กฎหมายตำรวจ: อดีตสู่ปัจจุบัน (ตอนที่ 1)

    วันที่ 17 ตุลาคม 2565 พระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 มีผลใช้บังคับ กฎหมายตำรวจฉบับนี้เกิดขึ้นภายใต้กระแสที่ต้องการให้มีการปฏิรูปตำรวจ 
    หากจะกล่าวว่าการปฏิรูปคือการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ในประวัติศาสตร์กิจการตำรวจก็มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง 
    หากจะกล่าวว่าการรักษาความสงบเรียบร้อยในสังคมคืองานหลักของตำรวจ งานของตำรวจก็เกิดขึ้นมาพร้อมๆ กับการเกิดขึ้นของสังคม 
    "ประชาชนคือตำรวจ ตำรวจคือประชาชน" เป็นคำกล่าวของเซอร์โรเบิรต์พีล เมื่อจัดตั้งกองกำลังตำรวจในรูปแบบสมัยใหม่ขึ้นเป็นครั้งแรกของตำรวจนครบาลลอนดอน แต่คำกล่าวดังกล่าวสื่อให้เห็นได้ถึงการรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม ตั้งแต่ยังไม่มีองค์กรตำรวจ
    สำหรับการรักษาความสงบเรียบร้อยในยุคดั้งเดิมของสังคมไทย ตั้งแต่สมัยสุโขทัย อยุธยา และรัตนโกสินทร์ ซึ่งยังไม่มีกองกำลังตำรวจมาทำหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยโดยเฉพาะ หน้าที่ดังกล่าวจึงอยู่กับเจ้าพนักงานภายใต้พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ เมื่อมีโจรผู้ร้ายก็จะทรงส่งราชองค์รักษ์ไปปราบปราม รวมทั้งมีผู้นำของชุมชนหรือท้องถิ่นที่จัดเวรยามออกตรวจตรารักษาความสงบเรียบร้อยในชุมชนท้องถิ่นของตนเอง ดังนั้น ประชาชนก็คือตำรวจ และตำรวจก็คือประชาชนนั่นเอง 
    การปฏิรูปตำรวจเกิดขึ้นในช่วงที่สภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป เมื่อมีการเติบโตของเศรษฐกิจและการค้าขาย รวมทั้งการเพิ่มขึ้นของแหล่งอบายมุขในเมือง ดังที่กรมพระนเรศวรฤทธิ์ ได้เสนอความเห็นในการปรับปรุงกิจการตำรวจในสมัยรัชกาลที่ 5 ดังนี้

... โดยเหตุเพราะโรงบ่อนเบี้ยมีมากตำบลนั้นอย่างหนึ่ง โรงขายสุรายาฝิ่นมากตำบลอย่างหนึ่ง โรงรับจำนำมีมากตำบลอย่างหนึ่ง รวมการ ๓ อย่างนี้ ชักนำให้คนกระทำความชั่วมาก เพราะถ้าเมาสุราเข้าแล้วก็พาให้วิวาท ถ้าสูบยาฝิ่นไม่พอและเล่นเบี้ยเสียลงก็พาให้เที่ยววิ่งราวและลอบย่องเบา และซ้ำไปจำหน่ายของที่โรงรับจำนำได้ง่ายโดยไม่ซ่อนเร้นดังนี้จึงกระทำให้มีคนชั่วเที่ยวกระทำร้ายเบาบาง...

    การปฏิรูปตำรวจเกิดขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ที่ทรงตั้งกองกำลังตำรวจในรูปแบบสมัยใหม่ตามแบบประเทศตะวันตก เป็นกองกำลังตำรวจอาชีพที่ได้รับเงินเดือน ทำงานเต็มเวลา และมีการจัดรูปแบบองค์กรกึ่งทหาร กล่าวคือ เป็นกองกำลังที่มีช่วงชั้นการบังคับบัญชา มีการกำหนดระดับตำแหน่ง หน้าที่อย่างชัดเจน โดยกองกำลังนี้ รับผิดชอบในการตรวจตรารักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ที่เป็นเขตสัมพันธวงศ์ในปัจจุบัน เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีปัญหาอาชญากรรม การกระทำผิดเพิ่มมากขึ้นดังกล่าวข้างต้น 

    การปฏิรูปตำรวจในสมัยรัชกาลที่ 5 ทรงปรับปรุงกิจการตำรวจทั้งในเขตพระนคร โดยปรับปรุง กรมกองตระเวน” ซึ่งมีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศรวรฤทธิ์ (พระองค์เจ้ากฤดาภินิหาร) ทรงดำเนินการ ในช่วงปี พ.ศ. 2433 และจัดตั้งกรมตำรวจภูธร ซึ่งมีกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงดำเนินการ รวมทั้งจัดตั้งโรงเรียนนายร้อยตำรวจภูธรขึ้นในปี พ.ศ.2444 

    แม้ว่าจะยังไม่มีกฎหมายตำรวจโดยเฉพาะ แต่การปรับปรุงกิจการตำรวจในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 ก็มีการจัดโครงสร้างองค์กร โดยกรมกองตระเวน ได้แบ่งส่วนราชการออกเป็น 2 ส่วน คือ กองไต่สวนโทษหลวง และ กองรักษา  มีการกำหนดตำแหน่งตำรวจตั้งแต่ตำแหน่ง จางวางหรืออธิบดี ส่วนผู้บังคับบัญชาของกองไต่สวนโทษหลวง และกองรักษา มีตำแหน่งเจ้ากรม เป็นหัวหน้า รวมทั้งตำแหน่งของตำรวจในระดับรองลงไป ได้แก่

