งานตำรวจในโลกชีวิตวิถีใหม่ (New normal policing)

 งานตำรวจในโลกชีวิตวิถีใหม่ (New normal policing)

            ห่างหายจาก FC มานาน ด้วยเหตุผลนานาประการ กลับมาพร้อมกับสถานการณ์โควิด 19

            สถานการณ์โควิด 19 ทำให้การใช้ชีวิตของทุกคนเปลี่ยนไป รวมทั้งชีวิตความเป็นอยู่และการทำงานของตำรวจ รับทราบข้อมูลจากเพื่อนพ้องน้องพี่ตำรวจที่อยู่ในพื้นที่ต่างๆ ถึงภาระหน้าที่ที่เพิ่มขึ้น ปัญหาข้อขัดข้องที่เกิดขึ้นในการปฏิบัติงานตำรวจในระหว่างเกิดโรคติดต่อ ก็เลยสงสัยว่าตำรวจในประเทศอื่นเค้ามีปัญหาในการทำงานช่วงสถานการณ์โควิด19 หรือไม่?

            จากการสำรวจข้อมูลคราวๆ ในโลกออนไลน์ เกี่ยวกับผลกระทบของโรคระบาดที่เกิดกับงานตำรวจ ก็พอทราบว่าปัญหาที่ตำรวจไทยเจอ ตำรวจในต่างประเทศก็เจอเช่นกัน และอาจมีปัญหามากกว่าบ้านเราเสียอีก โควิด 19 ส่งผลต่อการทำงานตำรวจอย่างไรบ้าง ลองมาดูกันครับ

            1.ความสัมพันธ์ระหว่างตำรวจกับชุมชน

            เมื่อเกิดโรคระบาด ในฝั่งของประชาชน ซึ่งมีความเครียดจากความกังวลว่าจะติดเชื้อ และความกดดันที่ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดหรือมาตรการต่างๆ ของรัฐเพื่อจำกัดการแพร่ระบาดของเชื้อโรค เช่น Lockdown การปิดกั้นพื้นที่ ห้ามเข้าสถานที่ ห้ามออกจากบ้าน เป็นต้น ในฝั่งของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ต้องเป็นผู้บังคับใช้กฎหมาย ตรวจตรามิให้ประชาชนฝ่าฝืนข้อกำหนดดังกล่าว เราจึงอาจเห็นความตึงเครียดระหว่างตำรวจกับประชาชนในชุมชน

            การติดต่อสื่อสารในสภาวะวิกฤติเช่นนี้ จึงมีความละเอียดอ่อน รวมทั้งมีปัญหาจากข่าวปลอม หรือข้อมูลข่าวสารที่คลาดเคลื่อน โควิด 19 เป็นโรคระบาดที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในโลก ความรู้ความเข้าใจ ข้อมูลข่าวสารต่างๆ จึงยังมีน้อย โดยเฉพาะช่วงแรกๆ ของสถานการณ์

            2. สุขภาพจิตและความเป็นอยู่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ

            เจ้าหน้าที่ตำรวจ ก็เช่นเดียวกับประชาชนโดยทั่วไป ตำรวจก็มีความกังวลว่าจะติดโรค ในขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ต่างๆ เป็นผู้เผชิญเหตุการณ์ต่างๆ เป็นคนแรก (first responder) ต้องติดต่อกับประชาชนทั้งเหยื่ออาชญากรรม และผู้ต้องสงสัย ดังนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจ จึงเป็นเจ้าหน้าที่ที่มีความเสี่ยงต่อการติดโรคระบาด

            สถานการณ์โรคระบาด เจ้าหน้าที่ตำรวจนอกจากจะต้องรับภาระหนักขึ้นจากการที่ต้องตรวจตรา บังคับใช้กฎหมายเพื่อดูแลให้ประชาชนปฏิบัติตามข้อกำหนดที่รัฐออกมาเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อโรค บางครั้งตำรวจต้องรับภาระเพิ่มขึ้นจากการที่เพื่อนร่วมงานติดเชื้อ หรือต้องถูกกักตัวเนื่องจากคนในครอบครัวเป็นผู้ติดเชื้อ

            สถานการณ์โรคระบาด เป็นเรื่องที่เราไม่ได้คาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้น และเช่นเดียวกับสถานการณ์วิกฤติอื่นๆ ที่เรามักขาดการฝึกซ้อมเพื่อเตรียมการตั้งแต่ขั้นก่อนเกิดเหตุให้มีความพร้อม  (preparedness) การเผชิญกับเหตุการณ์โดยไม่มีความพร้อมย่อมทำให้เจ้าหน้าที่เกิดความเครียดได้

