่มประเทศในอ่างเบงกอล ได้ร่วมมือกันจัดตั้ง “ความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ” หรือภาษาอังกฤษ คือ Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation เรียกโดยย่อยว่า BIMSTEC ปัจจุบันมีสมาชิก 7 ประเทศ ได้แก่ บังคลาเทศ ภูฏาน อินเดีย เนปาล ศรีลังกา เมียนมา และไทย (ท่านใดสนใจรายละเอียด โปรดดู http://www.mfa.go.th/business/th/cooperation/245/42516-ความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลาย.html
สมาชิกทั้ง 7 ประเทศ มีไทยและเมียนมาที่เป็นสมาชิกอาเซียน จริงๆ แล้ว BIMSTEC เกิดขึ้นด้วยความริเริ่มของประเทศไทย และวัตถุประสงค์คือความร่วมมือในด้านเศรษฐกิจ แต่ปัจจุบันดูเหมือนประเทศที่น่าจะมีบทบาทนำคืออินเดีย และปัจจุบันได้ให้ความสนใจเรื่องความมั่นคงในภูมิภาคมากขึ้นกว่าเดิม การจัดเสวนาระดมความคิดครั้งนี้ จึงเป็นการเสวนาในประเด็นด้านความมั่นคง

ในเชิงภูมิศาสตร์ประเทศไทย เป็นศูนย์กลางของคาบสมุทรอินโดจีน แต่ในกลุ่มประเทศอ่างเบงกอล ไทยอยู่ทางตะวันออกสุด ประเทศไทยจึงเหมือนเป็นสะพานเชื่อมระหว่างกลุ่มประเทศอ่าวเบงกอล กับอาเซียน

ปัญหาหรือความท้าทายด้านความมั่นคงทางทะเลของไทย แบ่งออกเป็น 2 ได้แก่
     กลุ่มแรก ปัญหาการทำลายสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล เช่น การทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal, unreported, and unregulated (IUU fishing) ซึ่งเป็นปัญหาที่รัฐบาลไทยให้ความสำคัญในการแก้ไขและมีสถานการณ์ที่ดีขึ้นในปัจจุบัน
     กลุ่มที่สอง การฝ่าฝืนกฎหมายและอาชญากรรมข้ามชาติ เช่น การลักลอบขนสินค้าหนีภาษี ยาเสพติด การลักลอบเข้าเมือง การประมงผิดกฎหมายของเรือต่างชาต เป็นต้น

     ส่วนยุทธศาสตร์ความมั่นคงทางทะเล ก็สรุปให้เห็นว่าประเทศไทยได้พยายามปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ด้านความมั่นคงทางทะเล (Maritime Security) ที่จะส่งผลถึงผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเล (Maritime National Interest) และการรักษาความมั่นคงทางทะเลจำเป็นต้องมองแบบองค์รวม (Holistic Approach) คือ ความมั่นคงทางทะเลที่เกี่ยวเนื่องกับความมั่นคงในทุกด้าน การแก้ไขปัญหาต้องมองทุกมิติ และมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน จำเป็นต้องบูรณาการร่วมกัน  และประเทศไทยได้กำหนดกลไกการนำยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติมีกลไกระดับต่างๆ ได้แก่
  • กลไกระดับนโยบาย คือ  คณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ National Maritime Interest Policy and Administration Committee)
  • กลไกระดับปฏิบัติการ คือ ศูนย์ประสานการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) Thai Maritime Enforcement Coordinating Center (THAI-MECC) ซึ่งในประเทศไทยมีหลายหน่วยงานที่มีความเกี่ยวข้องกับความมั่นคงทางทะเล ศรชล จึงจัดตั้งขึ้นมาเพื่อประสานการปฏิบัติระหว่างหลายหน่วยงานให้สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในประเด็นนี้ ประธานของการเสวนาก็ได้กล่าวว่า ไทยแลนด์ไม่ต้องกังวล เพราะประเทศอื่นๆ ก็มีปัญหาเดียวกันครับ
     นอกจากนี้ จากปัญหา IUU รัฐบาลไทย จึงได้จัดตั้ง ศูนย์บัญชาการแก้ไขการทำประมงผิดกฏหมาย (ศปมผ.) ขึ้นมาโดยเฉพาะเพื่อจัดการ ซึ่งสถานการณ์ปัจจุบันดีขึ้นแล้ว