    สารวัตรสอดแนม (Inspector of detective) 
    คนสอดแนม (Detectives) 
    อำเภอ 
    กำนัน
    สารวัตรใหญ่ 
    สารวัตรแขวง 
    นายหมวด (Station sergeant) 
    นายยาม (sergeants) 
    คนตระเวน (constable) 


    ในความเห็นการจัดกิจการกรมกองตระเวนดังกล่าว ได้กำหนดอำนาจหน้าที่ของตำแหน่งต่างๆ จัดตั้งโรงพัก จำนวนทั้งสิ้น 64 โรงพัก อัตราเงินเดือน การบริหารงานบุคคลต่างๆ  และแนวทางการปฏิบัติหน้าที่ของกรมกองตระเวน จึงอาจถือได้ว่าเป็นการวางระบบการบริหารงานบุคคลของตำรวจที่มีระบบชัดเจนเป็นครั้งแรก 

    การบริหารงานบุคคลของตำรวจในยุคเริ่มต้นนี้ เหตุการณ์บ้านเมืองอยู่ในช่วงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง รวมทั้งปัญหาภายนอกจากสงครามโลกครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 ในช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง เกิดการต่อสู้ของกลุ่มการเมืองต่างๆ องค์กรตำรวจจึงถูกนำไปเกี่ยวข้องกับปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง สำหรับการบริหารงานบุคคล ยังอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน โดยมีกฎลำดับรองคือพระราชกฤษฎีกาฉบับต่างๆ และพระราชบัญญัติอื่นๆ ที่กำหนดระบบการบริหารงานบุคคลของข้าราชการตำรวจ ได้แก่ 
        พร.กำหนดวิธีการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษในกรมตำรวจ พุทธศักราช 2477

        พร.กำหนดอัตราเงินเดือนข้าราชการตำรวจ และกำหนดคุณสมบัติ พื้นความรู้ วิธีคัดเลือก และวิธีสอบคัดเลือกเพื่อบรรจุและแต่งตั้งข้าราชการในกรมตำรวจ พุทธศักราช 2480, 2482 ฯลฯ

        พรบ.ว่าด้วยวินัยตำรวจ 2477

        พรบ.ยศตำรวจ 2480

        พรบ.เครื่องแบบตำรวจ 2477

    อย่างไรก็ตาม การบริหารงานบุคคลของข้าราชตำรวจมีความแตกต่างจากข้าราชการพลเรือน เนื่องจากเป็นข้าราชการตำรวจที่มียศแบบทหาร และจำเป็นต้องสร้างมาตรฐานวิชาชีพตำรวจ ดังนั้น จึงมีการออก พ.ร.บ.ข้าราชการตำรวจ 2521เพื่อแยกการบริหารงานบุคคลจากข้าราชการพลเรือน และเร่ิมมีคณะกรรมการบริหารงานบุคคล คือ คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) เป็นครั้งแรก 

    ต่อมาเมื่อสภาพเศรษฐกิจและสังคม เปลี่ยนแปลงไปตามกระแสโลาภิวัตน์ มีแนวคิดการบริหารจัดการภาครัฐแนวใหม่และการปฏิรูประบบราชการที่ต้องการปรับการบริหารระบบราชการแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์ เพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานและให้บริการประชาชน ส่งผลต่อการปรับปรุงการบริหารงานตำรวจเช่นกัน โดยผลออกมาเป็นการโอนกรมตำรวจ ในสังกัดกระทรวงมหาดไทย มาจัดตั้งเป็น "สำนักงานตำรวจแห่งชาติ" ขึ้นการบังคับบัญชาโดยตรงกับนายกรัฐมนตรี และออกพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 โดยการดำเนินการมุ่งหมายให้ 
    กระจายอำนาจการบริหร 
    ส่งเสริมการมีส่วนร่วมจากประชาชน 
    พัฒนางานอำนวยความยุติธรรม โดยปรับปรุงระบบตำแหน่งพนักงานสอบสวน และการจัดตั้งกองทุนเพื่อการสืบสวนและสอบสวนคดีอาญา 
    การออก พรบ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 เป็นการรวมกฎหมายตำรวจที่เดิมกระจัดกระจายกัน มารวมเป็นกฎหมายฉบับเดียวกัน 
   หลังจากเหตุวิกฤติความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงหลังปี พ.ศ. 2548 เป็นต้น องค์กรตำรวจถูกลากเข้าไปเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมือง ประกอบกับปัญหาการปฏิบัติหน้าที่ในการอำนวยความยุติธรรม การบังคับใช้กฎหมายและการบริการประชาชน ภายใต้สภาพความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม 
    รัฐธรรมนูญ 2560 จึงมีบทบัญญัติให้มีการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ รวมทั้งการปฎิรูปกระบวนการยุติธรรมและการปฏิรูปตำรวจ 
    พระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 ได้คลอดออกมาอย่างไร โปรดติดตามตอนต่อไป ครับ /

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เรียนรู้เรื่องราวตำรวจญี่ปุ่นกันครับ

การทำงานของตำรวจยุคดิจิทัล ด้วยเทคโนโลยียุคใหม่

ตำรวจเยอรมัน