3.การบริหารจัดภารภายในองค์กร

ภาระหน้าที่หลักของเจ้าหน้าที่ตำรวจ คือ การป้องกันปราบปรามอาชญากรรม ในสถานการณ์โรคระบาด โควิด-19 เราพบความเปลี่ยนแปลงของอาชญากรรมที่เกิดขึ้น

ในภาคธุรกิจ การค้าขาย โควิด 19 ทำให้หลายกิจการต้องปิดไป เช่น การท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหาร สถานบริการ เป็นต้น แต่หลายกิจการ เติบโต สวนทางกัน เช่น การส่งอาหาร พัสดุ อุปกรณ์เทคโนโลยี ออนไลน์ เป็นต้น 

ในภาคอาชญากรรมก็เช่นกัน คดีบางประเภทลดลง เช่น วิ่งราวทรัพย์ เหตุประทุษร้ายในที่สาธารณะอาจเป็นเพราะประชาชนออกจากบ้านน้อยลง คดีลักทรัพย์ในเคหสถาน หรืองัดแงะ ย่องเบา เพราะประชาชนส่วนใหญ่อยู่บ้าน (โจรไม่รู้จะงัดเข้าบ้านไปได้อย่างไร) เป็นต้น ยืนยันได้จากสถิติการรับแจ้งเหตุทาง 191 ที่ลดลงในช่วงโควิด 19

คดีบางประเภทที่เพิ่มขึ้น เช่น Cybercrime การหลอกลวงทางอินเทอร์เน็ต เพราะเมื่อประชาชนต้องรักษาระยะห่าง (social distancing) ก็ต้องใช้บริการต่างๆ ทางออนไลน์ จึงเป็นช่องทางให้อาชญากรไซเบอร์ เข้ามาหลอกลวงมากขึ้น นอกจากนี้ มีข้อมูลจากตำรวจสากล (Interpol) ระบุว่าในช่วงโควิด 19 พบคดีการหลอกลวงซื้อขายสินค้าเวชภัณฑ์ในอินเตอร์เน็ต ยาปลอม หลอกขายวัคซีน อุปกรณ์ตรวจเชื้อโควิด 19 หน้ากากอนามัย มีคดีเหล่านี้เกิดขึ้นในหลายประเทศ

คดีความรุนแรงในครอบครัว (Domestic Violence) เพิ่มขึ้นในสถานการณ์โควิด 19 อันนี้อาจสอดคล้องกับข่าวก่อนหน้านี้ว่าในช่วงโควิด 19 มีสถิติคดีหย่าร้างเพิ่มขึ้น เพราะอยู่บ้าน เจอหน้ากันทุกวัน เป็นโอกาสให้เกิดการกระทบกระทั่ง ผนวกกับความเครียดจากสถานการณ์โรคระบาด การตกงาน ปัญหาทางเศรษฐกิจ

คดีการละเมิดทางเพศทางอินเตอร์เน็ต ก็มีเพิ่มขึ้นด้วย ท่านที่มีบุตรหลาน อยู่ในวัยรุ่น อาจต้องเพิ่มความระมัดระวัง จากการที่เด็กต้องอยู่บ้าน เรียนออนไลน์ เป็นช่องโอกาสที่ต้องอยู่กับโลกออนไลน์ เป็นช่องโอกาสให้มิจฉาชีพ เข้ามาล่อลวงเด็กและเยาวชนให้เผยแพร่หรือส่งภาพที่ไม่เหมาะสมของตนเอง แล้วใช้ภาพนั้นมาข่มขู่ ตัวเลขการรับแจ้งคดีดังกล่าวมีเพิ่มขึ้นในสถานการณ์โควิด 19

ความเปลี่ยนแปลงของสภาพอาชญากรรมดังกล่าว ทำให้ตำรวจจำเป็นต้องปรับการปฏิบัติงานให้ทันต่อสถานการณ์

ผลกระทบต่อการบริหารจัดการภายในองค์กรด้านอื่นๆ ได้แก่ การขาดแคลนเจ้าหน้าที่ เนื่องจากการติดเชื้อของตำรวจและครอบครัว และผลกระทบต่อการปฏิบัติงานและมาตรฐานทางวิชาชีพ ข้อจำกัดด้านเครื่องมือ วัสดุอุปกรณ์ เช่น หน้ากากอนามัย ถุงมือ อุปกรณ์ป้องกันตนเอง (Personal Protective Equipment-PPE)          