     ปัจจัยแห่งความสำเร็จของการรักษาความมั่นคงทางทะเล คือ การบูรณาการร่วมกันทุกฝ่าย ซึ่งก็รวมถึง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก็เป็นหน่วยงานหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการบังคับใช้กฎหมาย เพราะในที่สุดเมื่อมีผู้กระทำผิดกฎหมายแม้ในทะเล ก็ต้องนำมาดำเนินคดีบนบกนะครับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติไทย มีทั้งตำรวจน้ำ และสถานีตำรวจ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ที่ทำหน้าที่บังคับใช้กฎหมายสำหรับผู้ที่กระทำผิดกฎหมายทางทะเลฉบับต่างๆ
     สำหรับเรื่องความร่วมมือระหว่างประเทศ ได้ยกกรณีศึกษาความร่วมมือระหว่างประเทศไทย กับมาเลเซีย ซึ่งแม้ว่ามาเลเซียจะมิได้เป็นประเทศในกลุ่มประเทศอ่าวเบงกอล แต่ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งซึ่งอาจใช้เป็นบทเรียนในการขยายความร่วมมือในลักษณะนี้  หน่วยความมั่นคงทางทะเลของไทย คือ กองทัพเรือ และตำรวจน้ำ กับมาเลเซีย ได้มีการฝึกร่วมกันเป็นประจำทุกปี ทั้งในทะเลด้านอ่าวไทย และทะเลอันดามัน ผลสำเร็จที่ได้นอกเหนือจากการเพิ่มขีดความสามารถในการป้องกันปราบปรามการลักลอบขนสินค้าผิดกฎหมายทางทะเล การป้องกันผู้อพยพและค้ามนุษย์ทางทะเล แล้ว ผลลัพธ์ที่สำคัญคือ ได้ยกระดับความร่วมมือระหว่างผู้ปฏิบัติในการสร้างความมั่นคงทางทะเล ความสัมพันธ์แบบไม่เป็นทางการที่ทำให้สามารถติดต่อสื่อสารกันได้อย่างรวดเร็ว

            บทสรุปของการนำเสนอในครั้งนี้ คือ
          -การยกระดับความมั่นคงทางทะเลเป็นภารกิจที่สำคัญ เพื่อการปกป้องผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเล
          -การเพิ่มความมั่นคงทางทะเล เราจำเป็นต้องมีแนวทางดำเนินการอย่างเป็นองค์รวม มองให้ครอบคลุมทุกด้าน และทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้เข้ามาร่วมมือและทำงานด้วยกัน
          -ความร่วมมือระหว่างประเทศที่จะสร้างความมั่นคงทางทะเล จำเป็นต้องจัดทำนโยบายด้านความมั่นคงทางทะเลโดยรัฐและสร้างความสัมพันธ์ทั้งในระดับนโยบาย และในระดับปฏิบัติการ

     มีคำถามจากผู้ฟังในห้องเกี่ยวกับการขุดคอคอดกระ ครับ แต่ประธานช่วยชีวิตผมไว้ ด้วยการขอให้ไปสอบถามกันเองหลังจบเวทีเสวนาเพราะเห็นว่ามิใช่ประเด็นในภาพรวม ผมเลยรอดไป (เตรียมคำตอบไว้ในใจเพียงว่า I have no ideal in this issues 55)
     ผมเพิ่มทราบภายหลังว่า อินเดีย รวมทั้งอีกหลายประเทศให้ความสนใจเกี่ยวกับแนวคิดการขุดคอคอดกระ ซึ่งเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อน ยากและล่อแหลมสำหรับการตอบคำถาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเราไม่มีความรู้ในเรื่องนี้อย่างจริงจังครับ
     จบการเสวนาด้วยความเรียบร้อย น้ำที่ตั้งไว้บนโต๊ะของผมเกือบหมดขวด เพราะมีตำราบอกว่าการดื่มน้ำจะช่วยให้คลายความเครียดได้ ผมจึงจิบน้ำจนเกือบหมดขวดครับ !!!!
      ประสบการณ์จากการเดินทางครั้งนี้ ทำให้รู้ว่าตัวเรายังไม่รู้อะไรอีกมากมายบนโลกใบนี้ ภาษาอังกฤษของผมยังอ่อนและต้องพัฒนาอีกมาก ประเทศต่างๆ คิดอย่างไรกับความสัมพันธ์กับประเทศอื่นๆ คนแต่ละประเทศก็มีมุมมองอันแตกต่างกัน  

     ต้องขอขอบคุณ ผศ.ดร.สุรัตน์ โหราชัยกุล  ท่านอภิรัตน์ สุคนธาภิรมย์ ณ พัทลุง อัครราชทูต ที่ดูแลและให้คำแนะนำเป็นอย่างดี  ท่านชุตินทร คงศักดิ์ เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงนิวเดลี พร้อมภริยา ที่เป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารแก่คณะผู้เข้าร่วมเสวนาจาก รร.นรต.และ สมช. เจ้าหน้าที่สถานทูตทุกท่าน น.อ.จุมพล คล้อยภยันต์ ผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารอากาศ ซึ่งก็เพิ่งทราบว่าเป็นรุ่นพี่ OSK104 แต่เป็น นตท. 28 รุ่นเดียวกัน เนื่องจากเราเป็นรุ่นพิเศษที่เรียนร่วมกันในระยะเวลาอันสั้นมาก แต่เมื่อเจอกันก็มีเรื่องราวคุยกันมากมายครับ 