ข้อจำกัดในด้านการสืบสวนคดีอาชญากรรม ในสถานการณ์โควิด 19 ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจในหลายหน่วยงาน อาจต้องชะลอการสืบสวนคดีอาชญากรรม เนื่องจากขาดเจ้าหน้าที่และข้อจำกัดในด้านการเดินทางออกสืบสวนหรือติดต่อกับประชาชน


4.การประสานงานและการทำงานร่วมกับหน่วยงานภายนอก

โควิด 19 ถือเป็นสถานการณ์วิกฤติแบบหนึ่ง การแก้ไขปัญหาจำเป็นต้องการบริหารงานแบบพิเศษ จัดโครงสร้างองค์กรเฉพาะกิจ มีช่องทางการติดต่อสื่อสารและประสานงานระหว่างหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งหน่วยงานสาธารณสุข องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทหาร ตำรวจ ชุมชน ท้องถิ่น ซึ่งการปฏิบัติงานร่วมกันระหว่างองค์กรต่างๆ มีวัฒนธรรมองค์กรที่ต่างกัน

การติดต่อประสานงาน สามารถดำเนินการได้ในช่องทางที่เป็นทางการ และไม่เป็นทางการ

ปัจจัยแห่งความสำเร็จของการประสานงานและทำงานร่วมกัน คือ การสร้างความเชื่อมั่นและความไว้วางใจระหว่างหน่วยงาน เพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกัน

อุปสรรค์สำคัญของการทำงานร่วมกัน ซึ่งในต่างประเทศก็มีปัญหาเช่นกัน คือ หากมีประเด็นทางการเมืองเกี่ยวข้อง จะเป็นอุปสรรคสำคัญในการแก้ไขปัญหาเป็นอย่างยิ่ง

มีข้อเสนอแนะสำหรับการปฏิบัติงานตำรวจในช่วยสถานการณ์โควิด 19 จากผู้เขียนบทความเรื่องนี้ ได้แก่

1.ความสัมพันธ์ระหว่างตำรวจกับชุมชน

      ตำรวจจำเป็นต้องปรับตัวต่อความคาดหวังและความต้องการของประชาชนที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาในแต่ละช่วงของสถานการณ์โควิด 19 ปรับลักษณะการปฏิบัติงานก่อนและหลังมาตรการต่างๆ

      ออกแบบข้อความและกลยุทธ์การสื่อสารต่อสังคม โดยใช้การสื่อสารออนไลน์ที่มีประสิทธิภาพ ในการติดต่อกับประชาชน และให้ปฏิบัติตามข้อจำกัดด้านสาธารณสุข

      ให้ความรู้ ข้อมูลที่ถูกต้องแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อมิให้เกิดการเลือกปฏิบัติ หรือปฏิบัติไม่เหมาะสมต่อกลุ่มประชาชนในชุมชน

2.การสนับสนุนด้านสุขภาพ

      จัดการฝึกอบรมขั้นก่อนวิกฤติ เพื่อพัฒนาทักษะและสมรรถนะที่จำเป็นสำหรับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพจิต

      จัดให้มีช่องทางการรายงาน การสื่อสารระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้เผชิญเหตุ เพื่อร่วมงาน ผู้บังคับบัญชา เกี่ยวกับปัญหาสุขภาพของเจ้าหน้าที่ตำรวจ

      จัดให้มีการรักษา บริการให้คำปรึกษา

      จัดทรัพยากรให้เพียงพอแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจและครอบครัว ทั้งระหว่างและภายหลังสถานการณ์

    

    3.กลไกการปฏิบัติงาน

      ขอคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญและวางแผนสำหรับการระบาดในระยะต่อไป

      กำหนดระดับขั้นต่ำของเจ้าหน้าที่และสร้างกระบวนการปฏิบัติงานเพื่อปฏิบัติงาน

      มาตรการปฏิบัติงานจากบ้าน (Work From Home) สำหรับเจ้าหน้าที่กลุ่มเสี่ยง

----------------------------------------

ดัดแปลงจาก Policing in pandemics: A systematic review and best practices for police response to COVID-19 Julian Laufs and Zoha Waseem

ที่มา : https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC7439012/

คู่มือป้องกันอาชญากรรมข้ามชาติ : ฉบับประชาชน 

ที่มา : http://tcpguide.police.go.th/download

 

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เรียนรู้เรื่องราวตำรวจญี่ปุ่นกันครับ

การทำงานของตำรวจยุคดิจิทัล ด้วยเทคโนโลยียุคใหม่

ตำรวจเยอรมัน