     การเดินทางครั้งนี้ ด้านเนื้อหาสาระเป็นประสบการณ์ที่มีค่ามากจริงๆ ครับ  และยังเป็นครั้งหนึ่งในชีวิต ที่ได้ไปชมสิ่งมหจรรย์ของโลก ทัชมาฮาล นั่งรถไป 4 ชม กลับ 4 ชม. เพื่อไปเดินดูทัชมาฮาลที่เดียวครับ แต่ก็คุ้มเพราะสวยงามจริง ๆ  ขอบคุณเจ้าหน้าที่ตำรวจอินเดีย ที่อำนวยความสะดวกในการเข้าชมทัชมาฮาล เพราะถ้าให้เดินทางมาเอง เห็นสภาพแล้วครับว่าต้องทำอย่างไร

สิ่งประทับใจในดินแดนภารต
ข้อด้อยของอินเดียผมคงไม่ต้องพูดถึง เชื่อว่าหลายท่านก็คงเคยได้ยินได้ฟัง หรือเคยมาประสบด้วยตนเอง  แต่ผมพยายามหาข้อดีของอินเดียครับ ภายใต้ข้อจำกัดของการเดินทางมาครั้งแรก และเวลาอันสั้น เป็นความเห็นส่วนตัวและเบื้องต้นนะครับ ผิดถูกอย่างไร แลกเปลี่ยนหรือโต้แย้งได้ครับ
·       คนอินเดียเป็นนักการขายชั้นเยี่ยมครับ เมื่อท่านเข้าไปซื้อของจะเหมือนถูกสะกดจิต คนขายของชาวอินเดีย จะสามารถยกเหตุผล ชักแม่น้ำทั้ง 5 มาให้ทำให้ท่านตัดสินใจซื้อสินค้าของเขาได้แน่นอน
·       คนอินเดียใจเย็น เพราะแม้การขับรถในอินเดียจะมีการบีบแตรกันตลอดทาง แต่คนอินเดียก็ไม่จอดรถลงมาชกหรือทำร้ายกัน (หากเป็นเมืองไทย ต้องมีลงมาชกกันเป็นอย่างน้อยครับ)
·       แต่งตัวเรียบร้อย ไม่ว่าคุณจะมีฐานะอย่างไร คนอินเดียจะสวมกางเกงสแลค สวมเสื้อเชิ้ตแขนยาว รองเท้าหุ้มส้น โดยส่วนใหญ่
·      ถานศึกษามีความสำคัญ พื้นที่บ้านเรือนคนอินเดีย หรืออาคารทั่วไป อาจจะทรุดโทรมไม่น่าดู แต่สำหรับบริเวณพื้นที่และอาคารของมหาวิทยาลัย โรงเรียน สถานศึกษา ดูสวยงามดีกว่าสถานที่อื่นๆ และยิ่งใหญ่มากครับ อินเดียจึงน่าจะเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับเรื่องการศึกษา
·       คนอินเดียเก่งเรื่องไอที (แต่คนเก่งกลับไปทำงานในต่างประเทศ โดยเฉพาะ USA จำนวนมาก)
·       ตำรวจอินเดียหน้าตาดุ น่าเกรงขาม ผมยังไม่เห็นรอยยิ้มของตำรวจอินเดีย และดูประชาชนชาวอินเดียจะเกรงกลัวตำรวจมาก
·       มาตรการจำกัดความเร็วในทางหลวงเข้มงวดมาก รถขนาดใหญ่ รถโดยสารวิ่งในความรวดที่จำกัด โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ ว.10 ตลอดเส้นทางเป็นระยะๆ (แต่แปลกใจมากเมื่อรถเข้าเขตเมือง กลับวิ่งเร็วกว่าในเขตทางหลวง ขับซิ่งอย่างเห็นได้ชัด อันนี้ผมไม่เข้าใจจริงๆ ครับ)
·       ระบบรักษาความปลอดภัยสถานที่สำคัญค่อนข้างเข้มงวด เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศไทย เช่น โรงแรม ศูนย์การค้า มีการติดตั้งเครื่องตรวจโลหะ และมีพนักงาน รปภ.ตรวจค้นผู้เข้าออกตลอดเวลา

คืนสุดท้ายก่อนกลับ เปิด Lap Top เพื่อจะพิมพ์บทความนี้ กลับเจอข่าวว่าหน่วยข่าวของอินเดีย แจ้งเตือนว่ามีกลุ่มผู้ก่อการร้ายพยายามจะเดินทางจากรัฐปันจาบ เข้าสู่กรุงนิวเดลี !!!
เอ้า ขออนุญาตลากลับประเทศไทยก่อนนะครับ




ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เรียนรู้เรื่องราวตำรวจญี่ปุ่นกันครับ

การทำงานของตำรวจยุคดิจิทัล ด้วยเทคโนโลยียุคใหม่

ตำรวจเยอรมัน